ทั้งนี้ ฝุ่นพีเอ็ม (Particulate matter หรือ PM) โดยเฉพาะฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน และบางกว่าเส้นผมมนุษย์ถึง 30 เท่า ที่เกิดจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า ไอเสียจากท่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หรือจากการจราจรที่แน่นขนัด รวมทั้งการเผาในที่โล่ง และในที่ไม่โล่ง นับเป็นมลพิษที่มนุษย์สร้างขึ้นและเป็นปัญหาที่น่ากังวลมากที่สุดในขณะนี้
ความแตกต่างระหว่าง หมอก และ ฝุ่น พีเอ็ม
เมื่อฝุ่นพีเอ็มรวมตัวอยู่ในพื้นที่เดียวกับในปริมาณมาก กลุ่มฝุ่นจะจับตัวอยู่ในอากาศ ลอยไปมาและทำให้ท้องฟ้าดูมืดครื้ม คล้ายกับหมอกยามเช้า แต่แท้จริงแล้วมีสารมลพิษอื่น ๆ เกาะอยู่ด้วย
ตามปกติแล้ว หมอกที่เห็นในยามเช้ามักเป็นปรากฏการณ์ปกติที่พบได้ตามแหล่งธรรมชาติหรือในชนบท โดยความแตกต่างของหมอกและฝุ่นพีเอ็ม คือ หมอกเกิดจากการควบแน่นของไอน้ำในอากาศในระดับใกล้พื้นดิน ในขณะที่ ฝุ่นพีเอ็มเป็นมลภาวะที่เป็นพิษและก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หากสูดดมเข้าไป ฝุ่นจะเดินทางผ่านระบบทางเดินหายใจ ยึดเกาะถุงลมปอด ทั้งยังทะลุเข้าไปในกระแสเลือดได้ ส่งผลให้เกิดการอักเสบในระบบทางเดินหายใจและหลอดเลือดจนทำให้มีโรคต่าง ๆ ตามมา
อันตรายต่อสุขภาพที่เกิดจาก ฝุ่น
เมื่อหายใจรับฝุ่นและมลพิษทางอากาศเข้าสู่ร่างกายมักเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องสัมผัสกับฝุ่นและมลพิษทางอากาศติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปี อาจก่อให้เกิดโรคดังนี้
- โรคมะเร็งปอด (Lung Cancer) อนุภาคในมลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้ เพราะฝุ่นขนาดเล็กอาจกระตุ้นให้เซลล์ในปอดเกิดการกลายพันธุ์และนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็ง นอกจากนี้ ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สะสมอยู่ในน้ำเหลืองของปอดอาจส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- โรคหอบหืดกำเริบ (Asthma Attacks) ฝุ่นหรือควันที่สะสมอยู่ในเนื้อเยื่อปอดอาจทำลายอวัยวะให้เสียหาย และทำให้ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดและโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ มีอาการกำเริบบ่อยมากขึ้น
- โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง (Chronic Bronchitis) เป็นอาการบวมและอักเสบของหลอดลมที่ทำให้ปอดขับออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายได้ยากขึ้น มักมีสาเหตุจากการที่ร่างกายสัมผัสสารระคายเคืองต่อปอดเป็นเวลานาน เช่น ควันบุหรี่มือสอง มลพิษทางอากาศ ฝุ่น
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease หรือ COPD) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง มักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายเผชิญกับฝุ่นและมลพิษเป็นเวลาหลายปี และเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง
- โรคหัวใจ (Heart Disease) ฝุ่นขนาดเล็กที่เดินทางผ่านหลอดเลือดอาจทำให้เกิดการอักเสบและทำให้เสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหัวใจ และเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย