backup og meta

Hypoglycemia คืออะไร อาการและความเสี่ยง

Hypoglycemia คืออะไร อาการและความเสี่ยง

Hypoglycemia คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ พบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน มีสาเหตุจากการรักษาด้วยยาชนิดรับประทานหรือยาฉีดเบาหวาน อาการของ Hypoglycemia ที่อาจพบได้คือ ใจเต้นเร็ว เวียนหัว ตาพร่ามัว หิวบ่อย และในกรณีของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขั้นรุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาทันเวลา อาจชัก หมดสติ หรือเสียชีวิตได้

[embed-health-tool-bmr]

คำจำกัดความ

Hypoglycemia คืออะไร

Hypoglycemia หมายถึง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ พบได้ในผู้ป่วยเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 และ 2 เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานต้องรักษาระดับน้ำตาลในเลือดด้วยการฉีดอินซูลิน ทั้งนี้ อาจเกิดกับผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน แต่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ โรคไต

ผู้ป่วยน้ำตาลในเลือดต่ำ จะมีระดับน้ำตาลที่ 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือต่ำกว่า โดยอ้างอิงจาก แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2560 ส่วนในคนปกติ เมื่อตรวจเลือดหลังอดอาหารมาแล้ว 8 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลจะอยู่ระหว่าง 70-100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร  อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบว่าระดับน้ำตาลสูงกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจหมายความว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน หรือกำลังเป็นโรคเบาหวานอยู่

อาการ

อาการของ Hypoglycemia

ผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมักมีอาการดังต่อไปนี้

  • ตัวสั่น
  • วิตกกังวล
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • เวียนศีรษะ
  • คลื่นไส้
  • หิวมากเป็นพิเศษ
  • ง่วงซึม
  • หมดแรง ขาดพลังงาน
  • ตาพร่ามัว
  • ปวดหัว
  • ฝันร้ายหรือร้องไห้ระหว่างนอนหลับ

นอกจากนี้ อาจพบภาวะ Hypoglycemia ขณะนอนหลับได้ด้วยซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหารุนแรง โดยมีอาการ เช่น ร้องตะโกน ฝันร้าย เหงื่อออก เหนื่อยหอบหลังรู้สึกตัวตื่น

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยภาวะ Hypoglycemia บางรายอาจไม่พบอาการผิดปกติ หรือเรียกว่าเป็น Hypoglycemia Unawareness เนื่องจากการเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำก่อนหน้านั้น ซึ่งทำให้สมองไม่กระตุ้นให้ร่างกายแสดงอาการผิดปกติใด ๆ ออกมา

นอกจากนั้น ผู้ป่วย Hypoglycemia Unawareness มีแนวโน้มเผชิญกับภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขั้นรุนแรง เพราะ Hypoglycemia Unawareness ทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตัวเองมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำตั้งแต่ในระยะแรก ๆ หากมีอาการรุนแรง สมองอาจหยุดการทำงานและทำให้ช็อกหมดสติได้

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

ผู้ที่มีภาวะ Hypoglycemia หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรไปพบคุณหมอเมื่อมีอาการดังนี้

  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เมื่อมีอาการหรือสัญญาณเตือนของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และอาการไม่ทุเลาลงหลังจากดื่มน้ำผลไม้ น้ำอัดลม หรือกินขนมหวาน ตามกฎ 15-15 หรือการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดต่ำด้วยตัวเอง โดยการบริโภคคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม เช่น นมไขมันต่ำ โยเกิร์ตธรรมชาติ สลัดผลไม้ แอปเปิ้ล ส้ม ธัญพืช บร็อกโคลี่ แล้วหลังจากนั้น 15 นาทีให้วัดระดับน้ำตาลในเลือด หากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ให้บริโภคคาร์โบไฮเดรตเพิ่มอีก 15 กรัม และหากระดับน้ำตาลในเลือดยังไม่สูงขึ้น ควรไปพบคุณหมอ
  • ผู้ที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน เมื่อพบอาการหรือสัญญาณเตือนของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น เวียนหัว คลื่นไส้ ง่วงซึม อ่อนเพลีย โดยไม่ทราบสาเหตุ

สาเหตุ

สาเหตุของ Hypoglycemia

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมักพบในผู้ป่วยเบาหวาน โดยมีสาเหตุจากการใช้อินซูลินไม่เหมาะสม การฉีดอินซูลินผิดประเภท หรือการฉีดเข้ากล้ามเนื้อแทนการฉีดใต้ผิวหนัง นอกจากนี้ การรับประทานอาหารน้อยเกินไป หรือออกกำลังกายมากเกินไป ก็สามารถทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำได้เช่นกัน

ในกรณีของผู้ไม่เป็นเบาหวาน สาเหตุของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมักมีดังนี้

  • การบริโภคคาร์โบไฮเดรตน้อยเกินไป โดยคาร์โบไฮเดรตเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะถูกย่อยเป็นน้ำตาลกลูโคสแล้วลำเลียงผ่านเส้นเลือดไปยังเซลล์ต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นพลังงานแก่ร่างกาย หากได้รับคาร์โบไฮเดรตไม่เพียงพอ ร่างกายอาจเกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้
  • ยาบางอย่าง เช่น ควินิน (Quinine) ซึ่งใช้รักษาผู้ป่วยมาลาเรีย เนื่องจากยาควินินไปกระตุ้นตับอ่อนให้ผลิตฮอร์โมนอินซูลินออกมามากเกินไป
  • การอดอาหาร ทำให้เกิดการเสียสมดุล ระหว่างปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายผลิตได้และปริมาณที่ร่างกายต้องใช้
  • โรคบางโรค เช่น ตับแข็ง การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยเฉพาะการรักษาโรคเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อระดับกลูโคสในร่างกาย
  • การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก โดยไม่รับประทานอาหาร จะขัดขวางไม่ให้ตับดึงน้ำตาลที่เก็บไว้ออกมาเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนของร่างกาย อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้
  • การผลิตอินซูลินมากเกินไป เนื่องจากโรคเนื้องอกตับอ่อนที่ผลิตอินซูลิน (Insulinoma) ทำให้ผลิตอินซูลินมากเกินไปส่งผลให้ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โดยการวินิจฉัย อาจทำได้จากการตรวจเลือด และ CT scan

การวินิจฉัยและรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัย Hypoglycemia

เมื่อไปพบคุณหมอ คุณหมอจะซักถามประวัติสุขภาพ โรคประจำตัว ประวัติการเข้ารับการรักษาโรค และตรวจสุขภาพโดยทั่วไปรวมทั้งเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือด

ในกรณีของผู้ป่วยเบาหวาน คุณหมออาจวินิจฉัยว่ามีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำทันที โดยพิจารณาจากระดับน้ำตาลในเลือด

สำหรับผู้ไม่เป็นโรคเบาหวาน นอกจากตรวจเลือด คุณหมอจะสอบถามเพิ่มเติมถึงอาการอื่น ๆ รวมถึงอาจให้อดอาหารข้ามคืน เพื่อรอให้อาการของโรคแสดงออกมาและวินิจฉัยเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ในกรณีของผู้ที่มีอาการของโรคหลังมื้ออาหาร คุณหมออาจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว

การรักษา Hypoglycemia

การรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจทำได้ดังนี้

  • ค่อย ๆ เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ในกรณีของการดูแลตัวเองเบื้องต้น คือ การดื่มน้ำหวาน รับประทานขนมหวาน ช็อกโกแลต หรือเม็ดกลูโคส น้ำผึ้ง ไม่ควรดื่มน้ำอัดลมชนิดไดเอท เพราะในน้ำอัดลมอาจมีแต่สารให้ความหวานแต่ไม่มีน้ำตาล
  • เปลี่ยนตัวยาหรือหยุดรับประทานยา คุณหมอจะวินิจฉัยการรักษาโรคอื่น ๆ ประกอบ หากพบว่ายาที่ใช้รักษาเป็นสาเหตุของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ คุณหมออาจประเมินการรักษาใหม่โดยให้หยุดใช้หรือเปลี่ยนยา
  • รักษาโรคหรือความผิดปกติทางสุขภาพ ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น เบาหวาน โรคตับอักเสบ โรคไต โรคกลัวอ้วน (Anorexia)

การรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขั้นรุนแรง อาจทำได้ดังนี้

  • ฉีดกลูคากอน (Glucagon) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากตับอ่อน จะไปช่วยกระตุ้นให้ตับปล่อยน้ำตาลที่กักเก็บไว้ออกมา โดยคุณหมอหรือพยาบาลจะฉีดกลูคากอน ในกรณีที่ร่างกายเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขั้นรุนแรง มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร มีอาการผิดปกติ เช่น ชัก หลง สับสน หมดสติ
  • ฉีดน้ำตาลกลูโคสเข้าเส้นเลือดดำ เฉพาะกรณีฉุกเฉินที่ผู้ป่วยหมดสติ ไม่สามารถรับประทานของหวานทางปาก ทำได้โดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และต้องระวังสำหรับผู้ป่วยที่แพ้ข้าวโพดเนื่องจากเป็นน้ำตาลกลูโคสที่สกัดมาจากข้าวโพด

การปรับพฤติกรรมและการดูแลตัวเอง

เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงภาวะ Hypoglycemia หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • รับประทานอาหาร 3 มื้อ/วัน ไม่ควรข้ามมื้อใดมื้อหนึ่ง เพื่อให้ร่างกายได้สารอาหารครบถ้วน
  • รับประทานของว่างระหว่างมื้อ ในกรณีคุณหมออนุญาต โดยเฉพาะกรณีผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำตาล
  • กรณีผู้ป่วยเบาหวาน ฉีดอินซูลินเข้าสู่ร่างกายในปริมาณเหมาะสม ตามเวลาที่กำหนด และฉีดให้ถูกวิธีตามคำแนะนำของคุณหมอ
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่พอดี และควรรับประทานอาหารก่อนดื่ม
  • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารหรือของว่างซึ่งมีคาร์โบไฮเดรตซึ่งให้พลังงานก่อนออกกำลังกาย เช่น ขนมปังโฮลวีต

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Low blood sugar (hypoglycaemia). https://www.nhs.uk/conditions/low-blood-sugar-hypoglycaemia/. Accessed April 30, 2023.

Hypoglycemia. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hypoglycemia/diagnosis-treatment/drc-20373689. Accessed April 30, 2023.

Low Blood Glucose (Hypoglycemia). https://www.niddk.nih.gov/health-information/diabetes/overview/preventing-problems/low-blood-glucose-hypoglycemia. Accessed April 30, 2023.

Hypoglycemia (Low Blood sugar). https://www.diabetes.org/healthy-living/medication-treatments/blood-glucose-testing-and-control/hypoglycemia. Accessed April 30, 2023.

Hypoglycemia (Low Blood Sugar). https://www.webmd.com/diabetes/hypoglycemia-overview. Accessed April 30, 2023.

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/04/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ป้องกันน้ำตาลในเลือดพุ่งสูง แค่ปรับไลฟ์สไตล์ในชีวิตง่ายๆ ก็สุขภาพดีแล้ว

ระดับน้ำตาลในเลือด และการวัดระดับน้ำตาลในเลือด


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 30/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา