backup og meta

ทำความรู้จักกับ มะเร็งท่อน้ำดี โรคที่หลายคนอาจไม่ค่อยได้ยิน

ทำความรู้จักกับ มะเร็งท่อน้ำดี โรคที่หลายคนอาจไม่ค่อยได้ยิน

มะเร็งถือเป็นโรคเรื้อรังก็ว่าได้ เพราะบางครั้งมักจะไม่ค่อยมีอาการใด ๆ แสดงออกมา หรือแสดงอาการออกมาก็มักจะอยู่ในระยะที่การรักษาค่อนข้างจะลำบากแล้ว สำหรับ มะเร็งท่อน้ำดี ก็เป็นโรคมะเร็งอีกชนิดที่สามารถพบเจอได้ แต่โดยส่วนมากมักจะไม่ค่อยได้ยินมะเร็งชื่อนี้สักเท่าไร งั้นไปทำความรู้จักกันเถอะ

คำจำกัดความ

มะเร็งท่อน้ำดี คืออะไร

ท่อน้ำดี คือ ท่อขนาดเล็กที่เชื่อมระหว่างตับกับถุงน้ำดีไปยังลำไส้เล็ก โดยมีหน้าที่หลัก คือ ปล่อยของเหลวที่เรียกว่า “น้ำดี” โดยน้ำดีนั้นจะถูกสร้างจากตับ แล้วถูกนำมาเก็บไว้ในถุงน้ำดี และส่งเข้าไปในลำไส้เล็ก ซึ่งช่วยในเรื่องของการย่อยไขมันในอาหาร

สำหรับ โรคมะเร็งท่อน้ำดี (Cholangiocarcinoma) เป็นก้อนเนื้อร้ายที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุผนังของท่อทางเดินน้ำดี ซึ่งรวมถึงท่อน้ำดีภายในตับ และท่อน้ำดีภายนอกตับ ซึ่งอาจไปกดทับหรือเบียดจนลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง ซึ่งประกอบด้วยตับ ตับอ่อน หรือลําไส้เล็กส่วนต้น

ชนิดของ โรคมะเร็งท่อน้ำดี

โรคมะเร็งท่อน้ำดี สามารถแบ่งชนิดได้จากตำแหน่ง เนื่องจาก ท่อน้ำดีมีส่วนที่อยู่ภายในตับและข้างนอกตับ จึงแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  • มะเร็งท่อน้ำดีภายในตับ เกิดจากเซลล์เยื่อบุท่อน้ำดีในตับ ขยายออกมาสู่เนื้อตับข้าง ๆ ทำให้มีลักษณะเหมือนโรคมะเร็งตับ ดังนั้น บางครั้งก็อาจมีการวินิจฉัยที่ผิดว่าเป็น “มะเร็งตับ” ได้
  • มะเร็งท่อน้ำดีภายนอกตับ เกิดจากท่อน้ำดีใหญ่ตั้งแต่ขั้วของตับไปจนถึงท่อน้ำดีส่วนปลาย มะเร็งชนิดนี้ ทำให้เกิดการอุดตันของท่อน้ำดี

โรคมะเร็งท่อน้ำดี พบได้บ่อยแค่ไหน

โรคมะเร็งท่อน้ำดี ส่งผลกระทบต่อผู้คนในสหรัฐอเมริกาประมาณ 8,000 คนในแต่ละปี มะเร็งชนิดนี้เกิดขึ้นบ่อยในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อพยาธิที่พบได้ทั่วไป โรคมะเร็งท่อน้ำดี เกิดขึ้นบ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงโดยไม่ทราบสาเหตุ

อาการ

อาการของ โรคมะเร็งท่อน้ำดี

โดยส่วนใหญ่ โรคมะเร็งท่อน้ำดี ในระยะเริ่มแรกมักไม่ค่อยมีอาการ จนกระทั่งมะเร็งมีขนาดใหญ่จนกดทับหรือเบียดอวัยวะข้างเคียง รวมถึงทางเดินน้ำดีอุดตัน จนก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือที่เรียกว่า ดีซ่าน (Jaundice)
  • ปวดท้องส่วนบนบริเวณใต้ชายโครงขวา อาจมีอาการปวดหลังและไหล่ร่วมด้วย
  • อุจจาระสีซีด ปัสสาวะมีสีเข้ม
  • คันผิวหนังอย่างรุนแรง
  • เหนื่อย อ่อนเพลีย
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เบื่ออาหาร

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

คุณควรไปพบคุณหมอ หากมีอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดท้อง ตัวเหลือง หรืออาการอื่น ๆ ที่แย่ลง

ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดี

ในปัจจุบันยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดในการเกิด โรคมะเร็งท่อน้ำดี ได้ แต่อาจเกิดจากการกลายพันธุ์ขึ้นในยีน การแบ่งตัวของเซลล์ที่มีการเติบโตอย่างไม่สามารถควบคุมได้ รวมถึงปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของ โรคมะเร็งท่อน้ำดี คือ โรคตับเรื้อรัง อายุที่เพิ่มมากขึ้น และการสูบบุหรี่

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งท่อน้ำดี

สำหรับปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็น โรคมะเร็งท่อน้ำดี ได้แก่

  • ท่อน้ำดีอักเสบแบบปฐมภูมิ (Primary Sclerosing Cholangitis) ซึ่งโรคนี้ส่งผลให้ท่อน้ำดีแข็งตัวและเป็นแผลเป็น
  • โรคตับเรื้อรัง แผลเป็นที่ตับเกิดจากประวัติโรคตับเรื้อรัง ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของ โรคมะเร็งท่อน้ำดี
  • ปัญหาท่อน้ำดีตั้งแต่แรกเกิด ผู้ที่เกิดมาพร้อมกับถุงน้ำดีที่เป็นสาเหตุของท่อน้ำดีที่ขยายและผิดปกติ มีความเสี่ยงที่จะเป็น โรคมะเร็งท่อน้ำดี เพิ่มขึ้น
  • พยาธิใบไม้ในตับ ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โรคมะเร็งท่อน้ำดี นั้นมีความเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากการรับประทานปลาดิบหรือปลาที่ปรุงไม่สุก
  • อายุมากขึ้น โรคมะเร็งท่อน้ำดี เกิดขึ้นบ่อยที่สุดในผู้ใหญ่ที่อายุเกิน 50 ปี
  • สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของ โรคมะเร็งท่อน้ำดี

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

การวินิจฉัยมะเร็งท่อน้ำดี

ข้อมูลในนี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

โดยการวินิจฉัยโรคมีดังต่อไปนี้

  • การตรวจภาพรังสีวินิจฉัย
  • อัลตราซาวด์ (Ultrasonography)
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Topography หรือ CT)
  • การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI)

ซึ่งการวินิจฉัยแต่ละประเภทจะมีความแม่นยํา และจําเพาะแตกต่างกันไป

การรักษามะเร็งท่อน้ำดี 

  • การผ่าตัด มักใช้ในกรณีที่มะเร็งยังไม่ลุกลามไปนอกท่อน้ำดี
  • การบำบัดด้วยรังสี ใช้ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดเอามะเร็งออกมาได้ทั้งหมด
  • เคมีบำบัด (คีโม) การรักษาด้วยการใช้ยารักษาเข้าทางหลอดเลือดดำ หรือการรับประทาน
  • ยาที่ใช้รักษามะเร็งท่อน้ำดี โดยตัวยาที่ใช้บ่อยในการรักษา โรคมะเร็งท่อน้ำดี ได้แก่
    • ฟลูออโรยูราซิล
    • เจมไซตาบีน
    • ซิสพลาติน
    • เคปไซตาบิน
    • อ็อกซาลิพลาติน

ในบางกรณี อาจใช้ยาเหล่านี้ร่วมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีวิธีการป้องกัน โรคมะเร็งท่อน้ำดี โดยตรง แต่คุณก็สามารถอาจหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยการ หยุดสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

มะเร็งท่อน้ำดี. https://www.si.mahidol.ac.th/th/department/cancer/knowledgedetail.php?sub=cholangiole. Accessed July 8, 2021

Cholangiocarcinoma (bile duct cancer). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cholangiocarcinoma/symptoms-causes/syc-20352408. Accessed July 8, 2021

What Is Bile Duct Cancer?. https://www.cancer.org/cancer/bile-duct-cancer/about/what-is-bile-duct-cancer.html. Accessed July 8, 2021

Cholangiocarcinoma. https://medlineplus.gov/genetics/condition/cholangiocarcinoma/. Accessed July 8, 2021

Treating Bile Duct Cancer. https://www.cancer.org/cancer/bile-duct-cancer/treating.html. Accessed July 8, 2021

What is bile duct cancer?. https://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/bile-duct-cancer/about. Accessed July 8, 2021

 

 

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

19/07/2021

เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคมะเร็งเน็ต อย่าประมาท ถึงพบน้อยแต่ก็คร่าชีวิตได้

รู้หรือไม่ ภาวะแทรกซ้อนจากมะเร็ง มีอะไรบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 19/07/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา