ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของอาการหายใจไม่เต็มปอด
ปัจจัยดังต่อไปนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดอาการหายใจไม่เต็มปอดได้
- โรคประจำตัว โรคบางอย่าง เช่น โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการหายใจไม่เต็มปอด
- ความเครียด การมีความเครียดสะสมอาจทำให้รู้สึกวิตกกังวล ซึ่งอาจนำไปสู่อาการหายใจไม่เต็มปอดได้
- น้ำหนักตัว ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการหายใจไม่เต็มปอดมากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตามเกณฑ์
- อายุ ผู้สูงอายุอาจมีปัญหาเกี่ยวกับช่องปากจนอาจเคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียด และทำให้เสี่ยงสำลัก ซึ่งนำไปสู่อาการหายใจไม่เต็มปอดได้
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยอาการหายใจไม่เต็มปอด
คุณหมอสามารถวินิจฉัยอาการหายใจไม่เต็มปอดได้ด้วยการซักประวัติ และสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับอาการหายใจไม่เต็มปอดว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ มีอาการมานานแค่ไหน อาการรุนแรงแค่ไหน และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ จากนั้นคุณหมออาจตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของอาการหายใจไม่เต็มปอด ดังนี้
- การวัดออกซิเจนในเลือด (Pulse oximetry) โดยใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วหรือติ่งหู เพื่อตรวจดูค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนของฮีโมโกลบินภายในเลือด
- การตรวจสมรรถภาพปอด ด้วยเครื่องสไปโรเมตรีย์หรือเครื่องสไปโรมิเตอร์ (Spirometry) เพื่อวัดปริมาณและอัตราการหายใจเข้า–ออก ซึ่งสามารถบ่งบอกได้ว่าเป็นโรคหอบหืดหรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหรือไม่
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram หรือ EKG) เพื่อวัดอัตราการเต้นของหัวใจ สามารถบ่งบอกได้ว่ากำลังมีอาการหัวใจวายหรือไม่
- การตรวจเลือด เพื่อวัดปริมาณของเซลล์เม็ดเลือดแดงภายในเลือด และดูว่ามีภาวะโลหิตจางหรือไม่
- การตรวจซีทีสแกน (CT Scan) เพื่อฉายภาพภายในปอด สามารถตรวจดูความผิดปกติของปอด และดูได้ว่ามีลิ่มเลือดหรือไม่
การรักษาอาการหายใจไม่เต็มปอด
การรักษาอาการหายใจไม่เต็มปอด อาจมุ่งเน้นไปที่การรักษาสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการ ดังนี้
- ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน ให้ยาอะดรีนาลีน (Adrenaline) หรือเอพิเนฟริน (Epinephrine) เพื่อบรรเทาอาการแพ้เฉียบพลัน จากนั้นอาจต้องให้ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines) และยาคอร์ติโซน (Cortisone) เพื่อช่วยบรรเทาอาการอักเสบ และทำให้หายใจสะดวกขึ้น
- โรคอ้วน ในระดับแรกอาจให้ผู้ป่วยลองปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร ลดปริมาณแคลอรี่ ลดของหวาน และเพิ่มปริมาณผักและผลไม้ รวมถึงการออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อช่วยลดน้ำหนักให้ลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ นอกจากนี้ คุณหมออาจให้ใช้ยา เช่น ลิรากลูไทด์ (Liraglutide) ออริสแตท (Orlistat) ควบคู่ไปด้วยเพื่อช่วยลดน้ำหนัก
- โรคหอบหืด ใช้ยาพ่น เช่น ยาขยายหลอดลมแบบออกฤทธิ์เร็ว เพื่อช่วยบรรเทาอาการหอบหืดกำเริบ จากนั้นอาจต้องใช้ยาอื่น เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์แบบพ่น (Inhaled corticosteroids) เพื่อช่วยควบคุมอาการหอบหืดในระยะยาว
- ปัญหาเกี่ยวกับปอด สำหรับโรคปอดอุดกั้นอาจใช้ยาขยายหลอดลม เพื่อช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น ยาสเตียรอยด์เพื่อช่วยลดการอักเสบของหลอดลม และยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการติดเชื้อที่อาจเป็นสาเหตุของหลอดลมอักเสบ สำหรับโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดอาจใช้ยาละลายลิ่มเลือด เพื่อช่วยสลายลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือด
- ภาวะหัวใจวาย คุณหมออาจให้ยาแอสไพริน ยาละลายลิ่มเลือด รวมถึงยาต้านเกล็ดเลือดเพื่อช่วยให้เลือดสามารถไหลเวียนได้ดีขึ้น นอกจากนี้ คุณหมออาจให้ใช้ยาเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta blockers) เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อหัวใจ ยาในกลุ่ม ACE inhibitors เพื่อลดความดันโลหิต และยาแก้ปวด เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บหน้าอกด้วย
- ภาวะคาร์บอนมอนอกไซด์เป็นพิษ (Carbon Monoxide Poisoning) คุณหมอจะให้ผู้ป่วยสูดดมออกซิเจน 100% เพื่อช่วยลดปริมาณของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในเลือด
- ความวิตกกังวล สำหรับความวิตกกังวลทั่วไปอาจมุ่งเน้นไปที่การผ่อนคลายอารมณ์ สงบสติอารมณ์ หากเป็นโรควิตกกังวล คุณหมออาจให้เข้ารับการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy หรือ CBT) ร่วมกับการใช้ยาระงับอาการวิตกกังวล
- โรคโควิด-19 (Covid-19) สำหรับผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง อาจมุ่งเน้นไปที่การบรรเทาอาการด้วยยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ เป็นต้น แต่หากมีอาการรุนแรงกว่านั้น คุณหมออาจใช้ยาต้านไวรัส เช่น ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เพื่อช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อไวรัส ร่วมกับยาอื่น ๆ เช่น คลอโรควิน (Chloroquine) โลปินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ (Lopinavir/Ritonavir)
- การสำลัก มุ่งเน้นไปที่การปฐมพยาบาลสำหรับการสำลัก เพื่อเอาสิ่งแปลกปลอมที่ติดอยู่ในหลอดลมออก
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการหายใจไม่เต็มปอด
วิธีดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการหายใจไม่เต็มปอดได้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยเพิ่มสมรรถภาพการทำงานของปอด ทำให้หายใจได้ดีขึ้น ช่วยควบคุมน้ำหนัก อีกทั้งยังเป็นการผ่อนคลายความเครียดด้วย
- เลิกสูบบุหรี่ และควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับบริเวณที่มีคนสูบบุหรี่ เพื่อหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง
- พยายามหลีกเลี่ยงควันพิษ เช่น ควันรถยนต์ ควันจากโรงงาน
- เลือกรับประทานอาหารที่ดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ควบคุมปริมาณแคลอรี่ที่บริโภค เพื่อช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรง และช่วยควบคุมน้ำหนัก
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย