ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) เป็นอีกหนึ่งภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวานซึ่งต้องใช้ยารับประทานหรือฉีดยาอินซูลินเพื่อลดภาวะน้ำตาลในเลือด จึงอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการใจสั่น อ่อนเพลีย หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ชักและหมดสติได้ ผู้ป่วยเบาหวานรวมทั้งคนใกล้ชิดควรศึกษาและทำความรู้จักกับ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ในผู้ป่วยเบาหวานให้มากขึ้น เพื่อหาวิธีการป้องกันและรับมือได้อย่างถูกต้อง
[embed-health-tool-heart-rate]
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เกิดขึ้นได้อย่างไร
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือ 3.9 มิลลิกรัม/ลิตร โดยสาเหตุส่วนใหญ่ มักเกิดจากการที่ผู้ป่วยรับประทานยาลดระดับน้ำตาลในเลือดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น ออกกำลังกายมากเกินไป รับประทานอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยเบาหวานทุกคน
สาเหตุของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
สาเหตุที่อาจพบได้บ่อยของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน มีดังนี้
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายมากเกินไป โดยไม่ได้ปรับภาวะโภชนาการให้เหมาะสม
- รับประทานอาหารไม่เพียงพอ งดอาหารบางมื้อ
- รับประทานอาหารและยาไม่ตรงเวลา
- ใช้ยาอินซูลินหรือรับประทานยาลดระดับน้ำตาลในเลือดมากเกินไป
อาการที่พบได้บ่อยของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน
ลักษณะอาการที่อาจพบได้บ่อยของภาวะน้ำตาในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน มีดังนี้
- หัวใจเต้นเร็ว
- ฉุนเฉียวง่าย
- รู้สึกสับสน มึนงง
- รู้สึกหิวบ่อย
- ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
- อาการอ่อนเพลีย
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- พูดไม่ชัด
- เหงื่ออกง่าย มีอาการตัวสั่น
- หน้าซีด
อย่างไรก็ตาม อาการอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับสาเหตุและปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ดังนั้น ผู้ป่วยต้องคอยตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือด และสังเกตร่างกายของตนเองเป็นประจำ เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพ ได้แก่ ปากหรือลิ้นเป็นเหน็บชา หน้ามืดเป็นลม เกิดอาการชักหมดสติ ไม่รู้สึกตัวนานกว่า 6 ชั่วโมง
วิธีป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวาน
ในเบื้องต้น หากผู้ป่วยเริ่มมีอาการเข้าข่ายภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรรีบจดบันทึกวันและเวลาที่เกิดอาการขึ้น และปรึกษาคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อรับคำแนะนำ วางแผนในการรักษาใหม่ รวมถึงการปรับพฤติกรรม ดังนี้
- รับประทานอาหารให้ตรงเวลาในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรงดมื้อใดมื้อหนึ่ง หากผู้ป่วยใช้อินซูลินและรับประทานยาเพื่อรักษาเบาหวาน ควรรับประทานอาหารและยาให้ตรงเวลาตามแพทย์สั่ง
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
- หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอย่างเคร่งครัด ไม่ปรับเพิ่มหรือลดยาเอง
- ผู้ป่วยเบาหวานอาจเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วยการดื่มน้ำผลไม้หรืออมลูกอม