ตรวจโควิด 19 ด้วยซีทีสแกน สามารถทำได้จริงเหรอ
เราได้มีการใช้ซีทีสแกนตรวจในบริเวณปอด เพื่อตรวจวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับปอด เช่น ปอดอักเสบ (pneumonia) มาเป็นเวลานาน และอาการที่พบได้มากที่สุด และมีอาการรุนแรงที่สุดของโรคโควิด-19 นั้นก็คืออาการปอดอักเสบ ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญจึงเชื่อว่า การใช้ซีทีสแกนในบริเวณหน้าอก เพื่อตรวจหาอาการปอดอักเสบ จะสามารถช่วยวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคโควิด-19 หรือไม่
มีงานวิจัยหลายชิ้นในประเทศจีน ได้สนับสนุนแนวคิดนี้เป็นอย่างมาก หนึ่งในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ที่วารสาร Radiology พบว่า สัดส่วนของผลบวกในการตรวจโรคโควิด-19 นั้นมากถึง 97–98% หรือพูดอีกอย่างก็คือ ผู้ป่วยโรคโควิด-19 นั้น มีเพียงแค่ 1-2% เท่านั้นที่จะมีผลซีทีสแกนเป็นปกติ
การตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธีการทำซีทีสแกนนั้น จะเหมาะสำหรับการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงระยะแรก โดยทำการซีทีสแกนตรวจสอบในบริเวณหน้าอก เพื่อตรวจหาความผิดปกติและอาการของโรคโควิด-19 เช่น อาการปวดอักเสบ โดยวิธีการนี้จะมีความแม่นยำมากกว่าการตรวจด้วยการเอกซเรย์ และมีความรวดเร็วกว่าการตรวจหาเชื้อไวรัสโดยการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อ และเมื่อรับรู้ผลได้เร็ว ก็จะยิ่งสามารถรับมือกับอาการ และควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
วิธีการนี้เป็นวิธีที่ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีนให้ความแนะนำ เนื่องจากความรวดเร็วในการตรวจรู้ผล และทำให้สามารถเพิ่มคุณภาพในการกักตัว และปรับเปลี่ยนมาตฐานด้านสุขภาพของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวิธีการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธีซีทีสแกนนั้น จะได้รับความนิยมจากผู้เชี่ยวชาญในประเทศจีน เนื่องจากความรวดเร็วในการรู้ผล แต่อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) และวิทยาลัยรังสีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (The American College of Radiology: ACR) ได้คัดค้านเรื่องการใช้ซีทีสแกนเพื่อตรวจหาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยบอกว่า วิธีการตรวจนี้จะมีอัตราในการตรวจผิดพลาดสูง และแทบจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการจัดการกับผู้ป่วยแต่ละราย
แม้ว่าจะมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการใช้ซีทีสแกนเพื่อตรวจหาโรคโควิด-19 นั้นมีผลเป็นอย่างดี แต่ก็ยังเป็นที่กังขากันในเรื่องของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ที่ยังมีความไม่ชัดเจน และอาจจะมีแนวโน้มเน้นไปทางผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอยู่แล้ว โดยไม่ได้ทำการสำรวจผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเบา หรือไม่มีอาการเลย