การนอนดึกและความเกี่ยวข้องกับภาวะดื้ออินซูลิน
การนอนดึกนอกจากจะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อภาวะดื้ออินซูลินอีกด้วย เนื่องจากคุณภาพการนอนและจำนวนชั่วโมงในการนอนที่น้อยเกินไปทำให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติ
ภาวะดื้ออินซูลิน หมายถึง การที่ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แต่อินซูลินมีความผิดปกติจึงทำหน้าที่บกพร่องไม่สามารถลำเลียงน้ำตาลออกจากกระแสเลือด ภาวะดื้ออินซูลินจึงทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในบุคคลทั่วไปหรือผู้มีภาวะก่อนเบาหวาน
และในระยะยาวหากตับอ่อนผลิตอินซูลินออกมามากกว่าเดิม จะทำให้ตับอ่อนเกิดความเสียหายและไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ กลายเป็นภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานเช่นกัน
การศึกษาของศูนย์การแพทย์ Cedars-Sinai ในสหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ. 2558 ชี้ว่า การอดนอน 1 คืน อาจส่งผลให้เซลล์ในร่างกายดื้ออินซูลิน เทียบเท่าการรับประทานอาหารไขมันสูงเป็นเวลา 6 เดือน
นอกจากนี้ การทดลองหนึ่งโดยมหาวิทยาลัย Harvard ในสหรัฐอเมริกา ให้อาสาสมัคร 21 คนนอนหลับเพียงวันละ 5.6 ชั่วโมงเป็นเวลา 3 สัปดาห์ แล้วทำการตรวจอินซูลิน พบว่า ร่างกายของอาสาสมัครกลุ่มดังกล่าวมีระดับฮอร์โมนอินซูลินหลังมื้ออาหารลดลง จึงอาจกล่าวได้ว่า การนอนดึกหรือนอนน้อย มีส่วนให้ร่างกายมนุษย์ผลิตอินซูลินน้อยลง
ความสัมพันธ์ระหว่างการนอนดึกและความอยากอาหาร
การนอนดึกหรือนอนน้อย ส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเลปติน (Leptin) หรือฮอร์โมนที่ช่วยทำให้รู้สึกอิ่มได้น้อยลง ในขณะที่ผลิตฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความอยากอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้งหรือน้ำตาล ซึ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ง่าย
สอดคล้องกับการศึกษาหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Clinical Nutrition ปี พ.ศ. 2559 ระบุว่าผู้ที่นอนน้อย มีแนวโน้มจะรับประทานอาหารมากกว่าเดิม ประมาณ 385 กิโลแคลอรี่่ต่อวัน
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย