มะเร็งลำไส้เล็ก เป็นมะเร็งที่พบไม่บ่อย เกิดจากเซลล์ในเนื้อเยื่อของลำไส้เล็กเปลี่ยนแปลงและเจริญเติบโตผิดปกติ ลำไส้เล็กมีหน้าที่ย่อย และดูดซับสารอาหาร โดยลำไส้เล็กเป็นส่วนที่ยาวที่สุดของระบบทางเดินอาการ ยาวประมาณ 6 เมตร หากพบเป็นมะเร็งลำไส้ก็อาจส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารได้
คำจำกัดความ
มะเร็งลำไส้เล็ก คืออะไร
มะเร็งลำไส้เล็ก คือ มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในเนื้อเยื่อของลำไส้เล็กเจริญเติบโตผิดปกติ ทำให้ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร โดยมะเร็งลำไส้สามารถแบ่งแยกออกเป็นแต่ละประเภทต่าง ๆ
ประเภทมะเร็งลำไส้เล็ก มีอะไรบ้าง
ประเภทของมะเร็งลำไส้เล็กอาจแบ่งแยกได้ดังต่อไปนี้
- ซาร์โคมา (Sarcoma) เซลล์มะเร็งที่พัฒนาจากเนื้อเยื่ออ่อนของลำไส้เล็ก เช่น กล้ามเนื้อ เป็นมะเร็งลำไส้ชนิดที่พบได้บ่อย หรือที่เรียกว่า “มะเร็งเนื้อเยื่อระบบอาหาร (Gastrointestinal Stromal Tumor หรือ GIST)”
- เนื้องอกคาร์ชินอยด์ (Carcinoid Tumor) เป็นชนิดที่เติบโตช้า แต่อาจส่งผลกระทบต่อไส้ติ่ง ไส้ตรงได้ หากเซลล์มะเร็งแพร่กระจาย
- มะเร็งชนิดต่อม (Adenocarcinoma) มะเร็งชนิดนี้มักจะเกิดขึ้นที่บริเวณเยื่อบุของลำไส้เล็ก โดยในตอนแรกอาจเป็นเพียงเนื้องอก หรือติ่งเนื้อ แต่ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้นานอาจสามารถกลายเป็นมะเร็งได้
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphomas) เกิดจากระบบคุ้มกันที่เรียกว่า “ลิมโฟไซต์ (Lymphocytes)” บกพร่อง หรืออ่อนแอ ทำให้ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ในร่างกาย รวมถึงลำไส้เล็ก
มะเร็งลำไส้เล็ก พบได้บ่อยแค่ไหน
อัตราการเกิดมะเร็งลำไส้เล็กนั้นมีไม่ถึง 1% ของมะเร็งทั้งหมด เป็นมะเร็งที่พบได้น้อย ซึ่งบุคคลที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป อาจมีโอกาสเป็นมากกว่า โดยเฉพาะในเพศชาย
อาการ
อาการมะเร็งลำไส้เล็ก
สัญญาณและอาการของมะเร็งลำไส้เล็ก อาจมีดังนี้
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายผิดปกติ
- คลื่นไส้ อาเจียน รวมถึงเบื่ออาหาร
- ตัวเหลือง ตาเหลือง
- น้ำหนักลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ
- ปวดท้องบริเวณท้องส่วนบน หรือกลางท้อง
- มีเลือดในอุจจาระ หรืออุจจาระเป็นสีดำ
ควรไปพบคุณหมอเมื่อไร
หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรไปพบคุณหมอ เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการที่เป็น
ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาคุณหมอ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์
สาเหตุ
สาเหตุการเกิด มะเร็งลำไส้เล็ก
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าสิ่งใดทำให้เกิดมะเร็งลำไส้เล็ก แต่อาจเกิดขึ้นเมื่อเซลล์ปกติในลำไส้เล็กมีการเปลี่ยนแปลง โดยปกติ เซลล์จะมีการเติบโตและแบ่งตัวอย่างเป็นระบบระเบียบในร่างกาย แต่ถ้าหากเซลล์เกิดความเสียหาย แม้ไม่มีการสร้างเซลล์ใหม่ แต่เซลล์ที่เสียหายนั้นก็ยังคงมีการแบ่งตัวและเติบโต หากมีเซลล์เหล่านี้สะสมมาก อาจกลายเป็นเนื้องอก หรือก่อตัวเป็นเซลล์มะเร็งได้
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของ มะเร็งลำไส้เล็ก
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้เล็กอาจเกิดจากสิ่งเหล่านี้ เช่น
- กรรมพันธุ์ การถ่ายทอดลักษณะจากรุ่นบรรพบุรุษหรือรุ่นพ่อแม่ไปสู่รุ่นลูก เช่น Lynch Syndrome Familial Adenomatous Polyposis (FAP) มะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือเกิดความบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้เล็ก เนื่องจากร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้อย่างที่ควรจะเป็นตามปกติ
- โรคลำไส้อื่น ๆ เช่น โรคลำไส้อักเสบ โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้เล็ก
การวินิจฉัยและการรักษา
การวินิจฉัยและการรักษามะเร็งลำไส้เล็ก
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยมะเร็งลำไส้เล็ก
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ อาจมีวิธีการดังนี้
- การตรวจร่างกายและสอบถามประวัติ เพื่อตรวจดูสัญญาณสุขภาพทั่วไป และตรวจหาสัญญาณของโรค รวมถึงสอบถามประวัติสุขภาพ
- การตรวจทางเคมีในเลือด วัดปริมาณสารบางชนิด เช่น กลูโคส อัลบูมิน บิลิรูบิน ในร่างกายที่สร้างขึ้นมาว่า มีค่าสูงหรือต่ำกว่าปกติ ที่อาจเป็นสัญญาณในการบ่งบอกโรค
- การตรวจชิ้นเนื้อ เป็นการเอาตัวอย่างเนื้อเยื่อไปตรวจ สามารถทำได้ในระหว่างการส่องกล้อง
- การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เป็นการตรวจที่มีความละเอียด สามารถมองเห็นบริเวณต่าง ๆ ภายในร่างกาย รวมถึงยังอาจสามารถบ่งบอกระยะ ขอบเขตว่าเนื้องอกได้ลุกลามไปยังบริเวณอื่นหรือไม่
- การตรวจโดยการสวนแป้งแบเรียมร่วมกับก๊าซ ( DoubleContrast Barium Enema) เป็นการสวนแป้งแบเรียมซัลเฟต (Barium Sulfate) ซึ่งเป็นสารทึบรังสีเข้าทางทวารหนัก และถ่ายภาพเอกซเรย์ ทำให้เห็นเยื่อเมือกไม่เป็นระเบียบหรือหนาขึ้น และยังสามารถเห็นการถูกทำลายของติ่งเนื้อ
วิธีการรักษามะเร็งลำไส้เล็ก
การรักษามะเร็งลำไส้เล็กมีหลายวิธี โดยอาจมีวิธีรักษาดังต่อไปนี้
- การผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาที่พบได้บ่อย โดยยึดตามตำแหน่งของมะเร็งและอาการของโรค โดยมีวิธีผ่าตัดลำไส้เล็กส่วนต้นและหัวตับอ่อน ผ่าตัดท่อลำไส้เล็กแบบเป็นช่วง ๆ การผ่าตัดส่วนใหญ่ของกระเพาะอาหาร
- การให้เคมีบำบัด เป็นการใช้ยาเพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยวิธีให้เคมีบำบัดขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของมะเร็ง ซึ่งอาจเป็นยาชนิดรับประทาน หรือฉีดเข้าเส้นเลือด
- การบำบัดด้วยรังสี เป็นการใช้รังสีเอกซ์พลังงานสูง หรือฉายรังสีประเภทอื่น เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งหรือป้องกันไม่ให้เซลล์เติบโต รวมถึงอาจทำให้มะเร็งมีขนาดเล็กลง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์บางอย่าง อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้เล็กได้ โดยการปฏิบัติดังต่อไปนี้
- รับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี เนื่องจากมีแร่ธาตุ ไฟเบอร์ และสารต้านอนุมูลอิสระ ที่อาจช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากในสิ่งเหล่านี้ อาจมีสารบางชนิด เช่น นิโคติน สารหนู เอทานอลที่ไม่ดีต่อสุขภาพและอาจไปยับยั้งระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายทำให้เกิดความผิดพลาด ระบบภายในร่างกายทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร และอาจส่งผลทำให้เกิดมะเร็งได้