backup og meta

ทำความสะอาดพื้นที่ ที่มีผู้ป่วยโควิด-19 อย่างไร ให้ปลอดภัย ไร้กังวล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 31/05/2021

    ทำความสะอาดพื้นที่ ที่มีผู้ป่วยโควิด-19 อย่างไร ให้ปลอดภัย ไร้กังวล

    เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุ 2019 หรือโรคโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย เชื้อนี้แพร่กระจายจากคนสู่คนได้ผ่านทางสารคัดหลั่ง และการสัมผัสทางอ้อม เช่น ราวบันได ลูกบิดประตู ทั้งยังอยู่บนพื้นผิวของวัตถุได้นานหลายชั่วโมงด้วย หากมีคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัวติดเชื้อโควิด-19 เราต้องทำความสะอาดบ้าน หรือพื้นที่ที่ผู้ป่วยใช้งานเป็นประจำ เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ตามพื้นผิวต่าง ๆ แล้วการ ทำความสะอาดพื้นที่ ที่มีผู้ป่วยโควิด-19 ควรทำอย่างไร มาหาคำตอบจากบทความนี้ของ Hello คุณหมอ กันเลยค่ะ

    เมื่อพบผู้ติดเชื้อ ควรทำอย่างไร

    เชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่กระจายได้ง่าย และติดต่อกันได้ง่าย เมื่อพบว่ามีผู้ติดเชื้อในพื้นที่ใด ๆ ก็ตาม ควรมีการทำความสะอาดและปิดพื้นที่ โดยสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยมีคำแนะนำสำหรับการพบผู้ติดเชื้อ ดังนี้

    • ปิดบริเวณที่พบผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะในบริเวณที่ผู้ติดเชื้อมีการใช้งานเป็นประจำ โดยเปิดหน้าต่าง ประตู เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ก่อนการเริ่มทำความสะอาด
    • ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อไวรัส โดยการใช้น้ำยาต่างๆ ที่ได้มาตรฐานและลงมือโดยผู้เชี่ยวชาญ
    • ทำความสะอาดในทุกๆ พื้นที่ที่ผู้ป่วยใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ส่วนกลางหรือพื้นที่ส่วนตัว
    • ทำความสะอาดแบบปกติ เพื่อขจัดคราบสิ่งสกปรกก่อน เนื่องจากความสกปรกจะทำให้น้ำยาฆ่าเชื้อทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หลังจากทำความสะอาดแบบปกติแล้วจึงใช้น้ำยาสำหรับฆ่าเชื้อโดยเฉพาะ
    • ใช้น้ำร้อนและผงซักฟอกในการซักทำความสะอาดผ้า

    น้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้ ทำความสะอาดพื้นที่ ที่มีผู้ป่วยโควิด-19

    น้ำยาฟอกขาว (Sodium hypochlorite)

    • ที่ความเข้มข้น 0.05% ผสมน้ำยา 1 ส่วนในน้ำ 99 ส่วน ใช้สำหรับทำความสะอาดพื้นผิวทั่วไป
    • ที่ความเข้มข้น 0.5% ผสมน้ำยา 1 ส่วนในน้ำ 9 ส่วน ใช้สำหรับทำความสะอาดวพื้นผิวที่มีสารคัดหลั่ง อย่าง น้ำมูก น้ำลาย เช่น ห้องน้ำ โถส้วม โดยควรทิ้งไว้อย่างน้อย 15 นาที
    • ข้อเสียของน้ำยาฟอกขาว : มีกลิ่นฉุน กัดกร่อนโลหะ หากโดนผิวหนังจะมีอาการปวดแสบปวดร้อน

    แอลกอฮอล์

    • ที่ความเข้มข้น 70% ใช้สำหรับทำความสะอาดพื้นผิวโลหะ
    • ข้อเสียของแอลกอฮอล์ : ระคายเคืองผิวหนังได้ และทำให้โลหะเป็นสนิม

    ผงซักฟอก

    • ผสมกับน้ำร้อน 70 องศาเซลเซียส ใช้สำหรับทำความสะอาดผ้าต่างๆ ผ้าห่ม ผ้าม่าน เสื้อผ้า เครื่องนอน
    • ข้อเสียของผงซักฟอก : ระคายเคืองผิวหนัง

    เดทตอล (4.8% Chloroxylenol)

  • ที่ความเข้มข้น 2.5% ผสมน้ำยา 1 ส่วนในน้ำ 39 ส่วน ใช้สำหรับทำความสะอาดพื้นผิวทั่วไป ควรทิ้งไว้ 5 นาที
  • ที่ความเข้มข้น 5% ผสมน้ำยา 1 ส่วนกับแอลกอฮอล์เข้มข้น 70% 19 ส่วน ใช้สำหรับทำความสะอาดเครื่องมือ เครื่องใช้ในครัวเรือน ทิ้งไว้อย่างน้อย 5 นาที
  • ข้อเสียของเดทตอล : ระคายเคืองผิวหนัง และทำให้เกิดอาการแพ้ได้
  • ขั้นตอนการ ทำความสะอาดพื้นที่ ที่มีผู้ป่วยโควิด-19

    วัตถุที่ผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อมีการสัมผัสบ่อยๆ จะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค และสามารถแพร่เชื้อโรค ทำให้คนใกล้ชิดที่ต้องใช้พื้นที่หรือจับวัตถุต่างๆ นั้นติดเชื้อโรคตามไปด้วยได้ ดังนั้นเมื่อพบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จึงควรทำความสะอาดอยู่เป็นประจำ เพื่อกำจัดเชื้อโรคออกไป โดยควรทำความสะอาด ดังนี้

    • ทำความสะอาดสิ่งที่ต้องใช้ร่วมกัน เช่น ราวบันได ลูกบิดประตู สวิตไฟ
    • กวาดและเช็ดพื้นเป็นประจำ
    • ดูดฝุ่นบริเวณที่ใช้รวมกันและทางเดินที่ผู้ติดเชื้อใช้บ่อยๆ
    • ทำความสะอาดห้องน้ำ
    • ทำความสะอาดแอร์ เพราะแอร์เป็นสิ่งที่สามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปยังผู้อื่นได้
    • ทำความสะอาดและซักเครื่องนอนทั้งหมดที่ผู้ติดเชื้อใช้

    สิ่งที่ควรทำเพื่อป้องกันตนเองในขณะทำความสะอาด

    ผู้ที่ทำความสะอาดในพื้นที่ ที่มีผู้ติดเชื้อนั้น แม้จะมีโอกาสน้อยในการติดเชื้อ แต่ก็ควรมีการป้องกันตัวเองอยู่ อย่างเสมอ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม​ โดยควรปฏิบัติตัวดังนี้

    ใส่ถุงมือและชุดป้องกันการติดเชื้อทุกๆ ครั้งที่ต้องทำความสะอาด ไม่เว้นแม้กระทั่งตอนนำขยะไปทิ้ง นอกจากการใส่ชุดเพื่อป้องกันแล้ว หลังจากที่ทำความสะอาดเสร็จเรียบร้อย ควรทิ้งถุงมือให้ถูกต้องและค่อย ๆ ถอดอย่างระมัดระวัง ไม่ให้สัมผัสกับผิวหนังของเรา ที่สำคัญหลังจากถอดชุดป้องกันแล้วควรล้างมือและอาบน้ำชำระร่างกายโดยทันที

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 31/05/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา