backup og meta

มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) หนึ่งในโรคร้ายที่ควรทำความเข้าใจให้มากขึ้น

มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) หนึ่งในโรคร้ายที่ควรทำความเข้าใจให้มากขึ้น

มะเร็งเต้านม หลายคนยังคงอาจคิดว่าเกิดขึ้นแค่เฉพาะกับผู้หญิงเท่านั้น แต่รู้หรือไม่ว่าผู้ชายก็สามารถเป็นได้เหมือนกัน เพียงแต่ส่วนใหญ่มักจะพบในผู้หญิง หากคุณมีข้อสงสัยลองมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมให้มากขึ้นกันเถอะ

คำจำกัดความ

มะเร็งเต้านม คืออะไร

มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) คือโรคมะเร็งที่มีจุดกำเนิดมาจากเนื้อเยื่อในเต้านม มีอยู่สองประเภทหลักดังนี้

  • มะเร็งในท่อน้ำนม (Ductal carcinoma) เริ่มขึ้นในท่อที่ลำเลียงน้ำนมจากเต้านมไปสู่หัวนม มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะเป็นประเภทนี้
  • มะเร็งในต่อมน้ำนม (Lobular carcinoma) เริ่มขึ้นที่ส่วนต่อมน้ำนมของเต้านมที่ทำหน้าที่ในการผลิตน้ำนม

ในกรณีหายาก มะเร็งเต้านมก็อาจมีจุดกำเนิดจากส่วนอื่นของเต้านมได้

มะเร็งเต้านม พบบ่อยแค่ไหน

ตลอดช่วงชีวิต จะพบว่า 1 ใน 8 ของผู้หญิงเป็นโรคมะเร็งเต้านม สัดส่วนของโรคมะเร็งนั้น เป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตทั่วโลก ด้วยเพราะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 14 ล้านราย และมีการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งเมื่อปี 2012 ประมาณ 8.2 ล้านราย ซึ่งมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่ทำให้ผู้หญิงเสียชีวิตที่พบได้มากที่สุด

อาการ

อาการของโรคมะเร็งเต้านม

ในช่วงต้นของโรคมะเร็งเต้านมนั้นจะไม่เกิดอาการใด ๆ ดังนั้น จึงควรตรวจเต้านมเป็นประจำ เมื่อโรคมะเร็งเริ่มเติบโตขึ้นก็อาจจะมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีก้อนที่เต้านมหรือก้อนที่รักแร้ มีลักษณะแข็ง ขอบไม่เท่ากัน และมักจะไม่เจ็บ
  • การเปลี่ยนแปลงในด้านของขนาด รูปร่าง หรือความรู้สึกที่บริเวณเต้านมหรือหัวนม เช่น อาจมีรอยแดง รอยบุ๋ม หรือรอยย่นที่ดูคล้ายเปลือกส้ม
  • มีของเหลวไหลจากหัวนม ซึ่งอาจจะเป็นเลือด หรือของเหลวสีใสไปจนถึงสีเหลือง สีเขียว หรือดูคล้ายกับหนอง

สำหรับผู้ชาย อาการของมะเร็งเต้านมมีทั้งมีก้อนในเต้านม และมีอาการปวด หรือกดเจ็บที่เต้านม

อาการของโรคมะเร็งเต้านมขั้นรุนแรง มีดังนี้

  • ปวดกระดูก
  • ปวดหรือรู้สึกไม่สบายที่เต้านม
  • มีแผลที่ผิวหนัง
  • มีอาการบวมของต่อมน้ำเหลืองในรักแร้ (ถัดจากเต้านมที่มีมะเร็ง)
  • น้ำหนักลด

อาการแทรกซ้อนของโรคมะเร็งเต้านม

โรคมะเร็งและการรักษาโรคมะเร็งอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังนี้

  • อาการปวด

โรคมะเร็งบางชนิดอาจไม่ได้ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดใด ๆ แต่หากเกิดอาการก็สามารถใช้ยาและวิธีการรักษาอื่น ๆ รักษาอาการปวดที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • อาการเหนื่อยล้า

อาการเหนื่อยล้าในผู้ที่เป็นโรคมะเร็งนั้นเกิดได้จากสาเหตุหลายประการแต่ส่วนใหญ่สามารถจัดการได้ อาการเหนื่อยล้าที่เกี่ยวข้องกับการทำเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีบำบัดนั้นเป็นเรื่องปกติและมักจะเกิดขึ้นแค่ชั่วคราว

  • หายใจติดขัด

โรคมะเร็งหรือการรักษาโรคมะเร็งอาจทำให้เกิดอาการหายใจไม่อิ่ม การรักษาอาจช่วยบรรเทาอาการนี้ได้

โรคมะเร็งหรือการรักษาโรคมะเร็งบางอย่างอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ในบางครั้งแพทย์อาจคาดเดาได้ว่าการรักษานั้นอาจจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ยาและการรักษาอื่น ๆ อาจช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ได้

  • ท้องร่วงหรือท้องผูก

โรคมะเร็งหรือการรักษาโรคมะเร็งสามารถส่งผลกระทบกับลำไส้และทำให้เกิดอาการท้องร่วงหรือท้องผูกได้

  • น้ำหนักลด

โรคมะเร็งหรือการรักษาโรคมะเร็งอาจทำให้เกิดอาการน้ำหนักลดได้ เนื่องจากเซลล์มะเร็งนั้นจะขโมยเอาสารอาหารจากเซลล์ปกติไปและทำให้เซลล์เหล่านั้นขาดสารอาหาร โดยอาการน้ำหนักลดส่วนใหญ่มักไม่เกี่ยวกับปริมาณของแคลอรี่และชนิดของอาหารที่คุณรับประทาน

อาการนี้รักษาได้ยาก ส่วนใหญ่แล้วจะรักษาโดยการให้สารอาหารผ่านทางท่อเข้าสู่ช่องท้องหรือหลอดเลือดดำนั้นไม่สามารถช่วยเรื่องอาการน้ำหนักลดได้

  • สารเคมีในร่างกายเปลี่ยนแปลง

มะเร็งสามารถทำให้ความสมดุลตามปกติของเคมีในร่างกายคุณแย่ลงได้และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง สัญญาณและอาการของความไม่สมดุลของเคมีนั้นมีทั้งกระหายน้ำอย่างรุนแรง ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก และสับสน

  • ปัญหาเกี่ยวกับสมองและระบบประสาท

มะเร็งสามารถกดทับเส้นประสาทที่อยู่ใกล้ ๆ และทำให้ส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกายเกิดอาการปวดและสูญเสียการทำงาน มะเร็งที่เกี่ยวข้องกับสมองนั้นสามารถทำให้เกิดอาการปวดหัวและมีสัญญาณและอาการคล้ายกับโรคหลอดเลือดสมอง เช่นอาการอ่อนแรงที่ด้านหนึ่งของร่างกาย

  • ปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อมะเร็งผิดปกติ

ในบางกรณีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอาจมีปฏิกิริยาต่อการมีอยู่ของเซลล์มะเร็งด้วยการโจมตีเซลล์ที่แข็งแรง เรียกว่ากลุ่มอาการพารานีโอพลาสติก (paraneoplastic syndrome) ซึ่งเป็นอาการที่หายากและสามารถทำให้เกิดสัญญาณและอาการต่าง ๆ ได้ เช่น การเดินลำบากหรืออาการชัก

  • โรคมะเร็งที่แพร่กระจาย

เมื่อโรคมะเร็งรุนแรงขึ้นก็อาจเกิดการแพร่กระจาย (metastasize) ไปสู่ส่วนอื่นในร่างกาย ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคมะเร็ง

  • โรคมะเร็งที่กลับมาเป็นอีกครั้ง

ผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็งนั้นมีความเสี่ยงในการกลับไปเป็นโรคมะเร็งอีกครั้ง โรคมะเร็งบางชนิดอาจมีความเสี่ยงในการกำเริบมากกว่าโรคมะเร็งชนิดอื่น โปรดสอบถามแพทย์ถึงวิธีในการลดความเสี่ยงของการกำเริบของโรคมะเร็ง แพทย์อาจจะแนะนำแผนการดูแลสุขภาพหลังจากการรักษา รวมทั้งการสแกนและตรวจร่างกายเป็นระยะหลายเดือนและหลายปีหลังจากการรักษาเพื่อมองหาโรคมะเร็งที่อาจกำเริบอีกครั้ง

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากคุณตรวจพบก้อนเนื้อ หรือความเปลี่ยนแปลงของเต้านม ควรติดต่อแพทย์เพื่อทำการประเมินผลในทันที ถึงแม้ผลการตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม (Mammogram) จะเป็นปกติก็ตาม

สาเหตุ

สาเหตุของมะเร็งเต้านม

โรคมะเร็งนั้นเริ่มต้นขึ้นที่เซลล์ หน่วยโครงสร้างที่ผลิตเนื้อเยื่อและอวัยวะทั้งหมดในร่างกาย รวมถึงเต้านม

เซลล์ปกติในเต้านมและส่วนอื่น ๆ ของร่างกายจะเติบโตและแบ่งตัวเพื่อสร้างเซลล์ใหม่ตามความจำเป็น เมื่อเซลล์ปกติแก่ตัวลงหรือเสียหาย เซลล์เหล่านั้นก็จะตายไป และมีเซลล์ใหม่มาแทนที่

ในบางครั้งกระบวนการนี้อาจจะเกิดความผิดพลาด เซลล์ใหม่ก่อตัวขึ้นในตอนที่ร่างกายไม่ต้องการ และเซลล์ที่แก่หรือเสียหายไม่ได้ตายไปแบบที่ควรจะเป็น การสะสมของเซลล์ส่วนเกินมักจะกลายเป็นเนื้อเยื่อขนาดใหญ่ เรียกว่าก้อนเนื้อหรือเนื้องอก

เนื้องอกในเต้านมนั้นอาจเป็นชนิดไม่ร้าย (benign) หรือไม่เป็นมะเร็ง หรือเป็นเนื้อร้าย (malignant) คือเป็นมะเร็งก็เป็นได้

ลักษณะของเนื้องอกไม่ร้าย

  • โดยปกติมักจะไม่เป็นอันตราย
  • ไม่ค่อยบุกรุกเนื้อเยื่อโดยรอบ
  • ไม่แพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นในร่างกาย
  • สามารถกำจัดได้และมักจะไม่เติบโตใหม่อีกครั้ง

ลักษณะของเนื้อร้าย

  • อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
  • สามารถบุกรุกอวัยวะและเนื้อเยื่อที่อยู่ใกล้เคียงได้ (เช่น ผนังหน้าอก)
  • สามารถแพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นของร่างกาย
  • มักจะสามารถกำจัดได้ แต่ในบางครั้งอาจจะเติบโตกลับมาอีกครั้ง

เซลล์มะเร็งเต้านมนั้นสามารถแพร่กระจายได้ ด้วยการแตกตัวออกจากเนื้องอกในเต้านม จากนั้นจึงเดินทางผ่านหลอดเลือดหรือหลอดน้ำเหลืองไปสู่ส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย หลังจากแพร่กระจาย 3 ครั้ง เซลล์มะเร็งอาจจะเกาะกับเนื้อเยื่ออื่น ๆ และเติบโตขึ้นมาเป็นเนื้องอกใหม่ ที่อาจสร้างความเสียหายให้กับเนื้อเยื่อเหล่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น เซลล์มะเร็งนั้นสามารถแพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลืองใกล้ ๆ เช่น กลุ่มของต่อมน้ำเหลืองใกล้เต้านมที่อยู่ใต้แขน (รักแร้) กลุ่มต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า กลุ่มต่อมน้ำเหลืองในหน้าอกหลังกระดูกหน้าอก

เมื่อมะเร็งเต้านมแพร่กระจายจากจุดเดิมที่มันอยู่ ไปสู่ส่วนอื่นในร่างกาย เนื้องอกใหม่ก็จะมีเซลล์ที่ผิดปกติแบบเดียวกันและชื่อเดียวกันกับเนื้องอกดั้งเดิม เช่น หากมะเร็งเต้านมนั้นแพร่กระจายไปสู่ปอด ก็จะถือว่าเซลล์มะเร็งที่อยู่ในปอดนี้แท้จริงแล้วคือเซลล์มะเร็งเต้านม และเรียกว่า โรคมะเร็งเต้านมที่แพร่กระจาย ไม่ใช่มะเร็งปอด

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม

ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้มีดังนี้

  • อายุและเพศ

ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมจะเพิ่มขึ้นเมื่อคุณมีอายุเพิ่มมากขึ้น กรณีของมะเร็งเต้านมที่รุนแรงส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 50 ปี ผู้ชายก็สามารถเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน แต่โอกาสจะน้อยกว่าผู้หญิงมาก

  • ประวัติการเป็นมะเร็งเต้านมของคนในครอบครัว

คุณจะมีความเสี่ยงสูงขึ้น หากญาติใกล้ชิดเคยเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • กรรมพันธุ์

ความบกพร่องยีนที่พบได้มากที่สุดอยู่ในยีน บีอาร์ซเอ1 (BRCA1) และบีอาร์ซีเอ2 (BRCA2) โดยปกติแล้วยีนเหล่านี้จะสร้างโปรตีนที่ช่วยปกป้องคุณจากโรคมะเร็ง หากพ่อแม่ส่งต่อยีนที่บกพร่องมาให้คุณ คุณก็จะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น ผู้หญิงที่มีหนึ่งในยีนที่บกพร่องนี้จะมีความเสี่ยงเพิ่มถึง 80% ในการเกิดมะเร็งเต้านมในช่วงหนึ่งของชีวิต

ผู้หญิงที่มีประจำเดือนเร็ว (ก่อนอายุ 12 ปี) หรือผ่านวัยหมดประจำเดือนช้า (หลังจากอายุ 55 ปี) จะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ มีดังนี้

  • การดื่มสุรา

การดื่มสุรามากกว่า 1 ถึง 2 แก้วต่อวันอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านม

  • การคลอดบุตร

ผู้หญิงที่ไม่เคยตั้งครรภ์หรือหรือมีลูกคนแรกหลังจากที่อายุ 30 ปี มีความเสี่ยงมากกว่าที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านม การตั้งครรภ์มากกว่า 1 ครั้ง หรือการตั้งครรภ์ตั้งแต่ยังสาวจะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งเต้านม

  • ยาไดเอธิลสติลเบสตรอล (DES)

ผู้หญิงที่ใช้ยาไดเอธิลสติลเบสตรอลเพื่อป้องกันการแท้งบุตรอาจมีความเสี่ยงในการเป้นโรคมะเร็งเต้านมมากขึ้นหลังจากอายุ 40 ปี มีการใช้ยานี้กับผู้หญิงเมื่อช่วงปีค.ศ. 1949 ถึงช่วงปีค.ศ. 1960

คุณจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นหากคุณผ่านการทำฮอร์โมนบำบัดด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) เป็นเวลาหลายปี

โรคอ้วนนั้นมีความเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งเต้านม แม้ว่าความเกี่ยวข้องนี้จะไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วนจะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนมากกว่า ซึ่งอาจทำให้โรคมะเร็งเต้านมขึ้น

  • การฉายรังสี

หากคุณรับการฉายรังสีบำบัด (radiation therapy) เพื่อรักษาโรคมะเร็งที่บริเวณหน้าอกในสมัยเด็กหรือช่วงหนุ่มสาว คุณก็จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านมสูงขึ้น ยิ่งเริ่มการฉายรังสีเมื่ออายุน้อยเท่าไหร่ และใช้ขนาดยาสูงเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรับการฉายรังสีขณะที่เต้ามนมเริ่มมีพัฒนาการ

การปลูกถ่ายเต้านม การใช้สารระงับเหงื่อ (antiperspirants) และการใช้บราเสริมโครง (Underwired Bra) ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งเต้านม ยังไม่มีหลักฐานเชื่อมต่อโดยตรงระหว่างโรคมะเร็งเต้านมกับยาฆ่าแมลง

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านม

แพทย์อาจวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมในช่วงแรก ด้วยการซักประวัติทางการแพทย์และตรวจร่างกายเพื่อตรวจสอบสัญญาณของสุขภาพทั่วไป รวมทั้งตรวจสอบสัญญาณของการเป็นโรค เช่น ก้อนเนื้อหรือสิ่งอื่น ๆ ที่ผิดปกติ

การตรวจสอบเพื่อวินิจฉัยและเฝ้าสังเกตผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม มีดังนี้

  • การตรวจเต้านมโดยแพทย์

การตรวจสอบเต้านมโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ แพทย์จะสัมผัสที่บริเวณเต้านมและใต้วงแขนอย่างละเอียดเพื่อหาก้อนเนื้อหรือสิ่งที่ผิดปกติ

  • การตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม

การตรวจเอกซเรย์เต้านมที่ใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป

  • การตรวจอัลตราซาวด์

กระบวนการที่ใช้คลื่นเสียงพลังงานสูง หรืออัลตราซาวด์ (ultrasound) เพื่อสะท้อนภาพของเนื่อเยื่อและอวัยวะภายใน เสียงสะท้อนนั้นจะสร้างภาพของเนื้อเยื่อในร่างกายเรียกว่าโซโนแกรม (sonogram) สามารถพิมพ์รูปภาพนั้นเพื่อดูภายหลังได้

  • การสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็กหรือเอ็มอาร์ไอ (MRI)

กระบวนการที่ใช้แม่หล็ก คลื่นวิทยุ และคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างชุดของภาพรายละเอียดของเต้านมทั้งสองข้าง กระบวนการนี้เรียกว่าการสร้างภาพจากการเรโซแนนซ์ของนิวเคลียสด้วยแม่เหล็ก (NMRI)

  • การศึกษาเคมีในเลือด

กระบวนการในการตรวจตัวอย่างของเลือดเพื่อตรวจสอบปริมาณของสารบางชนิดที่อวัยวะและเนื้อเยื่อปล่อยเข้าสู่เลือด ปริมาณของสารที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะน้อยกว่าหรือมากกว่าปกติ อาจเป็นสัญญาณของโรคได้

  • การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ

นักพยาธิวิทยาจะตัดเอาเซลล์หรือเนื้อเยื่อไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อตรวจสอบหาสัญญาณของโรคมะเร็ง หากพบก้อนเนื้อในเต้านมก็อาจมีการทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจต่อไป

การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อตรวจหาโรคมะเร็งเต้านมนั้นมีอยู่ 4 ประเภท ได้แก่

  1. การตัดชิ้นเนื้อทั้งหมดเพื่อการวินิจฉัย การตัดก้อนเนื้อเยื่อทั้งหมดออกไป
  2. การตัดชิ้นเนื้อบางส่วนเพื่อการวินิจฉัย การตัดก้อนเนื้อเยื่อบางส่วนออกไป
  3. การตัดชิ้นเนื้อโดยใช้เข็มเจาะการตัดเนื้อเยื่อออกไปโดยใช้เข็มแบบกว้าง
  4. การตัดชิ้นเนื้อโดยใช้เข็มขนาดเล็กการตัดเนื้อเยื่อออกไปโดยใช้เข็มขนาดเล็ก

หากแพทย์ทราบว่าคุณเป็นโรคมะเร็งเต้านม จะต้องมีการตรวจสอบเพิ่มขึ้นเป็นระยะ เพื่อดูว่าโรคมะเร็งนั้นแพร่กระจายหรือไม่ การตรวจเป็นระยะนี้ถือเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการกำหนดแนวทางในการรักษามะเร็งเต้านมของคุณ และยังทำให้ทราบว่าควรคาดหวังอะไรในอนาคต

ระยะของโรคมะเร็งเต้านมนั้นมีทั้งแต่ 0-4 ยิ่งมีระยะสูงเท่าไหร่ยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

การรักษามะเร็งเต้านม

การรักษานั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ดังนี้

  • ชนิดและระยะของโรคมะเร็ง
  • โรคมะเร็งนั้นมีปฏิกิริยาไวต่อฮอร์โมนบางชนิดหรือไม่
  • โรคมะเร็งนั้นสร้างยีนเอชอีอาร์2 หรือเอ็นอียู (HER2/neu gene) มามากเกินไปหรือไม่

วิธีรักษาโรคมะเร็งเต้านม เช่น

  • การทำเคมีบำบัด โดยการใช้ยาเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง
  • การฉายรังสีบำบัด เพื่อทำลายเนื่อเยื่อที่เป็นมะเร็ง
  • การผ่าตัดเพื่อกำจัดเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็ง การผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งออกจากเต้านม การผ่าตัดเต้านมทั้งหมดและโครงสร้างโดยรอบออกไป
  • การใช้ยารักษามะเร็งเฉพาะจุด (Targeted therapy) เพื่อโจมตียีนที่เปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง ตัวอย่างหนึ่งของการการใช้ยารักษามะเร็งอย่างตรงจุด คือการทำฮอร์โมนบำบัด โดยการยับยั้งฮอร์โมนบางอย่างที่ทำให้มะเร็งเติบโต

การรักษาโรคมะเร็งนั้นอาจเป็นการรักษาเฉพาะที่หรือทั่วทั้งร่างกายก็ได้

  • การรักษาเฉพาะที่ (Local treatments) เกี่ยวข้องแค่เฉพาะส่วนที่เป็นโรค รูปแบบของการรักษาเฉพาะที่คือ การฉายรังสีบำบัด และการผ่าตัด ซึ่งมักจะมีประสิทธิภาพสำหรับโรคมะเร็งที่ไม่ได้แพร่กระจายออกไปจากเต้านม
  • การรักษาทั่วทั้งร่างกาย (Systemic treatments) ส่งผลกระทบทั่วทั้งร่างกาย รูปแบบของการรักษาทั่วทั้งร่างกายคือการทำเคมีบำบัดและการทำฮอร์โมนบำบัด

ผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะรับการรักษาหลายชนิดร่วมกัน สำหรับโรคมะเร็งในระยะที่หนึ่ง สอง หรือสาม เป้าหมายหลักจะเป็นการรักษา และป้องกันไม่ให้โรคมะเร็งกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้ง สำหรับโรคมะเร็งระยะที่สี่ เป้าหมายจะเป็นการทำให้อาการดีขึ้น และช่วยให้มีชีวิตอยู่นานขึ้น ในกรณีส่วนใหญ่โรคมะเร็งระยะที่สี่นั้น ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

  • ระยะ 0 และโรคมะเร็งในท่อน้ำนม – การรักษาโดยพื้นฐานคือการผ่าตัดก้อนมะเร็งร่วมกับการฉายรังสี
  • ระยะ 1 และ 2การรักษาโดยพื้นฐานคือการผ่าตัดก้อนมะเร็งร่วมกับการฉายรังสี หรือการผ่าตัดเต้านมและต่อมน้ำเหลืองทั้งหมด อาจมีการทำเคมีบำบัด ออร์โมนบำบัด หรือการรักษาเฉพาะที่อื่น ๆ หลังจากการผ่าตัด
  • ระยะ 3 – การรักษานั้นมีทั้งการผ่าตัด และอาจตามด้วยการทำเคมีบำบัด และการรักษาเฉพาะที่อื่น ๆ
  • ระยะ 4 – การรักษาอาจมีทั้งการผ่าตัด การฉายรังสี เคมีบำบัด ฮอร์โมนบำบัด หรือการรักษาเฉพาะที่ หรือใช้การรักษาเหล่านี้ร่วมกัน

หลังจากการรักษาอาจต้องรับประทานยาในช่วงเวลาหนึ่ง และอาจต้องมีการตรวจเลือด การตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม และการตรวจอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง

ผู้หญิงที่ผ่านการผ่าตัดเต้านมทั้งหมด อาจต้องมีการผ่าตัดแก้ไขเต้านม (reconstructive breast surgery) สามารถทำได้ตั้งแต่ขณะการผ่าตัดเต้านมทั้งหมดหรือทำหลังจากนั้น

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับมะเร็งเต้านม

การเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการเยียวยาตนเอง ที่อาจช่วยรับมือโรคมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง มีดังนี้

โภชนาการ

การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์นั้นมีความสำคัญตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังจากการรักษาโรคมะเร็ง คุณควรได้รับปริมาณของแคลอรี่ที่ถูกต้อง เพื่อรักษาน้ำหนักตัวที่ดี และควรรับประทานโปรตีนเพื่อให้มีแรง การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์นั้น อาจช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นและมีพลังมากขึ้น

ในบางครั้ง โดยเฉพาะขณะการรักษาหรือไม่นานหลังการรักษา คุณอาจรู้สึกไม่อยากอาหาร รู้สึกไม่สบายหรือเหนื่อยล้า หรือรู้สึกว่ารสชาติของอาหารนั้นไม่อร่อยเหมือนเคย นอกจากนี้ อาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน แผลพุพองในปาก และผลข้างเคียงอื่น ๆ จากการรักษาอาจยิ่งทำให้การกินเป็นเรื่องที่ยาก แต่ในทางกลับกัน ผู้หญิงบางคนที่รักษาโรคมะเร็งเต้านมอาจมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น

การดูแลติดตามผล

คุณจำเป็นต้องตรวจร่างกายเป็นประจำ (เช่น ทุก ๆ 3 ถึง 6 เดือน) หลังจากการรักษาโรคมะเร็งเต้านม การตรวจร่างกายจะช่วยให้คุณแน่ใจว่า ตรวจพบการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพทุกอย่าง และรับการรักษาหากจำเป็น หากคุณมีปัญหาสุขภาพระหว่างรอบการตรวจร่างกายควรติดต่อหาแพทย์ในทันที การตรวจร่างกายนั้นจะช่วยบ่งชี้ดังต่อไปนี้

  • โรคมะเร็งเต้านมที่กลับมาหลังจากการรักษา : โรคมะเร็งเต้านมนั้นอาจจะย้อนกลับมาที่เต้านมหรือผนังหน้าอก หรืออาจกลับมาที่ส่วนอื่นของร่างกาย เช่นกระดูก ตับ ปอด หรือสมอง
  • ปัญหาสุขภาพที่อาจผลเป็นมาจากการรักษาโรคมะเร็ง
  • โรคมะเร็งเต้านมครั้งใหม่

ควรตรวจร่างกายเป็นประจำ รวมทั้งตรวจคอ ใต้แขน หน้าอก และบริเวณเต้านม

เนื่องจากอาจเกิดมะเร็งเต้านมครั้งใหม่ขึ้นได้ และควรเข้ารับการตรวจด้วยแมมโมแกรมเป็นประจำด้วยคุณอาจไม่จำเป็นต้องตรวจด้วยแมมโมแกรม หากคุณทำการผ่าตัดแก้ไขเต้านม หรือหากคุณผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดโดยไม่ได้ผ่าตัดแก้ไข แพทย์อาจสั่งให้คุณทำการตรวจด้วยภาพแบบอื่น หรือทำการตรวจในห้องแล็บ

เรียนรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม และแหล่งสนับสนุน

เรียนรู้ว่าโรคมะเร็งเต้านมนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของคุณและคนรอบตัวคุณได้ และการเปลี่ยนแปลงนั้นอาจรับมือได้ยาก

ความกังวลเกี่ยวกับการรักษาและการจัดการผลข้างเคียง การอยู่ในโรงพยาบาล และค่ารักษาพยาบาลนั้นเป็นเรื่องปกติ คุณอาจจะรู้สึกกังวลเกี่ยวกับการดูแลครอบครัว รักษาตำแหน่งงาน หรือการดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องปกติที่คุณ ครอบครัวของคุณ และเพื่อนของคุณจะช่วยกันจัดการกับปัญหาเหล่านี้

มีหลายองค์กรที่มีข้อเสนอพิเศษให้แก่ผู้หญิงที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม ผู้ที่เคยผ่านการเป็นโรคมะเร็งนั้นจะทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว พวกเขาอาจจะมาคุยหรือมาเยี่ยมผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม ให้ข้อมูล และให้การสนับสนุนทางอารมณ์ พวกเขามักจะแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็งเต้านม การผ่าตัดแก้ไขเต้านม และการฟื้นฟู

สิ่งที่จะสนับสนุนมีดังนี้

  • แพทย์ พยาบาล และสมาชิกอื่น ๆ ในทีมดูแลสามารถให้คำตอบเกี่ยวกับการรักษา การทำงาน หรือกิจกรรมอื่น ๆ
  • นักสังคมสงเคราะห์ ผู้ให้คำปรึกษา หรือสมาชิกกลุ่มศาสนา อาจเป็นประโยชน์ หากคุณต้องการปรึกษาเกี่ยวกับความรู้สึกหรือข้อกังวลใจ บ่อยครั้งที่นักสังคมสงเคราะห์อาจช่วยแนะนำแหล่งที่ให้การสนับสนุนทางด้านเงิน การเดินทาง การดูแลบ้าน หรือการสนับสนุนทางอารมณ์
  • กลุ่มช่วยเหลือก็สามารถช่วยเหลือคุณได้เช่นกัน ในกลุ่มเหล่านี้จะมีผู้หญิงที่เคยเป็นโรคมะเร็งเต้านม หรือสมาชิกในครอบครัวมาพบกับผู้ป่วย หรือสมาชิกคนอื่นในครอบครัว เพื่อแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้ในการจัดการกับโรคและผลจากการรักษา กลุ่มนี้สามารถให้การช่วยเหลือด้วยตัวบุคคล ผ่านทางโทรศัพท์ หรือผ่านทางอินเทอร์เน็ต คุณอาจสามารถพูดคุยกับสมาชิกในทีมดูแลสุขภาพ เกี่ยวกับวิธีการหากลุ่มสนับสนุนเหล่านี้

ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมมักจะรวมกันเป็นกลุ่มในกลุ่มสนับสนุน แต่ควรจำไว้ว่าแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน วิธีการที่คน ๆ หนึ่งใช้ในการจัดการกับโรคมะเร็งอาจไม่เหมาะสมกับอีกคน คุณควรสอบถามผู้ดูแลสุขภาพเกี่ยวกับคำแนะนำที่คุณได้รับมา

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Final Recommendation Statement: BRCA-related cancer: Risk assessment, genetic counseling, and genetic testing. U.S. Preventive Services Task Force. http://www.uspreventiveservicestaskforce.org/Page/Document/RecommendationStatementFinal/brca-related-cancer-risk-assessment-genetic-counseling-and-genetic-testing. Accessed June 3, 2020

National Cancer Institute: PDQ Breast Cancer Treatment. Bethesda, MD: National Cancer Institute. Date last modified 08/22/2013. Available at: http://www.cancer.gov/cancertopics/pdq/treatment/breast/healthprofessional. Accessed June 3, 2020

National Comprehensive Cancer Network. NCCN Clinical Practice Guidelines in Oncology (NCCN Guidelines): Breast cancer. Version 3.2013. Available at: http://www.nccn.org/professionals/physician_gls/pdf/breast.pdf. Accessed June 3, 2020

What you need to know about Breast cancer. http://www.cancer.gov/publications/patient-education/wyntk-breast.pdf. Accessed June 3, 2020

Breast Cancer Treatment. http://www.cancer.gov/types/breast/patient/breast-treatment-pdq. Accessed June 3, 2020

Breast Cancer. https://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/000913.htm. Accessed June 3, 2020

Cancer Complications. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cancer/basics/complications/con-20032378. Accessed June 3, 2020

Breast Cancer Symtoms. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/breast-cancer/basics/symptoms/con-20029275. Accessed June 3, 2020

WHO – 10 Facts on Cancer. http://www.who.int/features/factfiles/cancer/facts/en/index4.html. Accessed June 3, 2020

WHO – Cancer. http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs297/en/. Accessed June 3, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

19/08/2021

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์


บทความที่เกี่ยวข้อง

มาทำความเข้าใจ ระยะมะเร็งเต้านม ที่ทุกคนควรรู้

ประเภทของมะเร็งเต้านม และการตรวจวินิจฉัย



เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 19/08/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา