backup og meta

คุณรู้จัก น้ำมูก ดีแค่ไหน มีอะไรที่เราควรรู้เกี่ยวกับน้ำมูกบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    คุณรู้จัก น้ำมูก ดีแค่ไหน มีอะไรที่เราควรรู้เกี่ยวกับน้ำมูกบ้าง

    ทุกครั้งที่อากาศเริ่มเย็น หรืออากาศเปลี่ยนแปลงนิดหน่อย หนึ่งในสัญญาณแรก ๆ เลย ที่จะแสดงอาการก็คือ อาการคัดจมูก และน้ำมูกไหล แล้วจึงตามมาด้วยอาการไข้หวัด แต่ทำไมแค่อากาศเย็นถึงทำให้น้ำมูกไหลได้ มีสาเหตุอื่นที่ทำให้ น้ำมูก ไหล ได้อีกหรือไม่ Hello คุณหมอ มีคำตอบมาให้แล้วค่ะ

    ทำไมคนเราถึงมี น้ำมูก (Snot or Nasal mucus)

    เมื่ออากาศเย็นเข้ามาเยือน ร่างกายของคนเราจะเสี่ยงต่อการเป็นหวัดมากขึ้น เพราะในช่วงที่อากาศเย็น จมูกและโพรงจมูกของคนเราจะมีความอ่อนไหวต่อเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส เมื่อเกิดการติดเชื้อ ร่างกายจะถูกกระตุ้นให้ปล่อยสารฮีสตามีน ซึ่งสารดังกล่าวจะทำให้เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ และผลิตน้ำมูกออกมา น้ำมูกที่ออกมาจำนวนมากนั้น จะทำให้เชื้อไวรัสและแบคทีเรียฝังตัวในเยื่อบุโพรงจมูกได้ยากขึ้น และการที่น้ำมูกไหลก็คือกระบวนการที่ร่างกายขับเอาแบคทีเรียและสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจากจมูกและโพรงจมูก อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่เพียงอากาศเย็น หรือไข้หวัดเท่านั้นที่ส่งผลให้น้ำมูกไหล อาการแพ้ หรือโรคภูมิแพ้ ทั้งแพ้ไรฝุ่น แพ้ละอองเกสรดอกไม้ หรืออาการแพ้อื่น ๆ แม้แต่การร้องไห้ ก็มีส่วนที่ทำให้น้ำมูกไหลออกมาด้วยเช่นกัน

    น้ำมูกสีนี้หมายถึงอะไร

    น้ำมูกในจมูกของเราที่ไหลออกมาให้รำคาญใจอยู่นั้น รู้หรือไม่ว่ามีสีที่แตกต่างกัน และสีที่แตกต่างกันของน้ำมูก ก็ยังสามารถที่จะบอกถึงอาการทางสุขภาพอื่น ๆ ได้ ดังนี้

    น้ำมูกมีสีแดง

    หากน้ำมูกมีสีแดง นั่นคือสัญญาณที่เตือนให้คุณทราบว่า ภายในจมูกของคุณนั้นมีอาการแห้ง ได้รับความระคายเคือง หรือเนื้อเยื่อในจมูกได้รับความเสียหาย และยังรวมถึงอาการแพ้ การติดเชื้อ หรือการบาดเจ็บจากการเสียดสีในรูจมูก เช่น การกระแทก การชน จนกระทั่งเลือดออกและปะปนมากับน้ำมูก

    น้ำมูกมีลักษณะใส หรือน้ำมูกใส

    น้ำมูกใส เป็นเรื่องปกติ เนื่องจากร่างกายของเรามีกระบวนการในการผลิตน้ำมูกทุกวัน วันละประมาณ 1ใน 4 แกลลอน โดยน้ำมูกดังกล่าวจะช่วยในการหล่อลื่นภายในโพรงจมูก ช่วยป้องกันเชื้อโรค และแบคทีเรียต่าง ๆ แต่ถ้าหากมีน้ำมูกใสไหลออกมามากจนเกินไป นั่นอาจเป็นสัญญาณว่า คุณกำลังจะเป็นหวัด หรือมีอาการแพ้

    น้ำมูกมีสีเหลือง

    หากน้ำมูกของคุณมีสีเหลือง นั่นเป็นสัญญาณว่าร่างกายกำลังต่อสู้กับเชื้อโรคหรือแบคทีเรียบางอย่างอยู่ เมื่อเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย เซลล์เม็ดเลือดขาวจะเข้าไปต่อสู้และทำลายเชื้อโรคเหล่านั้น หลังจากนั้นร่างกายจึงขับเอาสิ่งเหล่านั้นออกจากร่างกายผ่านทางน้ำมูก ทำให้น้ำมูกในช่วงนี้มีสีเหลือง

    น้ำมูกมีสีเขียว

    น้ำมูกสีเขียว เกิดจากการที่เซลล์เม็ดเลือดขาวเข้าไปต่อสู้กับเชื้อโรคและแบคทีเรียต่าง ๆ แล้วพ่ายแพ้ต่อเชื้อเหล่านั้นจนกระทั่งตาย ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ร่างกายของเราอาจเริ่มติดเชื้อบางอย่างเข้าให้แล้ว ให้ลองสังเกตดูว่าระยะเวลาที่มีน้ำมูกสีเขียวนั้นเป็นอยู่นานแค่ไหน หากนาน 2-3 สัปดาห์ หรือนานยิ่งกว่านั้น อาจถึงเวลาที่ควรไปพบกับคุณหมอ

    น้ำมูกมีสีน้ำตาล

    น้ำมูกที่มีสีน้ำตาล อาจมาจากการที่เลือดในเยื่อบุโพรงจมูกเกิดการแห้ง และผสมกับน้ำมูก จึงเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แต่น้ำมูกสีน้ำตาลอาจไม่ได้มาจากเลือดเพียงอย่างเดียว แต่อาจมาจากสิ่งสกปรก เช่น ฝุ่น ควันบุหรี่ หรือจากเครื่องเทศต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้น การมีน้ำมูกสีน้ำตาล ยังอาจเป็นสัญญาณของโรคหลอดลมอักเสบได้อีกด้วย

    น้ำมูกมีสีดำ

    สิ่งสกปรก ฝุ่นละออง ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรือควันบุหรี่  เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำมูกของคุณมีสีดำ และยังเป็นสัญญาณที่แสดงออกว่าร่างกายมีการติดเชื้อราอย่างรุนแรง หรือระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอาจถูกทำลาย หากมีน้ำมูกสีนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำ

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    โดยปกติแล้ว น้ำมูกจะมีอยู่แค่เพียงไม่กี่วัน หรือราว ๆ 10 วัน แต่ถ้าหากเกินกว่านั้นอาจจำเป็นที่ต้องไปพบคุณหมอ อย่างไรก็ตาม มีอยู่ด้วยกันหลากหลายวิธีที่จะช่วยให้น้ำมูกของคุณหยุดไหลได้เร็วขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวิธีง่าย ๆ ทำได้เองที่บ้าน เช่น

    • ดื่มน้ำมาก ๆ เพราะการดื่มน้ำจะช่วยเจือจางน้ำมูก และช่วยให้น้ำมูกถูกขับออกจากจมูกเร็วขึ้น
    • ดื่มชาร้อน หรือนมร้อน เครื่องดื่มอุ่นหรือร้อน ช่วยให้ร่างกายอบอุ่นได้
    • พักผ่อนให้เต็มที่ หากไม่สบายสิ่งสำคัญที่สุดคือการพักผ่อน
    • ทานยาลดน้ำมูก ควรเป็นยาที่ได้รับการสั่งจ่ายจากแพทย์หรือเภสัชกร

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา