7. ข้าวโอ๊ต
ข้าวโอ๊ตเป็นธัญพืช ที่นิยมรับประทานเป็นอาหารเช้าควบคู่กับโยเกิร์ต นม ซีเรียล ข้าวโอ๊ตอุดมไปด้วยไฟเบอร์ละลายน้ำได้หรือที่เรียกว่า เบต้ากลูแคน (Betaglucan) ซึ่งอาจมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบย่อยอาหาร ช่วยควบคุมน้ำหนัก ลดคอเลสเตอรอลและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
จากการศึกษาในวารสาร Nutrients ปี พ.ศ 2558 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของการบริโภคข้าวโอ๊ตในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยทบทวนการศึกษาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 14 ฉบับ พบว่า การรับประทานข้าวโอ๊ตอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและระดับไขมันในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลของการรับประทานข้าวโอ๊ตต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1
8. เมล็ดฟักทอง
เมล็ดฟักทองเป็นหนึ่งใน 13 อาหาร ลดน้ำตาลในเลือด เนื่องจากอุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย เช่น ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม โพแทสเซียม ทองแดง สังกะสี และวิตามินเค ที่อาจช่วยลดความดันโลหิต เพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนเลือด ต้านอนุมูลอิสระ และลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน
การศึกษาในวารสาร Critical Reviews in Food Science and Nutrition เมื่อปี พ.ศ. 2557 ที่ศึกษาเกี่ยวกับเมล็ดฟักทองที่ออกฤทธิ์ช่วยลดน้ำตาลในเลือดและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน พบว่า เมล็ดฟักทองมีกรดพาราอะมิโนเบนโซอิก (Para-Aminobenzoic Acid) ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มวิตามินบี และพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharide) ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน และไตรโกนีลีน (Trigonelline) ที่เป็นสารแอลคาลอยด์ มีคุณสมบัติช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยลดน้ำตาลในเลือด ที่อาจช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้
9. กระเทียม
กระเทียมมีวิตามินซี วิตามินบี และแมงกานีส ที่อาจมีส่วนช่วยป้องกันไข้หวัด ลดความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอล ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ และลดระดับน้ำตาลในเลือด
จากการศึกษาในวารสาร Food & Nutrition Research ปี พ.ศ. 2560 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของการบริโภคกระเทียมในการควบคุมโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยทบทวนการศึกษาที่เกี่ยวข้อง 9 ฉบับ พบว่า การรับประทานกระเทียมในปริมาณ 0.05-1.5 กรัมต่อวัน อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดลงอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังมีระดับคอเลสเตอรอลที่ดีขึ้น
10.ขิง
ขิงเป็นพืชล้มลุก มีลักษณะเป็นปล้องสีน้ำตาลและมีเนื้อสีเหลืองภายใน นิยมนำมาประกอบอาหารและใช้เป็นเครื่องเทศเพื่อเพิ่มกลิ่นและรสชาติ อีกทั้งยังมีสารอาหารและวิตามินต่าง ๆ เช่น แมกนีเซียม เหล็ก วิตามินซี วิตามินบี ที่อาจช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
จากการศึกษาในวารสาร Iranian Journal of Pharmaceutical Research (IJPR) เมื่อปี พ.ศ. 2558 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของการรับประทานขิงต่อระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยให้ผู้ป่วยทั้งหมด 41 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่รับประทานขิงในปริมาณ 2 กรัม/วัน จำนวน 22 คน และกลุ่มที่รับประทานยาหลอก 19 คน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่า กลุ่มที่รับประทานขิงมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวานได้
11. โยเกิร์ต
โยเกิร์ตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการหมักนมซึ่งมีหลากหลายชนิดให้เลือกรับประทาน เช่น กรีกโยเกิร์ต โยเกิร์ตไขมันต่ำ โยเกิร์ตแช่แข็ง โยเกิร์ตมีบทบาทสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบย่อยอาหาร และระบบภูมิคุ้มกัน และอาจช่วยลดน้ำตาลในเลือด รวมไปถึงช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้
จากการศึกษาในวารสาร The Journal of Nutrition ปี พ.ศ 2560 ที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโยเกิร์ตและโรคเบาหวาน โดยทบทวนการศึกษาที่ค้นพบในฐานข้อมูล 13 ฉบับ พบว่า การรับประทานโยเกิร์ตอาจช่วยป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เนื่องจากโยเกิร์ตมีโพรไบโอติก ซึ่งเป็นกลุ่มแบคทีเรียที่ดีต่อร่างกาย ช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลินในการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง นอกจากนี้ การรับประทานโยเกิร์ต 80-125 กรัม/วัน ยังอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ลดลง 14%
12. แอปเปิ้ลไซเดอร์
แอปเปิ้ลไซเดอร์ คือ น้ำส้มสายชูที่ได้จากกระบวนการหมักแอปเปิ้ล มีรสชาติเปรี้ยว ส่วนใหญ่มักนำมาปรุงอาหาร หรือรับประทานคู่กับสลัด แอปเปิ้ลไซเดอร์อุดมไปด้วยโพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม และธาตุเหล็ก ที่อาจช่วยควบคุมน้ำหนัก ช่วยป้องกันโรคอ้วน และอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอินซูลินในการลดระดับน้ำตาลในเลือด
จากการศึกษาในวารสาร BMC Complementary Medicine and Therapie ปี พ.ศ. 2564 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของการรับประทานแอปเปิ้ลไซเดอร์ต่อไขมันในเลือดและน้ำตาลในเลือด โดยทบทวนการศึกษาที่เกี่ยวข้อง 9 ฉบับ พบว่า การรับประทานแอปเปิ้ลไซเดอร์อาจช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดลงได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยหวานชนิดที่ 2 ที่รับประทานแอปเปิ้ลไซเดอร์ปริมาณ 15 มิลลิตร/วัน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ อาจมีประสิทธิภาพการทำงานของอินซูลินเพิ่มขึ้น และมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
13. เห็ด
เห็ดเป็นอาหารที่ผู้คนนิยมนำมาประกอบอาหารเป็นเมนูต่าง ๆ อีกทั้งยังมีแคลอรี่ต่ำ และอุดมไปด้วยวิตามินดี สังกะสี ทองแดง ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม ที่อาจช่วยลดความดันโลหิตและลดน้ำตาลในเลือด เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และอาจช่วยป้องกันโรคเบาหวาน
จากการศึกษาในวารสาร International Journal of Medicinal Mushrooms เมื่อปี พ.ศ. 2554 ที่ศึกษาเกี่ยวกับการรับประทานเห็ดเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน พบว่า เห็ดมีพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharide) ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน และมีใยอาหาร ที่อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูงที่อาจก่อให้เกิดโรคเบาหวานได้ อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมให้แน่ชัด เกี่ยวกับผลการรับประทานเห็ดแต่ละชนิดต่อโรคเบาหวาน
คำแนะนำเกี่ยวกับการลดระดับน้ำตาลในเลือด
นอกเหนือจากการรับประทาน 13 อาหาร ลดน้ำตาลในเลือด อาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม ขนมหวาน คุกกี้ เค้ก เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารแปรรูป ของทอด
- ดื่มน้ำเปล่าให้มาก ๆ ประมาณวันละ 8 แก้ว เพื่อให้ร่างกายขับน้ำตาลส่วนเกินออกในรูปแบบปัสสาวะ แต่ไม่ควรดื่มน้ำมาก ๆ ในคราวเดียว ควรค่อย ๆ จิบน้ำตลอดทั้งวัน
- ออกกำลังกาย อย่างน้อยวันละ 30 นาที เช่น วิ่ง โยคะ เต้น ว่ายน้ำ หรือทำงานบ้าน เพราะการออกกำลังกายอาจช่วยกระตุ้นการผลิตอินซูลิน และทำให้ร่างกายดึงน้ำตาลในเลือดเปลี่ยนไปใช้เป็นพลังงาน ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ และจดบันทึกค่าน้ำตาลในเลือด เพื่อแจ้งให้คุณหมอทราบเมื่อถึงเวลานัดหมายในครั้งถัดไป เพราะการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอาจทำให้ทราบว่าร่างกายตอบสนองต่อยารักษาโรคเบาหวานมากน้อยแค่ไหน และแผนการรับประทานอาหาร หรือออกกำลังกาย เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดตามคำแนะนำของคุณหมอได้ผลหรือไม่
- เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย