backup og meta

ไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever)

ไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever)

โรคไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นกับผู้ที่กำลังมีภาวะคออักเสบ โรคไข้อีดำอีแดงนี้จะมีลักษณะเด่นคือ มีผื่นสีแดงสดเกิดขึ้นตามลำตัว

คำจำกัดความ

โรคไข้อีดำอีแดง คืออะไร

โรคไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นกับผู้ที่กำลังมีภาวะคออักเสบ โรคไข้อีดำอีแดงนี้จะมีลักษณะเด่นคือ มีผื่นสีแดงสดเกิดขึ้นตามลำตัว พร้อมกับอาการไข้สูง และเจ็บคอ โดยเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคไข้อีดำอีแดงนี้ จะเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดเดียวกัน กับที่ทำให้เกิดภาวะคออักเสบ

โรคไข้อีดำอีแดงนั้นจะพบได้มากในกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 5-15 ปี แม้ว่าโรคไข้อีดำอีแดงนี้อาจจะมีความอันตรายค่อนข้างสูง แต่ก็สามารถจัดการได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ และการรักษาอย่างเหมาะสม แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษา อาจส่งผลกระทบต่อหัวใจ ไต และอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายได้

โรคไข้อีดำอีแดง พบบ่อยแค่ไหน

โรคไข้อีดำอีแดงนี้มักจะพบได้บ่อยในเด็กที่มีอายุระหว่าง 5-15 ปี และจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีภาวะคออักเสบอยู่ก่อนแล้ว

อาการ

อาการของโรคไข้อีดำอีแดง

สัญญาณและอาการของโรคไข้อีดำอีแดง มีดังต่อไปนี้

  • ผื่นแดง ผู้ป่วยจะมีผื่นสีแดงขึ้นตามตัว เกือบทั่วทั้งร่างกาย ผื่นแดงนั้นจะมีลักษณะคล้ายกับอาการแดดเผา จะพบได้มากในบริเวณใบหน้า คอ และลามลงมายังลำตัว แขน หรือขา
  • รอยแดง นอกจากผื่นแดงแล้ว ยังอาจจะมีรอยเป็นเส้นสีแดง ขึ้นตามบริเวณข้อพับต่างๆ เช่น ขาหนีบ รักแร้ ข้อศอก หรือเข่า
  • หน้าแดง
  • ลิ้นจะเป็นสีแดงคล้ายสตอว์เบอร์รี เป็นตะปุ่มตะป่ำ และมักจะมีคราบสีขาวที่ลิ้น เนื่องจากภาวะคออักเสบที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว
  • เป็นไข้สูง 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  • มีอาการหนาวสั่น
  • เจ็บคอ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • คอบวม
  • กลืนลำบาก
  • ปวดหัว

สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หากมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากคุณมีสัญญาณหรืออาการที่ระบุข้างต้น หรือมีคำถามเกี่ยวกับอาการของโรคโปรดปรึกษาแพทย์

ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของโรคไข้อีดำอีแดง

โรคไข้อีดำอีแดงนั้น เกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus กลุ่มเอ หรือ เชื้อแบคทีเรีย Streptococcus pyogenes ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่สามารถพบได้ภายในปากและโพรงจมูกของคน และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะคออักเสบได้

เชื้อแบคทีเรียนี้สามารถติดต่อจากคนสู่คน ผ่านทางละอองฝอยหรือน้ำลาย เมื่อเราไอหรือจาม และจะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ประมาณ 2-4 วัน

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของโรคไข้อีดำอีแดง

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคไข้อีดำอีแดง มีดังต่อไปนี้

  • เป็นเด็กที่มีอายุ 5-15 ปี
  • เป็นผู้ที่มีภาวะคออักเสบ
  • หากคนรอบตัว กำลังเป็นโรคไข้อีดำอีแดง หรือมีภาวะคออักเสบ

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรคไข้อีดำอีแดง

แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคไข้อีดำอีแดงได้ ด้วยการตรวจร่างกายเพื่อหาสัญญาณและอาการของโรคไข้อีดำอีแดง โดยการตรวจดูลิ้น คอ และต่อมทอนซิล (Tonsil) นอกจากนี้ยังอาจจะต้องตรวจดูต่อมน้ำเหลืองที่มีอาการบวม และดูลักษณะของผื่นที่เกิดขึ้นอีกด้วย

หากแพทย์สงสัยว่าลูกของคุณอาจจะเป็นโรคไข้อีดำอีแดง แพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อที่คอไปตรวจเพาะเชื้อ และส่งเข้าห้องแล็บเพื่อตรวจดูว่าเป็นเชื้อโรคชนิดใด หากพบว่ามีเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus กลุ่มเอ อยู่ แพทย์ก็อาจจะสามารถตัดสินได้ว่าเป็นโรคไข้อีดำอีแดง

การรักษาไข้อีดำอีแดง

โรคไข้อีดำอีแดง สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อทำหน้าที่ช่วยระบบภูมิคุ้มกันในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรค อย่าลืมคอยดูแลให้ผู้ป่วยใช้ยาปฏิชีวนะจนครบชุดตามที่แพทย์กำหนด เพราะหากหยุดยาไปก่อนโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจทำให้เชื้อเกิดการดื้อยาได้ในภายหลัง

นอกจากนี้ แพทย์ก็อาจจะสั่งยาแก้ปวดธรรมดา เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อช่วยจัดการกับอาการไข้และอาการปวด แต่ไม่ควรใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดรายซินโดรม (Reye’s Syndrome) ได้

การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับไข้อีดำอีแดง

เราสามารถป้องกันโรคไข้อีดำอีแดงได้ ด้วยการปรับไลฟ์สไตล์ดังต่อไปนี้

  • ล้างมือบ่อยๆ การล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด จะช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อแบคทีเรียได้
  • ไม่แบ่งของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ของใช้ส่วนตัวต่างๆ เช่น แปรงสีฟัน ผ้าขนหนู แก้วน้ำ ควรใช้อยู่คนเดียว อย่าไปยืมหรือให้คนอื่นมาใช้ร่วมกัน
  • ปิดปากเวลาจามและไอ จะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปสู่ผู้อื่นได้
  • หากลูกของคุณเป็นไข้อีดำอีแดง ควรล้างทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ แก้วน้ำ จานชาม และของเล่นที่เด็กใช้ทั้งหมดให้สะอาดด้วย

หากมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Is Scarlet Fever? https://www.verywellhealth.com/scarlet-fever-overview-1958805

Scarlet fever http://cai.md.chula.ac.th/lesson/skin/pic/page9.htm

scarlet fever https://www.pidst.or.th/A765.html

Scarlet fever https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/scarlet-fever/symptoms-causes/syc-20377406

Scarlet Fever https://www.healthline.com/health/scarlet-fever

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/10/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

ข้อควรรู้เกี่ยวกับ วัคซีนโรตา ทางเลือกในการปกป้องลูกน้อย จากเชื้อไวรัสในของเล่น

ไข้นกแก้ว อาการป่วยคล้ายไข้หวัด แต่มีพาหะเป็นสัตว์ปีก


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 01/10/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา