อาการหอบหืดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และหนึ่งในสาเหตุที่พบได้บ่อยก็คือ หอบหืดจากภูมิแพ้ โดยผู้ป่วยภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 20-25 มักเป็นหอบหืดด้วย และนี่คือรายละเอียดของโรคหอบหืดจากภูมิแพ้ที่ Hello คุณหมอ นำมาเสนอให้คุณควรรู้เอาไว้
หอบหืดจากภูมิแพ้ คืออะไร
โรคหอบหืด หรือโรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ (Asthma) เกิดจากปัจจัย 2 ประการ ได้แก่
- หลอดลมหดตัวและปิดกั้นทางเดินอากาศไปยังปอด
- เยื่อภายในหลอดลมบวมและขับเมือกออกมา ทำให้เกิดหลอดลมอุดกั้น
อาการแพ้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัจจัยทั้งสองประการนี้ และปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ไอเรื้อรัง และหายใจมีเสียง
ผู้ที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 20-25 มักเป็นโรคหอบหืดด้วย ในทางกลับกัน ผู้ที่เป็นหอบหืดประมาณรอยละ 20-80 มักเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ร่วมด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่า ทั้งสองโรคนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี สาเหตุของหอบหืดไม่ได้มีแต่ภูมิแพ้เท่านั้น เพราะมลภาวะก็ก่อให้เกิดโรคหอบหืดได้เช่นกัน
อาการของ หอบหืดจากภูมิแพ้
ทั้งภูมิแพ้และหอบหืดสามารถทำให้เกิดอาการที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจได้ เช่น อาการไอ หลอดลมอุดกั้น อย่างไรก็ดี ยังมีอาการเฉพาะสำหรับแต่ละโรคอีกด้วย
ภูมิแพ้อาจทำให้เกิดอาการ ดังนี้
- น้ำตาไหลและคันตา
- จามและน้ำมูกไหล
- คอเป็นแผล มีผื่นขึ้น และเป็นลมพิษ
แต่หอบหืดมักไม่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว ในทางกลับกัน ผู้ป่วยหอบหืดมักพบว่ามีอาการต่อไปนี้ได้มากที่สุด
- แน่นหน้าอก
- หายใจมีเสียง
- มีอาการไอที่ทำให้หายใจลำบากในตอนกลางคืน หรือตอนเช้าตรู่
อาการอื่น ๆ ของหอบหืดจากภูมิแพ้
นอกเหนือจากการเกิดไข้ละอองฟาง อาการหอบหืด และผื่นแดง ที่พบว่าเกี่ยวข้องกับโรคภูมิแพ้และหอบหืดแล้ว อาการแพ้ยังสามารถเกิดขึ้นในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย และทำให้เกิดอาการต่าง ๆ กันได้ เช่น
- ผื่นคัน
- ลมพิษ
- ปวดท้องจากอาหารไม่ย่อย
- ผิวหนังแดง
อาการแพ้อาจเกิดขึ้นกับอวัยวะในร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือหลายส่วนพร้อมกัน กล่าวคือ อาการภูมิแพ้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อเวลาผ่านไปในแต่ละคน เช่น ทารกเกิดใหม่อาจเป็นภูมิแพ้และผื่นแดง หรือผู้ที่มีอายุมากขึ้นอาจมีอาการปวดคอ ไอแห้ง ปวดในช่องท้อง
การรักษาหอบหืดจากภูมิแพ้
ดังที่ทราบกันดีว่า อาการทั้งหมดของโรคภูมิแพ้และหอบหืดเกิดจากร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งไปกระตุ้นให้ร่างกายปล่อยสารเคมีที่ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังนั้น วิธีที่สมเหตุสมผลที่สุดสำหรับการรักษาคือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้หากเป็นไปได้ โดยการสังเกตและเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่
ตัวอย่างเช่น หากทราบว่าแพ้ขนแมวและขนสุนัข ก็ควรให้อยู่ให้ห่างจากสิ่งดังกล่าว หากแพ้ฝุ่น ควรทำความสะอาดบ้านและใช้แผ่นกรองอากาศชนิด HEPA แต่หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงอาการแพ้ทั้งหมดได้ ควรใช้ยาเพื่อป้องกันอาการแพ้และลดอาการต่าง ๆ
- สำหรับอาการจมูกอักเสบ (Rhinitis) ผู้ป่วยสามารถใช้ยาแก้แพ้ (Antihistamine) หรือยาแก้คัดจมูก (Decongestant) อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างร่วมกันได้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยมีอาการคัดจมูกหรือไม่
- ยาแก้แพ้กลุ่มดั้งเดิม เช่น ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphehydramine) อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น ง่วงซึม ทำงานลำบาก ไม่สามารถขับรถได้
- ยาแก้แพ้รุ่นที่ 2 เช่น ยาลอราทาดีน (Loratadine) (Claritin) ยาเฟ็กโซเฟนาดีนไฮโดรคลอไรด์ (Fexofenadine Hydrochloride) จะไม่ทำให้เกิดอาการง่วงซึม นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจเพิ่มสเตียรอยด์สำหรับใช้ภายนอก นอกเหนือจากการใช้สเปรย์พ่นจมูก อย่างไรก็ดี ยาแก้แพ้และยาแก้คัดจมูกทั้งหมดใช้เพียงเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ และไม่สามารถรักษาสาเหตุของโรคได้ การกำจัดต้นเหตุอาจจำเป็นต้องใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) หรือการฉีดสารภูมิแพ้ (Allergy shots)
การปรึกษาแพทย์หรือการจำกัดการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ทั้งในผู้ป่วยหอบหืดและภูมิแพ้ ถือเป็นการป้องกันและรับมือกับโรคทั้งสองอย่างได้ผล