อาการของเบาหวาน
อาการของเบาหวาน อาจมีดังนี้
- เหนื่อยง่าย
- ปวดปัสสาวะบ่อย
- หิวบ่อย กระหายน้ำมากกว่าปกติ
- น้ำหนักลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุในเวลาอันสั้น
- มีอาการชาที่มือและเท้า
- สายตาพร่ามัว
- แผลหายช้ากว่าปกติ
- ผิวแห้ง หยาบกร้าน
- มีการติดเชื้อราที่ผิวหนัง เหงือก กระเพาะปัสสาวะ หรือช่องคลอดบ่อยครั้ง
- เป็นโรคผิวหนังช้าง เกิดเป็นรอยปื้นสีคล้ำที่บริเวณข้อพับต่าง ๆ เช่น หลังคอ รักแร้ ขาหนีบ
ภาวะแทรกซ้อนเบาหวาน มีอะไรบ้าง
ภาวะแทรกซ้อนเบาหวานที่เกิดขึ้นทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย ดังนี้
ภาวะแทรกซ้อนเบาหวานแบบเฉียบพลัน
เป็นภาวะเเทรกซ้อนที่พบได้ในผู้ที่เป็นเบาหวาน แม้จะได้รับการวินิจฉัยมาไม่นาน ซึ่งขึ้นอยู่กับการดูเเลสุขภาพของเเต่ละบุคคล
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นหากผู้ที่เป็นเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการที่ร่างกายได้รับยาลดระดับน้ำตาล หรือยาฉีดอินซูลินมากเกินไป ออกกำลังกายหักโหม หรือรับประทานอาหารผิดเวลา หรือน้อยลงมากกว่าปกติ จัดเป็นภาวะที่อันตราย ซึ่งอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการสับสน เวียนศีรษะ หิวหรือโหยมาก อารมณ์แปรปรวน ใจสั่น ตัวเย็น เหงื่อออกมาก หรืออาจหมดสติหรือชักได้
- ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เป็นภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานสูงมากกว่า 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งอาจเกิดจากความเครียดของทั้งร่างกายและจิตใจ การรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป รับประทานยาหรือฉีดอินซูลินไม่สม่ำเสมอ ส่งผลทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ น้ำหนักลดและอ่อนเพลีย ในบางรายอาจรุนแรงจนเกิดภาวะเลือดเป็นกรด และภาวะเลือดข้นจากน้ำตาลสูงได้
ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังของเบาหวาน
ภาวะแทรกซ้อนเบาหวานแบบเรื้อรัง มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเกณฑ์มาเป็นระยะประมาณ 5 ปีขึ้นไป เเต่ในผู้ที่ละเลยการดูแลตัวเองและไม่ค่อยตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ทำให้กว่าจะวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานก็มีอาการลุกลามและส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายไปเเล้ว โดยภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังของคเบาหวานแบบเรื้อรัง อาจมีดังนี้
- สุขภาพผิว อาจมีอาการผิวเเห้ง คัน ทำให้ระคายเคืองได้ง่าย และเสี่ยงต่อการติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังได้ง่ายขึ้น
- ภาวะซึมเศร้า เนื่องจากเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีความกังวล จนเกิดเป็นภาวะซึมเศร้าในที่สุด ในบางภาวะซึมเศร้านี้ ทำให้ผู้ป่วยอาจไม่สนใจดูเเลสุขภาพของตัวเอง จึงทำให้เบาหวานทรุดลงได้มากขึ้นด้วย
- โรคไต น้ำตาลในเลือดที่สูงเรื้อรังจะทำลายเส้นเลือดขนาดเล็กที่มีหน้าที่กรองของเสียที่ไตจนอาจนำไปสู่ภาวะไตวายเรื้อรังซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากไม่ควบคุมให้ดี อาจจำเป็นต้องล้างไต
- โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตับ อัมพฤกษ์ อัมพาต เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงที่เป็นเวลานานจะทำให้ผนังหลอดเลือดแดงเสื่อมสภาพและเกิดความผิดปกติ เช่น หลอดเลือดอักเสบ หลอดเลือดสูญเสียความยืดหยุ่น หลอดเลือดตีบหรืออุดตัน ส่งผลทำให้เกิดโรคที่กล่าวไปข้างต้นได้
- สุขภาพเท้า เบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดีจะส่งผลทำให้ทั้งเส้นเลือดและเส้นประสาทส่วนปลายเสือม ทำให้นอกจากจะมีอาการเท้าชา รับความรู้สึกลดลง เสี่ยงต่อการเกิดแผลเเล้ว ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายอีกด้วย หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจเป็นแผลเรื้อรัง และอาจต้องตัดเท้าในบางราย
- เส้นประสาทเสื่อมจากเบาหวาน ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดที่สูงจะทำลายผนังหลอดเลือดของเส้นเลือดฝอย ที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาทโดยเฉพาะบริเวณส่วนปลาย เช่น มือและขา ทำให้มีการรับความรู้สึกบริเวณนั้น ๆ ผิดปกติไป เช่น รู้สึกเสียวซ่า ชา แสบร้อนหรือปวดบริเวณปลายมือหรือปลายเท้า
- ปัญหาจอประสาทตา น้ำตาลในเลือดสูงไปทำลายหลอดเลือดบริเวณจอประสาทตา ส่งผลทำให้การมองเห็นบกพร่อง และอาจทำให้เกิดโรคทางตาอื่นๆ เช่นต้อกระจก ต้อหิน หรือรุนแรงถึงขั้นตาบอดได้
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย