แพ้อาหารทะเล เป็นการตอบสนองที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนในสัตว์ทะเลบางชนิด เช่น กุ้ง ปู หอยนางรม ปลาหมึก หอยเชลล์ หากแพ้อาหารทะเลรุนแรง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
[embed-health-tool-bmi]
คำจำกัดความ
แพ้อาหารทะเล คืออะไร
แพ้อาหารทะเล เป็นการตอบสนองที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนในสัตว์ทะเลเปลือกแข็ง เช่น กุ้ง ปู หอยนางรม และกุ้งมังกร รวมถึงปลาหมึกยักษ์ ปลาหมึก และหอยเชลล์ บางคนอาจแพ้อาหารทะเลเปลือกแข็งทุกชนิด ในขณะที่บางคนอาจแพ้แค่บางชนิดเท่านั้น
ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อแพ้อาหารทะเล มีตั้งแต่อาการที่ไม่รุนแรง เช่น ลมพิษ คัดจมูก ไปจนถึงอาการที่รุนแรงขึ้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
หากสงสัยว่าแพ้อาหารทะเลเปลือกแข็ง ควรปรึกษาคุณหมอและเข้ารับการตรวจภูมิแพ้อาหารทะเล เมื่อทราบว่าแพ้อาหารทะเลชนิดใดบ้าง อาจช่วยให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารทะเลชนิดนั้น ๆ และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้ได้
แพ้อาหารทะเล พบบ่อยเพียงใด
ภูมิแพ้อาหารทะเ เป็นหนึ่งในโรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยที่สุด ทั้งยังอาจอันตรายที่สุดด้วย โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แม้แต่คนที่เคยรับประทานอาหารทะเลได้ปกติ เมื่อเวลาผ่านไป ก็อาจแพ้อาหารทะเลได้ และส่วนใหญ่ผู้ที่แพ้อาหารทะเลจะมีอาการแพ้ไปตลอดชีวิต
อาการ
อาการของภูมิแพ้อาหารทะเล
อาการที่อาจพบได้ เช่น
- ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังจากการแพ้อาหาร เช่น ลมพิษ อาการคัน ผื่นแดง
- ปาก หน้า ลิ้น ลำคอหรือส่วนอื่นของร่างกายบวม
- จาม คัดจมูกหรือมีปัญหาในการหายใจ
- ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้หรืออาเจียน
- หน้ามืด วิงเวียนศีรษะหรือจะเป็นลม
- ปากชา
ภูมิแพ้อาหารทะเลอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากแพ้อาหารทะเลอย่างรุนแรงต้องได้รับการรักษาอย่างทันทีด้วยการฉีดสารเอพิเนฟรีน (Epinephrine) หรือที่เรียกว่าฮอร์โมนอะดรีนาลีน (Adrenaline) และต้องเข้าห้องฉุกเฉิน
สัญญาณและอาการของปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง เช่น
- ลำคอบวม ทางเดินหายใจตีบ หายใจลำบาก
- ช็อกและความดันโลหิตตกอย่างมาก
- หัวใจเต้นเร็ว
- วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดหรือหมดสติ
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
หากคุณแพ้อาหารหลังจากรับประทานไม่นานควรรีบเข้าพบคุณหมอ หรือหากเกิดภาวะปฏิกิริยาแพ้รุนแรง ต้องรีบเข้ารับการรักษาฉุกเฉิน
สาเหตุ
สาเหตุของภูมิแพ้อาหารทะเล
ภูมิแพ้อาหารทั้งหมดเกิดจากการตอบสนองที่มากเกินไปของระบบภูมิคุ้มกัน ระบบภูมิคุ้มกันจะระบุว่าโปรตีนบางชนิดจากสัตว์ทะเลเปลือกแข็งเป็นอันตราย และกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนจากสัตว์ทะเลเปลือกแข็ง (สารก่อภูมิแพ้) ครั้งต่อไปเมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ ระบบภูมิคุ้มกันจะปล่อยสารฮิสตามีน (Histamine) และสารเคมีชนิดอื่นที่ทำให้เกิดอาการแพ้
ประเภทของสัตว์ทะเลเปลือกแข็ง
สัตว์ทะเลเปลือกแข็งมีหลายชนิด แต่ละชนิดต่างมีโปรตีนต่างกัน
- สัตว์ทะเลกลุ่มกุ้งกั้งปู ได้แก่ ปู กุ้งมังกร กุ้งน้ำจืด กุ้ง และกุ้งกุลาดำ
- สัตว์ทะเลกลุ่มหอยและปลาหมึก ได้แก่ ปลาหมึก หอยทาก ปลาหมึกยักษ์ หอยนางรม และหอยเชลล์
บางคนแพ้สัตว์ทะเลเปลือกแข็งเพียงชนิดเดียว และสามารถรับประทานชนิดอื่นได้ตามปกติ แต่บางคนก็อาจแพ้สัตว์ทะเลเปลือกแข็งทั้งหมด
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของภูมิแพ้อาหารทะเล
หากสมาชิกในครอบครัวแพ้อาหารทะเล ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการแพ้อาหารทะเลได้ แม้โรคนี้จะพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้หญิง แต่หากเป็นเด็ก เด็กผู้ชายเกิดภูมิแพ้อาหารทะเลมากกว่าเด็กผู้หญิง
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยภูมิแพ้อาหารทะเล
การวินิจฉัยภูมิแพ้อาหารทะเลเปลือกแข็ง อาจทำได้ค่อนข้างยาก เพราะอาการอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ยิ่งไปกว่านั้น คนที่แพ้อาหารทะเลเปลือกแข็งไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารก่อนถึงจะเกิดอาการแพ้ แต่แค่การสูดดมควันจากอาหารทะเลที่แพ้ หรือรับประทานอาหารที่สัมผัสกับอาหารทะเลที่แพ้ ก็อาจทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบได้
การแพ้อาหารทะเลเปลือกแข็งอาจส่งผลต่อผิวหนัง ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร หรือระบบหัวใจและหลอดเลือด แม้ภูมิแพ้ชนิดนี้มักจะปรากฏเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่เด็กหรือคนวัยอื่นก็เป็นโรคนี้ได้เช่นกัน
หากสงสัยว่าเป็นโรคภูมิแพ้อาหารทะเล สิ่งสำคัญคือ การปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ ซึ่งสามารถเจาะจงการทดสอบที่เหมาะสม และวินิจฉัยได้ว่าเป็นภูมิแพ้หรือไม่ ทั้งยังให้คำแนะนำในการรับมือกับปัจจัยเสี่ยงและอาการของภูมิแพ้อาหารทะเลที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย
ในการวินิจฉัยภูมิแพ้อาหารทะเล คุณหมอด้านโรคภูมิแพ้จะซักประวัติเกี่ยวกับอาการแพ้ ควรเตรียมคำตอบให้พร้อมว่า รับประทานอาหารอะไร ปริมาณเท่าไหร่ นานแค่ไหนกว่าจะเกิดอาการ อาการที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง และมีอาการนานแค่ไหน ร่วมกับวิธีตรวจหาภูมิแพ้ เช่น การตรวจเลือด การทดสอบโดยใช้สารบางชนิดเพื่อกระตุ้นภูมิแพ้ (ImmunoCAP test) การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยการสะกิด (skin-prick test) เพื่อหาว่าแอนติบอดีชนิดอิมมูโนโกลบูลินที่จำเพาะต่ออาหาร (food-specific immunoglobulin E หรือ IgE) แบบไหนที่อยู่ในร่างกาย
การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยการสะกิด จะทำในโรงพยาบาลและใช้เวลารอผล 15-30 นาที คุณหมอจะหยดของเหลวที่มีสารที่ต้องสงสัยว่าเป็นสารก่อภูมิแพ้ 1 หยดบนแขนหรือหลังของผู้ป่วย จากนั้นจึงสะกิดผิวหนังด้วยหมุดที่ฆ่าเชื้อแล้ว เพื่อให้ของเหลวไหลซึมเข้าใต้ผิว การทดสอบนี้ไม่ได้ทำให้เจ็บปวดแต่อาจทำให้รู้สึกไม่ค่อยสบาย หากมีรอยแดง ลักษณะคล้ายตุ่มยุงกัดเกิดขึ้นในบริเวณที่ได้หยดของเหลวลงไป จะประเมินว่าการทดสอบนี้เป็นบวก
การตรวจเลือด อาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองน้อยกว่าการทดสอบภูมิแพ้ด้วยการสะกิดผิวหนัง คุณหมอจะตรวจเลือดเพื่อวัดจำนวนของจำนวนแอนติบอดีอิมมูโนโกบูลินอี ที่ทำปฏิกิริยากับอาหารบางชนิด ผลตรวจมักจะออกภายใน 1-2 อาทิตย์ และจะรายงานด้วยค่าที่เป็นตัวเลข (numerical value)
คุณหมอด้านโรคภูมิแพ้จะตีความผล และใช้ผลเพื่อช่วยในการวินิจฉัย แม้ว่าทั้ง 2 วิธีนี้จะแสดงให้เห็นถึงสัญญาณของภูมิแพ้อาหารทะเล แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่าเป็นภูมิแพ้อาหารทะเล ผลการทดสอบที่เป็นบวกต่ออาหารบางชนิด ไม่ได้หมายความว่า ผู้ป่วยจะมีปฏิกิริยาต่ออาหารเมื่อรับประทาน ส่วนผลการทดสอบที่เป็นลบจะช่วยตัดอาการแพ้ที่ผู้ป่วยไม่ได้เป็นออกไป แต่ทั้ง 2 วิธีไม่อาจคาดการณ์ความรุนแรงของปฏิกิริยาแพ้ที่มีต่อสัตว์ทะเลเปลือกแข็งได้ แม้จะมีระดับของแอนติบอดีอิมมูโนโกบูลินชนิดอีหรือขนาดของรอยแดงก็ตาม
เพื่อให้ได้ผลการวินิจฉัยที่แน่ชัดขึ้น คุณหมออาจให้ทดสอบการแพ้อาหารด้วยการรับประทาน (oral food challenge) คือ ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่สงสัยว่าเป็นสารก่อภูมิแพ้ เริ่มจากปริมาณน้อย ๆ ก่อน จากนั้นจึงค่อย ๆ ให้เพิ่มปริมาณขึ้น การทดสอบดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมออย่างเคร่งครัด และต้องเตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉินไว้ด้วย การทดสอบด้วยการรับประทานอาจช่วยให้ชี้ชัดได้ว่า ผู้ป่วยเป็นภูมิแพ้อาหารชนิดใด
การรักษาภูมิแพ้อาหารทะเล
วิธีเดียวที่จะป้องกันภูมิแพ้อาหารทะเลกำเริบ คือ การหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารทะเลที่แพ้อย่างเคร่งครัด
แพทย์อาจแนะนำให้รักษาอาการภูมิแพ้อาหารทะเลที่ไม่รุนแรงด้วยยา เช่น ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) เพื่อลดผื่น อาการคัน เป็นต้น
หากมีอาการแพ้อาหารทะเลรุนแรง ควรได้รับการฉีดสารเอพิเนฟรีน (Epinephrine) หรือฮอร์โมนอะดรีนาลีน (Adrenaline) หากมีความเสี่ยงที่จะเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง ควรพกหลอดฉีดเอพิเนฟรีนติดตัวตลอดเวลา แพทย์อาจแนะนำให้ใช้สารเอพิเนฟรีนตั้งแต่ตอนแรกที่มีอาการแพ้เกิดขึ้น จากนั้นต้องรีบเข้ารับการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันภูมิแพ้อาหารทะเลกำเริบ
- ถามพนักงานในร้านอาหาร หรือผู้ประกอบอาหารให้ชัดเจนว่า อาหารที่ต้องการรับประทานมีอาหารที่แพ้เป็นส่วนประกอบหรือไม่ หรือให้อุปกรณ์ประกอบอาหารที่เคยใช้ปรุงอาหารที่เป็นสารก่อภูมิแพ้หรือไม
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในร้านอาหารทะเล หรือซื้ออาหารจากตลาดอาหารทะเล บางคนอาจเกิดอาการแพ้ หากสูดเอาไอน้ำหรือละอองจากการประกอบอาหารทะเลเปลือกแข็งเข้าไป
- อ่านฉลากอาหารอย่างถี่ถ้วน เพื่อดูว่ามีอาหารทะเลที่แพ้เป็นส่วนประกอบหรือไม่
- หากโดยสารเครื่องบิน และต้องรับประทานอาหารบนเครื่อง ควรแจ้งให้สายการบินทราบล่วงหน้าว่าแพ้อาหารทะเลชนิดใด หรือหากเด็กวัยเรียนแพ้อาหาร ก็ควรแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบด้วย
ควรพกหลอดฉีดเอพิเนฟรีนอยู่เสมอ และต้องมั่นใจว่าหลอดฉีดนั้นยังไม่หมดอายุ และหากเป็นไปได้ ควรมีข้อมูลเกี่ยวกับการแพ้อาหารพกติดตัวไว้ด้วย โดยอาจอยู่ในสร้อยข้อมือ สร้อยคอ เป็นต้น