backup og meta

แนวทางการรักษาเบาหวาน มีอะไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 15/03/2023

    แนวทางการรักษาเบาหวาน มีอะไรบ้าง

    เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ส่วนมากเเล้วไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาเเละควบคุมตัวโรคให้ยังคงมีสุขภาพที่ดีได้  โดย แนวทางการรักษาเบาหวาน อาจเริ่มจากการดูแลตัวเองด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย รวมถึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ เช่น การรับประทานยาลดน้ำตาลในเลือด ฉีดอินซูลิน อย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมโรคเบาหวานให้ได้ดีซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปลายประสาทเสื่อม โรคไร และภาวะเลือดเป็นกรด ที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิต

    เบาหวานเกิดจากอะไร

    เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังเกิดจากการที่ตับอ่อนผลิตอินซูลินลดลงหรือผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และเกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งหมายถึง เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้อย่างเหมาะสม จึงไม่สามารถนำนำ้ตาลจากกระเเสเลือดเข้าสู่เซลล์เพื่อมาใช้เป็นพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และนำไปสู่โรคเบาหวานในที่สุด อีกทั้งหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ปล่อยให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างเรื้อรัง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เบาหวานขึ้นตา โรคไตโรคหัวใจและหลอดเลือด เส้นประสาทเสื่อม 

    สำหรับโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดเนื่องจากรกผลิตฮอร์โมนหลายชนิดซึ่งมีฤทธิ์ต้านกับฮอร์โมนอินซูลินเพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลให้ร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลิน นำไปสู่ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อทั้งสุขภาพของคุณเเม่เเละลูกน้อยในครรภ์ ทั้งนี้แนวทางการรักษาอาจแตกต่างกันออกไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน ดังนั้น จึงควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม

    อาการเบาหวานมีอะไรบ้าง

    อาการเบาหวาน อาจมีดังต่อไปนี้

    • เหนื่อยล้าและรู้สึกหิวบ่อย ในสภาวะปกติร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลใช้เป็นแหล่งพลังงานหลักในการทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่เมื่อมีภาวะเบาหวานแล้ว กระบวนการนี้บกพร่องไปจึงทำให้ร่างกายขาดพลังงาน รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย และมีรู้สึกหิวบ่อย
    • กระหายน้ำมากและปัสสาวะบ่อย เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ร่างกายจะขับน้ำตาลส่วนเกินออกทางปัสสาวะจึงทำให้ผู้ที่เป็นเบาหวานเเล้วควบคุมได้ไม่ดีมีอาการปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ จึงเป็นการเสียน้ำออกจากร่างกาย สมองจึงกระตุ้นให้รู้สึกกระหายน้ำ เพื่อให้ดื่มน้ำทดเเทนส่วนที่เสียไป เป็นการป้องกันร่างกายมิให้เกิดภาวะขาดน้ำ
    • ผิวและริมฝีปากแห้ง เกิดจากร่างกายมีภาวะขาดน้ำเนื่องจากปัสสาวะบ่อยเกินไป เเล้วดื่มน้ำทดเเทนไม่เพียงพอ ทำให้ผิวขาดความชุ่มชื้น จึงทำให้ริมฝีปากแห้ง ผิวแห้ง และคันผิวหนังได้
    • ตาพร่ามัว ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังอาจส่งผลให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นตา เช่น จอประสาทตาบวม ทำให้มองเห็นภาพซ้อน และตาพร่ามัวได้
    • ปลายมือและเท้าชา เกิดจากหลอดเลือดส่วนปลายและเส้นประสาทบริเวณปลายมือและเท้าเสียหายจากการที่มีน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานทำให้เกิดอาการชา ได้รับความรู้สึกลดลงแผลหายช้าหากปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังเป็นเวลานาน หลอดเลือดและเส้นประสาทจะเสื่อมสภาพลง ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติไป อีกทั้งยังทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดขาวลดลง จึงทำให้แผลหายช้าและเสี่ยงต่อการติดเชื้อเเทรกซ้อนง่ายกว่าปกติ
    • น้ำหนักลดลงโดยมิได้ตั้งใจ เมื่อร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงานได้อย่างเหมาะสม จึงจำเป็นต้องเผาผลาญไขมันและกล้ามเนื้อมาเพื่อเป็นพลังงานแทน ทำให้เสียมวลกล้ามเนื้อ น้ำหนักของผู้ป่วยจึงลดลง ในบางรายอาจลดลงอย่างกะทันหัน และหากไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะฉุกเฉินรุนเเรงของเบาหวานคือ ภาวะเลือดเป็นกรด

    แนวทางการรักษาเบาหวาน

    แนวทางการรักษาเบาหวาน มีดังนี้

    แนวทางการรักษาเบาหวานด้วยวิธีทางการแพทย์

    1. อินซูลิน 

    ในปัจจุบันมีทั้งการฉีดในรูปแบบปากกาเเละการใช้เครื่องอินซูลินปั๊ม (Insulin pump) เบื้องต้นสามารถเเบ่งชนิดของอินซูลินตามระยะเวลาการออกฤทธิ์ได้ดังนี้

    • อินซูลินออกฤทธิ์เร็วมาก เริ่มออกฤทธิ์ภายใน ​5-15 นาทีหลังฉีด และออกฤทธิ์นานประมาณ 3-5 ชั่วโมง มักใช้สำหรับควบคุมระดับน้ำตาลที่สูงขึ้นหลังมื้ออาหารเเต่ละมื้อ เเละเป็นอินซุลินที่ใช้กับเครื่อง insulin pump 
    • อินซูลินออกฤทธิ์เร็ว เริ่มออกฤทธิ์ภายใน 30 นาทีหลังฉีด และออกฤทธิ์นานประมาณ 5-​8 ชั่วโมง มักใช้สำหรับควบคุมระดับน้ำตาลประจำมื้อ
    • อินซูลินออกฤทธิ์ปานกลาง เริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังฉีด และออกฤทธิ์นานประมาณ 10-18 ชั่วโมง คุณหมออาจให้ฉีดอินซูลินชนิดนี้ 1-2 ครั้งต่อวัน 
    • อินซูลินออกฤทธิ์ยาว เริ่มออกฤทธิ์ภายใน ​1-2 ชั่วโมงหลัง เเละ ออกฤทธิ์นาน ​​20-42 ชั่วโมง จึงมสามารถฉีดอินซูลินชนิดนี้ได้วันละหนึ่งครั้ง 

    2. ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดรับประทาน

    • ยาเมตฟอร์มิน (Metformin) เป็นยาที่ช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลิน เพื่อช่วยให้เซลล์ในร่างกายสามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น
    • เอสจีแอลที ทู อินฮิบิเตอร์ (SGLT2 Inhibitors) เช่น คานากลิโฟลซิน (Canagliflozin) ดาพากลิโฟลซิน (Dapagliflozin) และเอ็มพากลิโฟลซิน (Empagliflozin) เป็นยาที่ออกฤทธิ์เพิ่มการขับน้ำตาลทางปัสสาวะ เเละยังมีผลดีช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เเละ ชะลอการเสื่อมของไตได้
    • ดีพีพี-4 อินฮิบิเตอร์ (DPP-4 Inhibitors) เช่น ซิตากลิปติน (Sitagliptin) แซกซ่ากลิปติน (Saxagliptin) ไลนากลิปติน (Linagliptin) ช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้โดยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนก็ต่อเมื่อมีการรับประทานอาาหาร จึงเป็นยาที่ค่อยข้างปลอดภัยมาก ในเเง่ของการไม่ทำให้เงินภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
    • ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) ออกฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน ตัวอย่างยากลุ่มนี้ ได้แก่ ไกลบูไรด์ (Glyburide) ไกลเมพิไรด์ (Glimepiride) ไกลพิไซด์ (Glipizide) ควรใช้ตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เนื่องจากยากลุ่มนี่อาจทำให้เกิดอาการน้ำตาลต่ำได้หากใช้ไม่เหมาะสม
    • ยากลุ่มไกลไนด์ (Glinides) เช่น รีพาไกลไนด์ (Repaglinide) นาทิไกลไนด์ (Nateglinide) ออกฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินเช่นเดียวกับยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย แต่สามารถออกฤทธิ์ได้เร็วกว่าเเละหมดฤทธิ์รวดเร็วกว่า ยาฉีดกลุ่มจีเเอลพีวัน (Glucagon like Peptide 1 : GLP-1) เช่น ดูรากลูไทด์(Duraglutide) เซมากลูไทด์ (Semaglutide) ลิรากลูไทด์ (Liraglutide) ตัวยาเป็นรูปแบบฉีด นอกจากยากลุ่มนี้จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดเเล้ว ยังมีผลช่วยลดน้ำหนักได้ เนื่องจากยาจะทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวช้าลง อาหารจึงค้างอยู่ในท้องนานขึ้น จึงทำให้รู้สึกอิ่มท้องได้นานขึ้นด้วย อีกทั้งออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ควบคุมความอื่มในสมอง ทำให้รู้สึกไม่อยากอาหารอีกด้วย

    3. การปลูกถ่ายตับอ่อน 

    เป็นวิธีการรักษาสำหรับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 โดยหากสามารถปลูกถ่ายตับอ่อนใหม่ได้สำเร็จ อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาฉีดอินซูลินในการควบคุมระดับน้ำตาลอีก เเต่อย่างไรก็ตาม จำเป็นจะต้องรับประทานยากดภูมิไปตลอดชีวิต เพื่อป้องกันมิให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อต้านตับอ่อนที่ปลูกถ่ายไป

    4. ผ่าตัดลดน้ำหนัก 

    เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2ที่มีโรคอ้วนร่วมด้วย เช่น การผ่าตัดบายพาสกระเพาะอาหาร หรือลดขนาดของกระเพาะ เพื่อลดปริมาณการรับประทานอาหาร และลดการดูดซึมน้ำตาล

    แนวทางการรักษาเบาหวาน ด้วยตัวเอง

    1. รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

    เช่น ผักผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ธัญพืช หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น ขนมหวาน เบเกอร์รี่ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเเนะนำให้ออกกำลังกายที่ระดับความเหนื่อยปานกลาง อย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์ วันละ 30 นาที เช่น วิ่งเหยาะ ๆ เดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน รวมถึงทำงานบ้าน พาสัตว์เลี้ยงออกไปเดินเล่น เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลิน และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

    2. ลดความเครียด

    เพราะความเครียดจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) เพิ่มขึ้น ซึ่งมีฤทธิ์ต้านกับฮอร์โมนอินซูลิน จึงอาจทำให้การทำงานและการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินผิดปกติ จนส่งผลต่อการนำน้ำตาลไปใช้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากขึ้น

    3. ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเองเป็นประจำ

    ผู้ป่วยเบาหวานควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเองเป็นประจำ และจดบันทึกเพื่อแจ้งคุณหมอเมื่อถึงเวลานัดหมายในครั้งถัดไป เพราะการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอาจทำให้ทราบว่าแผนการรักษาและยารักษามีประสิทธิภาพในการช่วยบรรเทาอาการเบาหวาน และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีหรือไม่

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 15/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา