backup og meta

เรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับ มะเร็งช่องปาก (Oral Cancer)

คำจำกัดความอาการสาเหตุปัจจัยเสี่ยงการวินิจฉัยและการรักษาโรคการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง

มะเร็งช่องปาก หรือ มะเร็งในช่องปาก (Oral cancer) คือโรคที่เกิดจากเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย หรือเซลล์มะเร็งที่เกิดในช่องปาก โดยอาจพบเซลล์มะเร็งอยู่ที่ลิ้น เพดานปาก กระพุ้งแก้ม ริมฝีปาก หรือเหงือกก็ได้ แตกต่างกันไปตามแต่บริเวณที่มีเซลล์มะเร็งเติบโต

คำจำกัดความ

มะเร็งช่องปาก คืออะไร

มะเร็งช่องปาก หรือ มะเร็งในช่องปาก (Oral cancer) คือโรคที่เกิดจากเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย หรือเซลล์มะเร็งที่เกิดในช่องปาก โดยอาจพบเซลล์มะเร็งอยู่ที่ลิ้น เพดานปาก กระพุ้งแก้ม ริมฝีปาก หรือเหงือกก็ได้ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่บริเวณที่มีเซลล์มะเร็งเติบโต มากไปกว่านั้น เซลล์มะเร็งยังอาจลุกลามไปยังบริเวณต่อมทอนซิล ต่อมน้ำลาย หรือคอหอยได้ด้วยเช่นกัน

มะเร็งในช่องปาก ถือเป็นอีกหนึ่งโรคมะเร็งที่จำเป็นจะต้องได้รับการวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะถ้าหากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

มะเร็งช่องปาก พบได้บ่อยแค่ไหน

สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society; หรือ ACS) ระบุว่า ผู้ชายเป็นกลุ่มมีความเสี่ยงในการเป็น มะเร็งในช่องปาก สูงกว่าผู้หญิงถึง 2 เท่า โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดคือ กลุ่มผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

อาการ

อาการของ มะเร็งช่องปาก

อาการโดยทั่วไปของ มะเร็งในช่องปาก มีดังนี้

  • มีอาการเจ็บที่ริมฝีปากหรือเจ็บที่ปากเป็นเวลานานและไม่หายสักที
  • มีก้อนกลม ๆ หนาขึ้น หรือเป็นตุ่มบริเวณริมฝีปาก เหงือก เพดานปาก หรือบริเวณต่าง ๆ ในช่องปาก
  • มีรอยฝ้าสีขาวหรือสีแดงเกิดขึ้นในช่องปาก
  • เลือดออกในปากโดยที่ไม่ทราบสาเหตุติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์
  • มีอาการชา สูญเสียความรู้สึกที่บริเวณใบหน้า ปาก หรือลำคอ
  • มีอาการเจ็บปวดและรู้สึกว่ามีบางอย่างติดอยู่ในลำคอ
  • กลืนอาหารลำบาก เจ็บปวดเวลากลืนหรือเคี้ยวอาหาร
  • พูดลำบาก หรือขยับขากรรไกรลำบากเวลาพูดหรือเคี้ยวอาหาร
  • มีอาการเสียงแหบ เจ็บคอเรื้อรัง หรือมีเสียงเปลี่ยน
  • ปวดหู
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ฟันหลุด ฟันหัก
  • หากใส่ฟันปลอมอาจรู้สึกตึงหรือคับแน่นที่ฟันปลอม

อาจมีอาการของ มะเร็งในช่องปาก ที่ไม่ได้กล่าวไว้ข้างต้น สำหรับอาการอื่น ๆ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากแพทย์

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากคุณมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีอาการความผิดปกติใด ๆ ในช่องปากดังที่กล่าวไปข้างต้นติดต่อกันเป็นระยะเวบานานกว่า 2 สัปดาห์และไม่มีทีท่าว่าอาการจะดีขึ้น ควรไปพบทันตแพทย์หรือปรึกษากับคุณหมอเพื่อเข้ารับการวินิจฉัย

สาเหตุ

สาเหตุของมะเร็งช่องปาก

มะเร็งในช่องปาก เกิดจากการเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติของระบบดีเอ็นเอของเซลล์ในช่องปาก และพัฒนากลายเป็นเนื้องอก ก่อนจะค่อย ๆ เติบโตเป็นเซลล์มะเร็ง และเมื่อก่อตัวจนเป็นเซลล์มะเร็งแล้วก็จะค่อย ๆ แพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ภายในช่องปากหรือลำคอ อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า เพราะเหตุใดเซลล์ในช่องปากจึงมีการเปลี่ยนแปลงของระบบดีเอ็นเอภายในเซลล์

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งช่องปาก

พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันก็มีส่วนในการเพิ่มความเสี่ยงของ มะเร็งในช่องปาก ด้วยเช่นกัน ดังนี้

  • การสูบบุหรี่ 
  • การใช้ยาสูบทั้งแบบเคี้ยว แบบดม หรือแบบสูบ
  • การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก
  • การปล่อยให้ริมฝีปากสัมผัสกับแสงแดดมากจนเกินไป
  • สมาชิกในครอบครัวมีประวัติการเป็นมะเร็งมาก่อน 
  • การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human papillomavirus virus ) หรือ โรค HPV

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจยังพบอีกว่า ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่เลย หรือผู้ดื่มแอลกอฮอล์เป็นครั้งคราวเท่านั้น ก็ยังมีโอกาสเสี่ยงเป็น มะเร็งในช่องปาก สูงถึง 25 เปอร์เซ็นต์

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยมะเร็งช่องปาก

แพทย์สามารถทำการตรวจวินิจฉัย มะเร็งในช่องปาก ได้หลายวิธี ดังนี้

  • ตรวจโดยการตรวจสุขภาพช่องปาก ทันตแพทย์หรือแพทย์สามารถทำการตรวจสุขภาพช่องปากโดยปกติทั่วไป เพื่อตรวจดูความผิดปกติที่ริมฝีปาก ภายในช่องปาก หรือลำคอ และดูว่ามีก้อนเนื้อที่ผิดปกติ หรือมีรอยคราบ รอยฝ้าที่ผิดปกติเกิดขึ้นในช่องปากหรือไม่
  • ตรวจโดยการตรวจชิ้นเนื้อ เพื่อความแม่นยำ แพทย์อาจพิจารณาทำการตรวจวินิจฉัยโดยการผ่าตัดนำเนื้อเยื่อไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์หาเซลล์มะเร็ง

เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น มะเร็งในช่องปาก แพทย์อาจพิจารณาให้มีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ได้แก่

  • ตรวจโดยการส่องกล้อง โดยแพทย์จะมีการส่องกล้องเข้าไปตรวจทั้งในช่องปากและลำคอ เพื่อดูว่าเซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังส่วนใดบ้าง
  • ตรวจโดยการถ่ายภาพ ด้วยการเอ็กซเรย์ การทำซีทีสแกน หรือทำเอ็มอาร์ไอ เพื่อให้สามารถชี้ชัดว่าเซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังส่วนใดบ้าง

การรักษามะเร็งช่องปาก

การรักษา มะเร็งในช่องปาก จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยแพทย์สามารถทำการรักษามะเร็งในช่องปากได้หลายวิธี ได้แก่

รักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี คือ

  • การผ่าตัดเอาเซลล์มะเร็งในช่องปากออกมา
  • การผ่าตัดเพื่อนำเซลล์มะเร็งที่แพร่ไปยังลำคอออกมา
  • การผ่าตัดหลังจากที่นำเซลล์มะเร็งออกมาแล้ว และต้องมีการผ่าตัดเพื่อทำการซ่อมแซมหรือปลูกถ่ายเนื้อเยื่อในช่องปากหรือลำคอ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ

รักษาโดยการฉายรังสี 

แพทย์อาจพิจารณาให้มีการฉายรังสีเอ็กซ์และรังสีโปรตอน เพื่อทำการฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งมักจะใช้วิธีนี้หลังจากที่มีการผ่าตัดแล้ว หรืออาจใช้ตั้งแต่แรกในกรณีที่เป็น มะเร็งในช่องปาก ระยะเริ่มต้น อย่างไรก็ตาม หลังการฉายรังสี อาจมีผลข้างเคียงคือมีอาการปวด ปากแห้ง ฟันผุ กระดูกขากรรไกรเสื่อม ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นที่จะต้องมีการรักษาสุขภาพฟันและสุขภาพช่องปากหลังจากรับการฉายรังสีเพิ่มเติม

รักษาโดยการทำเคมีบำบัดหรือทำคีโม (Chemotherapy) 

การทำคีโมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งในช่องปากหลังจากที่มีการฉายรังสี หรือมีการทำคีโมไปพร้อม ๆ กับการฉายรังสี ซึ่งจะมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และผมร่วง

รักษาโดยการรับประทานยาแบบเฉพาะเจาะจงเพื่อรักษามะเร็ง

แพทย์อาจพิจารณาสั่งจ่ายยาเพื่อใช้ในการรักษามะเร็งแบบเฉพาะเจาะจง เช่น ยาซิทูซิแม็บ (Cetuximab) ที่ใช้เพื่อรักษามะเร็งในช่องปาก บริเวณลำคอ หรือบริเวณศีรษะ

การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง

การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับมะเร็งช่องปาก

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางประการดังต่อไปนี้ มีส่วนช่วยป้องกัน มะเร็งในช่องปาก ได้ 

  • ไม่สูบบุหรี่ หรือเลิกสูบบุหรี่
  • ไม่ใช้ยาสูบไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม
  • เลิกดื่มแอลกอฮอล์
  • ปกป้องผิวหนังและริมฝีปากจากแสงแดดด้วยการทาครีมกันแดดหรือใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าและผิวกายที่มีส่วนผสมของสารกันแดดเสมอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบทั้ง 5 หมู่
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Oral Cancer. https://www.webmd.com/oral-health/guide/oral-cancer#1. Accessed February 4, 2021.

Mouth cancer. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/mouth-cancer/symptoms-causes/syc-20350997. Accessed February 4, 2021.

Mouth cancer. https://www.nhs.uk/conditions/mouth-cancer/. Accessed February 4, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

13/02/2021

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีการรับมือกับความกังวล ก่อน ฟังผลตรวจมะเร็ง

เหงือกร่น สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและป้องกัน


ตรวจสอบข้อมูลความถูกต้อง โดย ทีม Hello คุณหมอ · เขียน โดย Khongrit Somchai · แก้ไข 13/02/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา