โรคเบาหวานแบบโมโนเจนิก (Monogenic Diabetes) เป็นภาวะกลุ่มหนึ่งของโรคเบาหวาน ซึ่งอาจเกิดจากการกลายพันธุ์ของพ่อแม่หรือความผิดปกติของยีนส์ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ ภาวะขาดน้ำ สำหรับวิธีการรักษาผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาโดยการฉีดฮอร์โมนอินซูลินเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารอาหารและออกกำลังกายที่เหมาะสม
คำจำกัดความ
โรคเบาหวานแบบโมโนเจนิก คืออะไร?
โรคเบาหวานแบบโมโนเจนิก เป็นประเภทของโรคเบาหวานที่พบได้ยาก เกิดจากความผิดปกติของยีนส์หรือกลายพันธุ์มาจากพ่อแม่ ทำให้ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท หลัก ๆ คือ
- เบาหวานในทารกแรกเกิด (Neonatal Diabetes Mellitus: NDM) เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วง 6 เดือนแรกเกิด มีสาเหตุจากความผิดปกติของการพัฒนาตับอ่อน อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานตลอดชีวิต แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจเป็นภาวะนี้เพียงชั่วคราว และกลับมาเป็นอีกครั้งในช่วงวัยรุ่น
- เบาหวานที่เกิดจากความผิดปกติของยีนส์ (Maturity-Onset Diabetes of the Young: MODY) เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงอายุ 25-35 ปี โดยการกลายพันธุ์นี้เกิดจากยีนที่ควบคุมการทำงานของตับอ่อนผิดปกติ
อาการ
อาการของโรคเบาหวานแบบโมโนเจนิก
ผู้ป่วยโรคเบาหวานแบบโมโนเจนิกส่วนใหญ่มีอาการ ดังต่อไปนี้
- ภาวะร่างกายขาดน้ำ
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
- ปัสสาวะบ่อย
- กระหายน้ำ
- ปากแห้ง
- สายตาผิดปกติ เช่น เห็นภาพไม่ชัด สายตาพร่าวมัว
สาเหตุ
สาเหตุของโรคเบาหวานแบบโมโนเจนิก
สาเหตุของโรคเบาหวานแบบโมโนเจนิกส่วนใหญ่อาจเกิดจากการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมจากพ่อหรือแม่ของทารก
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานแบบโมโนเจนิก
ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานแบบโมโนเจนิก มีดังต่อไปนี้
- ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
- สมาชิกในครอบครัวมีประวัติทางสุขภาพเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานมาหลายช่วงอายุคน
- ผู้ที่มีประวัติสุขภาพเกี่ยวกับโรคอ้วน
- ภาวะอื่น ๆ ที่เกิดจากกลายพันธุ์ของยีน เช่น ซีสต์ในไต
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ได้โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยเบาหวานแบบโมโนเจนิก
คุณหมออาจวินิจฉัยโรคเบาหวานแบบโมโนเจนิกเบื้องต้นด้วยการเก็บตัวอย่างเลือดมาตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงการตรวจทางพันธุกรรม หากเกิดการกลายพันธ์บนยีนด้อย แสดงว่ายีนนั้นได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่ผิดปกติจากพ่อและแม่ คุณหมออาจวินิจฉัยว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานแบบโมโนเจนิก
การรักษาโรคเบาหวานแบบโมโนเจนิก
สำหรับวิธีการรักษาโรคเบาหวานแบบโมโนเจนิก อาจขึ้นอยู่กับสาเหตุของแต่ละบุคคล โดยส่วนใหญ่คุณหมออาจแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ในผู้ป่วยบางรายคุณหมออาจแนะนำให้ฉีดอินซูลินหรือยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินเพิ่มขึ้น
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองเพื่อจัดการกับโรคเบาหวานแบบโมโนเจนิก
การดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงโรคเบาหวานแบบโมโนเจนิก มีดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น อาหารมีเส้นใยอาหารสูง อาหารไขมันต่ำ ผักและผลไม้
- ออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลางประมาณ 30 นาทีต่อวัน เช่น แอโรบิก
- ลดน้ำหนักส่วนเกิน ด้วยการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดหัวใจ
[embed-health-tool-bmi]