backup og meta

ถุงลมโป่งพอง โรคอันตรายในระบบทางเดินหายใจ ที่แม้ไม่สูบบุหรี่ก็มีโอกาสเป็นได้

ถุงลมโป่งพอง โรคอันตรายในระบบทางเดินหายใจ ที่แม้ไม่สูบบุหรี่ก็มีโอกาสเป็นได้

ถุงลมโป่งพอง เป็นอาการทางสุขภาพที่เกิดจากสาเหตุหลักอย่างการสูบบุหรี่ ดังที่เรามักจะเห็นจากการรณรงค์ผ่านสื่อสาธารณะ วิดิโอ ภาพ หนังสือ หรือคู่มือสุขภาพต่าง ๆ ว่าให้เลิกสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่เสี่ยงเป็นถุงลมโป่งพอง แต่รู้หรือไม่ว่า โรคถุงลมโป่งพอง ไม่ต้องสูบบุหรี่ก็มีโอกาสเสี่ยงได้เหมือนกัน แต่อะไรบ้างที่ทำให้เราเสี่ยงเป็นถุงลมโป่งพอง Hello คุณหมอ มีคำตอบมาฝากทุกท่านในบทความนี้ค่ะ

ถุงลมโป่งพอง คืออะไร

ถุงลมโป่งพอง หรือ โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema) เป็นหนึ่งในภาวะสุขภาพของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผู้ที่มีอาการของโรคถุงลมโป่งพองจะหายใจถี่และสั้น เนื่องมาจากถุงลมและผนังถุงลมถูกทำลายจนเสื่อมสภาพ จึงเกิดการอุดกั้นอากาศ อากาศเก่าก็จะถูกกักเก็บเอาไว้ในถุงลมจนไม่เหลือพื้นที่ให้กับออกซิเจนใหม่ที่เข้ามา เวลาที่หายใจออกจึงมีอากาศตกค้างอยู่ภายในถุงลม เมื่อจะหายใจเข้าก็จะหายใจได้ไม่เต็มที่เนื่องจากอากาศที่ตกค้างอยู่ภายในถุงลมมีมากเกินไป จนไม่สามารถกักเก็บเอาอากาศใหม่เข้าไปได้ ทำให้เวลาหายใจจะรู้สึกเหนื่อยหอบ หายใจถี่สั้น และมีอาการไอร่วมด้วย

สาเหตุของ ถุงลมโป่งพอง

โรคถุงลมโป่งพอง เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

การสูบบุหรี่

แม้ว่าโดยทั่วไป โรคถุงลมโป่งพอง มักจะมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ หรือสูบบุหรี่ติดต่อกันเป็นเวลานาน แต่แพทย์ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเหตุใดการสูบบุหรี่จึงทำให้เป็นโรคถุงลมโป่งพอง แต่เป็นไปได้ว่าสารเคมีและสารพิษในบุหรี่มีส่วนในการทำลายปอด ผนังปอด ถุงลม รวมถึงผนังของถุงลมด้วย อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่เป็นที่ชัดเจนในแง่ที่ว่าบุหรี่ทำให้เป็นถุงลมโป่งพองได้อย่างไร แต่ผลการวิจัยและผลการศึกษาจากหลายสถาบันพบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นถุงลมโป่งพองมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ สูงถึง 6 เท่าเลยทีเดียว

ภาวะขาดแคลนAAT

เอเอที (AAT) หรือ Alpha-1 antitrypsin เป็นโปรตีนธรรมชาติที่อยู่ในเลือดของเรา ทำหน้าที่สำคัญในการดูแลไม่ให้เซลล์เม็ดเลือดขาวถูกทำลาย เนื่องจากร่างกายจำเป็นจะต้องใช้เซลล์เม็ดเลือดขาวเพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อ หากร่างกายมี AAT ไม่เพียงพอ จะทำให้เกิดผลเสียต่อตับและปอด และถ้ายิ่งสูบบุหรี่ด้วยล่ะก็ จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคถุงลมโป่งพองมากขึ้นไปอีก โดยภาวะการขาดแคลนAATนี้ มักจะเป็นแต่กำเนิด เนื่องจากความผิดปกติทางพันธุกรรม เมื่อพ่อแม่เป็น ลูกก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดภาวะนี้

และ โรคถุงลมโป่งพอง ยังอาจเกิดจาก

  • มลภาวะในอากาศ
  • ควันบุหรี่
  • ควันกัญชา
  • ควันสารเคมี
  • ฝุ่น

ไม่สูบบุหรี่แต่เป็นถุงลมโป่งพอง

หลายคนอาจจะรู้สึกโล่งใจว่าตนเองไม่เคยสูบบุหรี่เลย ดังนั้นจึงปลอดภัยจากการเป็น โรคถุงลมโป่งพอง แน่นอน ซึ่งไม่ถูกต้องนัก แม้ว่าจะเป็นความจริงที่การสูบบุหรี่ทำให้มีแนวโน้มเป็นถุงลมโป่งพองสูงกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 6 เท่า แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่จะไม่เสี่ยงต่อโรคถุงลมโป่งพองเลย เพราะต่อให้คุณไม่สูบบุหรี่เอง แต่การสูดดมควันบุหรี่เข้าไปบ่อย ๆ โดยที่อาจจะมาจากคนในครอบครัว เพื่อน หรือแฟนที่ชอบมานั่งสูบบุหรี่ใกล้ ๆ คุณก็เสี่ยงที่จะได้รับสารพิษจากควันบุหรี่ไม่ต่างไปจากผู้ที่สูบบุหรี่เลย

มลภาวะทางอากาศทั้งฝุ่น ควัน หรือละอองสารเคมีต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ทำงาน ก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดถุงลมโป่งพอง เพราะหากมลภาวะที่เป็นพิษเข้าไปในปอดมาก ๆ ก็จะค่อย ๆ ทำลายปอดและถุงลมจนเสื่อมสภาพ นอกจากนี้โรคทางพันธุกรรมอย่างภาวะขาดแคลน AAT ก็เสี่ยงที่จะทำให้เป็นโรคถุงลมโป่งพองด้วยเช่นกัน

ดังนั้นแล้ว ต่อให้คุณไม่สูบบุหรี่หรือชีวิตนี้ไม่คิดจะสูบบุหรี่เลย ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่เสี่ยงต่อการเป็นถุงลมโป่งพองแต่อย่างใด

อาการของ ถุงลมโป่งพอง

โรคถุงลมโป่งพอง เป็นโรคที่ไม่ได้แสดงอาการในทันที ดังนั้นในระยะแรกผู้ป่วยอาจจะไม่รู้ตัวเองเสียด้วยซ้ำว่ากำลังเป็นโรคถุงลมโป่งพอง เนื่องจากพัฒนาการของโรคจะเป็นไปอย่างช้า ๆ ค่อย ๆ ทำลายสุขภาพของปอดไปเรื่อย ๆ เมื่ออายุมากขึ้น ปอดก็จะทำงานหนักขึ้นและเริ่มเสื่อมสภาพลง ทำให้อาการของโรคเริ่มแสดงออกมาในลักษณะที่มีความรุนแรง อย่างไรก็ตาม อาการโดยทั่วไปในเบื้องต้นของโรคถุงลมโป่งพองที่สามารถสังเกตได้ มีดังนี้

  • หายใจถี่และสั้น
  • หายใจแล้วมีเสียงหวีด
  • มีอาการไอเรื้อรัง
  • แน่นหน้าอกหรือเจ็บหน้าอก

หากมีอาการดังที่กล่าวไปข้างต้น ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือกิจกรรมที่จะทำให้หายใจไม่ออก และถ้าหากมีอาการดังต่อไปนี้ติดต่อกันหลายเดือนแล้ว ควรไปพบกับคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอาการ

  • หายใจไม่ออก จนไม่สามารถเดินขึ้นบันไดได้
  • ริมฝีปากหรือเล็บเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินหรือสีเทาเมื่อมีการออกแรงทำกิจกรรมหรือออกกำลังกาย
  • ไม่ค่อยตื่นตัว เอื่อยเฉื่อย เหนื่อยง่าย
  • ไอต่อเนื่อง บรรเทาอาการอย่างไรก็ไม่หายไอสักที

การรักษาถุงลมโป่งพอง

โรคถุงลมโป่งพอง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่กระบวนการรักษาทางการแพทย์สามารถช่วยบรรเทาอาการและชะลออาการไม่ให้ลุกลามจนถึงขั้นที่เป็นอันตรายรุนแรงได้ โดยแพทย์อาจใช้วิธีการรักษาดังต่อไปนี้

รักษาโดยการใช้ยา

การใช้ยาเพื่อรักษาอาการของ โรคถุงลมโป่งพอง จำเป็นต้องให้ยาตามอาการ โดยแพทย์อาจสั่งยาดังต่อไปนี้

  • ยาขยายหลอดลม (Bronchodilators) ยานี้จะคลายทางเดินหายใจที่มีอาการตีบตัน เพื่อบรรเทาอาการไอ ลดอาการหายใจถี่ สั้น และปัญหาที่เกี่ยวกับการหายใจ
  • ยาสเตียรอยด์ชนิดสูดดม (Inhaled steroids) หรือยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เป็นยาสำหรับสูดดม เพื่อลดการอักเสบและบรรเทาอาการหายใจถี่
  • ยาปฏิชีวนะ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะหากคุณมีอาการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน หรือปอดบวม

รักษาโดยการบำบัด

  • การฟื้นฟูสมรรถภาพปอด (Pulmonary rehabilitation) เป็นรูปแบบการบำบัดที่สอนเทคนิคการหายใจเพื่อช่วยลดอาการหายใจไม่ออก และแนะนำกิจกรรมการออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถออกออกกำลังกายได้ดีขึ้น
  • โภชนบำบัด (Nutrition therapy) ผู้เชี่ยวชาญจะแนะนำการรับประทานอาหารให้กับผู้ป่วยถุงลมโป่งพอง เนื่องจากอาการของ โรคถุงลมโป่งพอง จะมีระยะที่แตกต่างกัน ในระยะแรกผู้ป่วยบางคนจำเป็นจะต้องลดน้ำหนัก แต่ถ้าเป็นถุงลมโป่งพองระยะสุดท้ายหรือระยะที่มีอาการรุนแรง ผู้ป่วยบางคนจำเป็นจะต้องเพิ่มน้ำหนัก
  • การบำบัดออกซิเจน (Supplemental oxygen) เนื่องจากร่างกายของคนเราจำเป็นจะต้องใช้ออกซิเจนในการหายใจอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าหากผู้ป่วยถุงลมโป่งพองมีอาการที่อยู่ในขั้นวิกฤติ จะทำให้มีออกซิเจนในเลือดต่ำ จึงจำเป็นที่จะต้องมีออกซิเจนติดบ้านเพื่อฉีดพ่นในกรณีฉุกเฉิน

รักษาโดยการผ่าตัด

การรักษาโรคถุงลมโป่งพองด้วยการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ และขึ้นอยู่กับลักษณะอาการ

  • การผ่าตัดลดขนาดของปอด (Lung volume reduction surgery) แพทย์จะผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อปอดส่วนที่เสื่อมสภาพแล้วออกไป เพื่อให้ปอดส่วนที่เหลือมีการขยายตัวและทำงานได้ดีขึ้น ช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น
  • การปลูกถ่ายปอด (Lung transplant) หากเนื้อเยื่อปอดถูกทำลายจนเสื่อมสภาพอย่างรุนแรง การผ่าตัดเพื่อปลูกถ่ายปอดเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับรักษา โรคถุงลมโป่งพอง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Emphysema. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/emphysema/symptoms-causes/syc-20355555. Accessed on October 29, 2020.

What Is Emphysema?. https://www.webmd.com/lung/copd/what-is-emphysema. Accessed on October 29, 2020.

Can You Have Emphysema Without Being a Smoker?. https://www.emedicinehealth.com/ask_have_emphysema_without_being_a_smoker/article_em.htm#ask_a_doctor. Accessed on October 29, 2020.

Do Non-Smokers Get Emphysema?. https://www.drweil.com/health-wellness/body-mind-spirit/disease-disorders/do-non-smokers-get-emphysema/. Accessed on October 29, 2020.

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/03/2021

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

โทษของบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรค

สัญญาณโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หนึ่งในโรคปอดเรื้อรังที่รุนแรงถึงชีวิต


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 15/03/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา