backup og meta

หายใจไม่เต็มปอด อาการ สาเหตุ และการรักษา

หายใจไม่เต็มปอด อาการ สาเหตุ และการรักษา

หายใจไม่เต็มปอด หมายถึง อาการหายใจลำบาก หายใจสั้น ๆ มีทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ ทั้งทางกายภาพและทางจิตใจ เช่น การสำลัก โรคปอด โรคหอบหืด หัวใจวาย ความวิตกกังวล อาการหายใจไม่เต็มปอดอาจทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จนทำให้รู้สึกอึดอัด หายใจไม่ออก และแน่นหน้าอก การรักษาอาการหายใจไม่เต็มปอดอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ การเรียนรู้เกี่ยวกับสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง อาจสามารถช่วยป้องกันอาการหายใจไม่เต็มปอดได้

[embed-health-tool-heart-rate]

คำจำกัดความ

หายใจไม่เต็มปอด คืออะไร

หายใจไม่เต็มปอด หายใจไม่อิ่ม หรือ หายใจไม่ทั่วท้อง หมายถึง อาการที่ไม่สามารถหายใจเข้าลึก ๆ ให้เต็มปอดได้ มีอาการหายใจสั้น หรือหายใจลำบาก จนทำให้รู้สึกอึดอัด หายใจไม่ออก สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง 

โดยปกติคนเราจะมีอัตราการหายใจขณะพัก (อัตราการหายใจขณะผ่อนคลาย สงบ แต่ยังรู้ตัว) ประมาณ 10-15 ครั้ง/นาที หากมีการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น เดิน วิ่ง อาจทำให้อัตราการหายใจเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ไม่ควรมีอาการหายใจไม่เต็มปอด อาการหายใจไม่เต็มปอดมักจะเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคหอบหืด อาการแพ้ ภาวะหัวใจวาย ความวิตกกังวล หากสังเกตพบอาการหายใจไม่เต็มปอด ควรพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด

อาการ

อาการหายใจไม่เต็มปอด

อาการที่พบได้ทั่วไปอาจมีดังต่อไปนี้

  • หายใจสั้น ๆ สูดหายใจเข้าลึก ๆ ไม่ได้ หายใจไม่ทั่วท้อง
  • หายใจลำบาก
  • เหนื่อยหอบ
  • แน่นหน้าอก อึดอัด

อาการหายใจไม่เต็มปอด หายใจไม่ทั่วท้อง อาจมีทั้งอาการที่เกิดขึ้นเฉียบพลันและอาการเรื้อรัง หากเป็นอาการเรื้อรัง อาการหายใจไม่เต็มปอดอาจเกิดขึ้นตลอด โดยเฉพาะเวลาเคลื่อนไหวร่างกายหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ และอาการอาจค่อย ๆ รุนแรงขึ้น

ส่วนอาการหายใจไม่เต็มปอดเฉียบพลัน มักเกิดขึ้นพร้อมกับอาการ ดังต่อไปนี้

  • ไอ
  • หายใจมีเสียงหวีด
  • มีไข้
  • คัน หรือบวม
  • แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก
  • มือเท้าเย็น เหงื่อออก
  • รู้สึกหน้ามืด

หากสังเกตพบอาการหายใจไม่เต็มปอด ควรรีบเข้าพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด จะได้รักษาอย่างทันท่วงที

สาเหตุ

สาเหตุของอาการหายใจไม่เต็มปอด

ปัจจัยที่อาจส่งผลให้หายใจไม่เต็มปอด เช่น

  • ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) เป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายมีต่อสารก่อภูมิแพ้บางชนิด เช่น ถั่ว ยาแอสไพริน ยาง และทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงจนอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต นอกเหนือจากอาการหายใจลำบากแล้ว ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลันยังอาจทำให้เกิดอาการอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หมดสติ มีผื่น คัน บวม โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ลิ้น และลำคอ 
  • โรคอ้วน หมายถึงผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) สูงกว่า 30 ขึ้นไป (ค่า BMI เกณฑ์ปกติคือ 18.5-24.9) การมีไขมันสะสมในปริมาณมาก โดยเฉพาะในบริเวณคอ หน้าอก และหน้าท้อง อาจส่งผลกระทบต่อการหายใจ ทำให้หายใจเข้าลึก ๆ ได้ยากขึ้น และทำให้เกิดอาการหายใจไม่เต็มปอดได้
  • โรคหอบหืด หมายถึงภาวะที่หลอดลมอักเสบและตีบแคบลง ทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก ไอ หายใจมีเสียงหวีด และเจ็บหน้าอก อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ เช่น การออกกำลังกาย สารเคมี ฝุ่นละออง โรคภูมิแพ้
  • ปัญหาเกี่ยวกับปอด เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary Embolism) อาจทำให้ปอดเสียหาย และส่งผลกระทบต่อการหายใจ ทำให้ไม่สามารถหายใจเข้าลึก ๆ ได้
  • ภาวะหัวใจวาย เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจถูกปิดกั้น ซึ่งอาจเกิดจากลิ่มเลือด หรือการสะสมของไขมันและคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด ทำให้หัวใจได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ และส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น เจ็บหน้าอก คลื่นไส้ เหงื่อออก หายใจไม่เต็มปอด วิงเวียน หมดสติ
  • ภาวะคาร์บอนมอนอกไซด์เป็นพิษ (Carbon Monoxide Poisoning) หมายถึงภาวะที่ร่างกายสูดดมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์มากเกินไป ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาแก๊สรั่ว การเผาไฟในพื้นที่ปิด การนอนหลับในรถที่จอดแต่ติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จะเข้าสู่กระแสเลือดและจับตัวกับฮีโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดง ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะในร่างกายได้อย่างเพียงพอ และทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด อ่อนเพลีย หายใจไม่ออก หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เสียชีวิตได้
  • ความวิตกกังวล หมายถึงการมีความรู้สึกหวาดกลัว กังวลใจ อึดอัด ต่อสถานการณ์บางอย่าง เช่น การเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว การพูดในที่สาธารณะ อาจทำให้เกิดอาการร้อนรน ตื่นเต้น อยู่ไม่สุข หัวใจเต้นเร็ว และหายใจลำบาก
  • โรคโควิด-19 (Covid-19) เป็นการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ หายใจลำบาก ร่วมกับอาการไข้สูง หนาวสั่น สูญเสียการรับกลิ่นและรับรส ปวดหัว คลื่นไส้ และท้องเสีย นอกจากนี้ อาการหายใจไม่เต็มปอดยังอาจเป็นหนึ่งในอาการที่เกิดขึ้นหลังจากการเป็นโรคโควิด-19 เรียกว่า กลุ่มอาการลองโควิด (Long Covid) อีกด้วย
  • การสำลัก เศษอาหาร หรือสิ่งของที่เข้าไปติดในหลอดลม อาจทำให้อากาศไหลผ่านหลอดลมเข้าสู่ปอดได้น้อยลง ทำให้มีอาการหายใจไม่เต็มปอด

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของอาการหายใจไม่เต็มปอด

ปัจจัยดังต่อไปนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดอาการหายใจไม่เต็มปอดได้

  • โรคประจำตัว โรคบางอย่าง เช่น โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการ หายใจไม่ทั่วท้อง
  • ความเครียด การมีความเครียดสะสมอาจทำให้รู้สึกวิตกกังวล ซึ่งอาจนำไปสู่อาการหายใจไม่เต็มปอดได้
  • น้ำหนักตัว ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการหายใจไม่เต็มปอดมากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตามเกณฑ์
  • อายุ ผู้สูงอายุอาจมีปัญหาเกี่ยวกับช่องปากจนอาจเคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียด และทำให้เสี่ยงสำลัก ซึ่งนำไปสู่อาการหายใจไม่เต็มปอดได้

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยอาการหายใจไม่เต็มปอด

คุณหมอสามารถวินิจฉัยอาการหายใจไม่เต็มปอดได้ด้วยการซักประวัติ และสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับอาการหายใจไม่เต็มปอดว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ มีอาการมานานแค่ไหน อาการรุนแรงแค่ไหน และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ จากนั้นคุณหมออาจตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของอาการหายใจไม่เต็มปอด ดังนี้

  • การวัดออกซิเจนในเลือด (Pulse oximetry) โดยใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วหรือติ่งหู เพื่อตรวจดูค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนของฮีโมโกลบินภายในเลือด
  • การตรวจสมรรถภาพปอด ด้วยเครื่องสไปโรเมตรีย์หรือเครื่องสไปโรมิเตอร์ (Spirometry) เพื่อวัดปริมาณและอัตราการหายใจเข้าออก ซึ่งสามารถบ่งบอกได้ว่าเป็นโรคหอบหืดหรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหรือไม่
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram หรือ EKG) เพื่อวัดอัตราการเต้นของหัวใจ สามารถบ่งบอกได้ว่ากำลังมีอาการหัวใจวายหรือไม่
  • การตรวจเลือด เพื่อวัดปริมาณของเซลล์เม็ดเลือดแดงภายในเลือด และดูว่ามีภาวะโลหิตจางหรือไม่
  • การตรวจซีทีสแกน (CT Scan) เพื่อฉายภาพภายในปอด สามารถตรวจดูความผิดปกติของปอด และดูได้ว่ามีลิ่มเลือดหรือไม่

การรักษาอาการหายใจไม่เต็มปอด

การรักษาอาการหายใจไม่เต็มปอด อาจมุ่งเน้นไปที่การรักษาสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการ ดังนี้

  • ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน ให้ยาอะดรีนาลีน (Adrenaline) หรือเอพิเนฟริน (Epinephrine) เพื่อบรรเทาอาการแพ้เฉียบพลัน จากนั้นอาจต้องให้ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines) และยาคอร์ติโซน (Cortisone) เพื่อช่วยบรรเทาอาการอักเสบ และทำให้หายใจสะดวกขึ้น
  • โรคอ้วน ในระดับแรกอาจให้ผู้ป่วยลองปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร ลดปริมาณแคลอรี่ ลดของหวาน และเพิ่มปริมาณผักและผลไม้ รวมถึงการออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อช่วยลดน้ำหนักให้ลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ นอกจากนี้ คุณหมออาจให้ใช้ยา เช่น ลิรากลูไทด์ (Liraglutide) ออริสแตท (Orlistat) ควบคู่ไปด้วยเพื่อช่วยลดน้ำหนัก
  • โรคหอบหืด ใช้ยาพ่น เช่น ยาขยายหลอดลมแบบออกฤทธิ์เร็ว เพื่อช่วยบรรเทาอาการหอบหืดกำเริบ จากนั้นอาจต้องใช้ยาอื่น เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์แบบพ่น (Inhaled corticosteroids) เพื่อช่วยควบคุมอาการหอบหืดในระยะยาว
  • ปัญหาเกี่ยวกับปอด สำหรับโรคปอดอุดกั้นอาจใช้ยาขยายหลอดลม เพื่อช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น ยาสเตียรอยด์เพื่อช่วยลดการอักเสบของหลอดลม และยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการติดเชื้อที่อาจเป็นสาเหตุของหลอดลมอักเสบ สำหรับโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดอาจใช้ยาละลายลิ่มเลือด เพื่อช่วยสลายลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือด
  • ภาวะหัวใจวาย คุณหมออาจให้ยาแอสไพริน ยาละลายลิ่มเลือด รวมถึงยาต้านเกล็ดเลือดเพื่อช่วยให้เลือดสามารถไหลเวียนได้ดีขึ้น นอกจากนี้ คุณหมออาจให้ใช้ยาเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blockers) เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อหัวใจ ยาในกลุ่ม ACE inhibitors เพื่อลดความดันโลหิต และยาแก้ปวด เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บหน้าอกด้วย
  • ภาวะคาร์บอนมอนอกไซด์เป็นพิษ (Carbon Monoxide Poisoning) คุณหมอจะให้ผู้ป่วยสูดดมออกซิเจน 100% เพื่อช่วยลดปริมาณของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในเลือด
  • ความวิตกกังวล สำหรับความวิตกกังวลทั่วไปอาจมุ่งเน้นไปที่การผ่อนคลายอารมณ์ สงบสติอารมณ์ หากเป็นโรควิตกกังวล คุณหมออาจให้เข้ารับการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy หรือ CBT) ร่วมกับการใช้ยาระงับอาการวิตกกังวล 
  • โรคโควิด-19 (Covid-19) สำหรับผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง อาจมุ่งเน้นไปที่การบรรเทาอาการด้วยยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ เป็นต้น แต่หากมีอาการรุนแรงกว่านั้น คุณหมออาจใช้ยาต้านไวรัส เช่น ฟาวิพิราเวียร์  (Favipiravir) เพื่อช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อไวรัส ร่วมกับยาอื่น ๆ เช่น คลอโรควิน (Chloroquine) โลปินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ (Lopinavir/Ritonavir)
  • การสำลัก มุ่งเน้นไปที่การปฐมพยาบาลสำหรับการสำลัก เพื่อเอาสิ่งแปลกปลอมที่ติดอยู่ในหลอดลมออก

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการหายใจไม่เต็มปอด

วิธีดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการหายใจไม่เต็มปอด หายใจไม่ทั่วท้อง

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยเพิ่มสมรรถภาพการทำงานของปอด ทำให้หายใจได้ดีขึ้น ช่วยควบคุมน้ำหนัก อีกทั้งยังเป็นการผ่อนคลายความเครียดด้วย
  • เลิกสูบบุหรี่ และควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับบริเวณที่มีคนสูบบุหรี่ เพื่อหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง
  • พยายามหลีกเลี่ยงควันพิษ เช่น ควันรถยนต์ ควันจากโรงงาน 
  • เลือกรับประทานอาหารที่ดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ควบคุมปริมาณแคลอรี่ที่บริโภค เพื่อช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรง และช่วยควบคุมน้ำหนัก
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Shortness of breath. https://www.mayoclinic.org/symptoms/shortness-of-breath/basics/causes/sym-20050890 . Accessed November 28, 2021.

Dyspnea (Shortness of Breath). https://www.webmd.com/lung/shortness-breath-dyspnea#1 . Accessed November 28, 2021.

Normal breathing. https://www.respelearning.scot/topic-1-anatomy-and-physiology/normal-breathing . Accessed November 28, 2021.

Symptoms of COVID-19. https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/symptoms-testing/symptoms.html . Accessed November 28, 2021.

Anaphylaxis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/anaphylaxis/symptoms-causes/syc-20351468 . Accessed November 28, 2021.

Obesity. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/obesity/diagnosis-treatment/drc-20375749 . Accessed November 28, 2021.

Obesity Hypoventilation Syndrome.  Accessed November 28, 2021. https://www.nhlbi.nih.gov/health-topics/obesity-hypoventilation-syndrome . Accessed November 28, 2021.

Long-term effects of coronavirus (long COVID) . https://www.nhs.uk/conditions/coronavirus-covid-19/long-term-effects-of-coronavirus-long-covid/ . Accessed November 28, 2021.

Anxiety. https://medlineplus.gov/anxiety.html . Accessed November 28, 2021.

Asthma. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/asthma/symptoms-causes/syc-20369653 . Accessed November 28, 2021.

Heart attack. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/heart-attack/symptoms-causes/syc-20373106 . Accessed November 28, 2021.

Carbon monoxide poisoning. https://www.nhs.uk/conditions/carbon-monoxide-poisoning/ . Accessed November 28, 2021.

Treatment Guidelines for COVID-19. https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/eng/file/guidelines/g_treatment.pdf . Accessed November 28, 2021.

Treatment Guidelines for COVID-19. https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/eng/file/guidelines/g_treatment.pdf . Accessed November 28, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/09/2023

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

5 โรคที่มากับหน้าฝน วิธีรักษาและการป้องกัน

น้ำมูกไหลเป็นน้ำใสๆ ไม่หยุด ทำอย่างไรจึงจะหาย


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 24/09/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา