การ คลอด ธรรมชาติ เป็นการคลอดที่คุณแม่ต้องใช้ความอดทนทั้งทางร่างกายและจิตใจ เนื่องจากเป็นวิธีคลอดที่ใช้ระยะเวลาในการรอคลอดนานและต้องใช้ความร่วมมือจากคุณแม่ร่วมด้วยในกระบวนการรอคลอดและการเบ่งคลอด จึงเป็นวิธีการคลอดที่สร้างความเจ็บปวดให้กับคุณแม่ได้ อย่างไรก็ตาม การคลอดธรรมชาติมีข้อดีต่อตัวคุณแม่และทารก เช่น มีโอกาสที่เสียเลือดในระหว่างการคลอดที่น้อยกว่าการผ่าตัดคลอด ร่างกายของคุณแม่จะฟื้นตัวเร็วภายหลังคลอด ปริมาณน้ำนมมาเร็วกว่าเนื่องจากมีการกระตุ้นระบบการสร้างน้ำนมจากการเจ็บครรภ์คลอดมาก่อน และในส่วนของทารกยังสามารถได้รับภูมิคุ้มกันเพิ่มเติมจากการคลอดผ่านช่องทางการคลอดธรรมชาติ รวมถึงอาจเพิ่มความผูกพันระหว่างแม่และลูกได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การคลอดธรรมชาติอาจไม่เหมาะกับบางคนที่มีข้อห้ามในการคลอดทางช่องคลอดจึงจำเป็นต้องปรึกษาคุณหมอเพื่อประเมินความพร้อมของร่างกายก่อนคลอด
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]
การ คลอด ธรรมชาติ คืออะไร
การคลอดธรรมชาติ คือ วิธีการคลอดลูกทางช่องคลอด ที่ต้องมีการเจ็บครรภ์คลอดหรือคือการที่มดลูกหดรัดตัวและกระตุ้นให้ปากมดลูกเปิขยายเต็มที่10 เซนติเมตรก่อนที่จะเบ่งคลอด โดยอาจเป็นการเจ็บตามธรรมชาติ หรือการให้ยากระตุ้นร่วมด้วยก็ได้ จึงทำให้คุณแม่มีความเจ็บปวดในขณะรอคลอดและการเบ่งคลอดเพื่อช่วยให้คลอดง่ายขึ้นและช่วยบรรเทาความเจ็บปวดอาจต้องใช้เทคนิคบางอย่าง เช่น การผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ การควบคุมจังหวะการหายใจ การเบ่งคลอดที่ถูกจังหวะและวิธี
ข้อดีของการคลอดธรรมชาติ
การคลอดธรรมชาติมีข้อดีต่อตัวคุณแม่และทารกในครรภ์ ดังนี้
ด้านคุณแม่
- ลดโอกาสในการเกิดอันตรายหรือผลข้างเคียง เนื่องจากการคลอดธรรมชาติอาจไม่ใช้ยาและไม่ต้องผ่าตัดเข้าไปในช่องท้องจึงอาจลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายของอวัยวะภายในหรือการบาดเจ็บอื่น ๆ รวมทั้งการคลอดธรรมชาติมักจะเสียเลือดภายหลังคลอดได้น้อยกว่า
- ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว การคลอดธรรมชาติอาจช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถเคลื่อนไหวร่างกายและลุกเดินได้ แต่อาจต้องเดินแยกขาอย่างระมัดระวังประมาณ 7 วัน เพื่อป้องกันแผลเย็บปริออก
- เกิดความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก การเบ่งคลอดเป็นการใช้พลังงาน ความพยายาม และความอดทนกับความเจ็บปวด จึงอาจช่วยเพิ่มความรู้สึกผูกพันระหว่างแม่กับลูกในระหว่างคลอด รวมทั้งหลังคลอดหากทารกไม่มีอาการผิดปกติ ยังสามารถเข้าเต้าได้ทันที สร้างสายสัมพันธ์ในช่วงแรกหลังคลอดได้เร็วมากขึ้น
ด้านทารก
- เพิ่มภูมิคุ้มกันในทารกได้ดีกว่า
- ทารกที่คลอดด้วยวิธีทางธรรมชาติจะสามารถได้รับภูมิคุมกันเชื้อโรคบางอย่างเพิ่มเติมจากการคลอดผ่านช่องคลอดของคุณแม่
- ลดโอกาสการเกิดภาวะหายใจเร็วในทารกแรกเกิดได้
ข้อเสียของการคลอดธรรมชาติ
โดยปกติการคลอดธรรมชาติมีความปลอดภัยและมีความเสี่ยงต่ำ แต่ก็อาจมีข้อเสียที่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนี้
- ความเครียดและความวิตกกังวล เนื่องจากการคลอดธรรมชาติอาจทำให้เกิดความเจ็บปวดเป็นเวลานาน คุณแม่จึงอาจเกิดความเครียดและความวิตกกังวลในขณะคลอด
- ความเจ็บปวด การคลอดธรรมชาติอาจทำให้เกิดความเจ็บปวด และยาที่มีประสิทธิภาพในการลดปวดในระหว่างรอคลอดมีน้อยและอาจจะไม่สามารถให้ยาเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดได้ในคุณแม่บางรายที่มีข้อห้าม
- การคลอดธรรมชาติอาจไม่เหมาะกับบางคน เช่น ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เคยผ่านการผ่าคลอด เคยผ่าตัดที่เกี่ยวกับมดลูกมาก่อน ความผิดปกติของการตั้งครรภ์ ทารกมีขนาดตัวใหญ่เกินไป หรือมีภาวะรกเกาะต่ำ เป็นต้น
- อาจเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง เช่น การยาดเจ็บของช่องทางคลอดโดยเฉพาะหากทารกมีขนาดตัวใหญ่ หรือใช้เวลาคลอดนาน บางคนอาจเกิดภาวะตกเลือดหลังคลอด
การเตรียมตัวก่อนคลอดธรรมชาติ
การเตรียมตัวก่อนคลอดอาจช่วยให้การคลอดผ่านไปได้อย่างรวดเร็ว และอาจช่วยลดความเจ็บปวดได้ โดยการเตรียมตัวก่อนคลอดธรรมชาติอาจทำได้ ดังนี้
- การออกกำลังกายอุ้งเชิงกราน เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ เช่น โยคะ การยืดกล้ามเนื้อ การเดิน
- การผ่อนคลายจิตใจ เช่น นั่งสมาธิ ฟังเพลง แช่น้ำอุ่น นวด เพื่อช่วยผ่อนคลายอารมณ์และจิตใจ
- นอนหรือเอนตัวในท่าที่สบาย ร่วมกับการเปิดเพลงหรือเปิดโทรทัศน์ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจและบรรเทาความเจ็บปวด
- การฝึกเทคนิคหายใจ โดยการหายใจเข้าทางจมูกลึก ๆ 1 ครั้ง และหายใจออกทางปากยาว ๆ 1 ครั้ง ให้จังหวะสมดุลกัน ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้
การฟื้นตัวหลังการคลอด
การฟื้นตัวหลังคลอดอาจใช้เวลาแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยปกติคุณแม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายและลุกได้หลังคลอดทันหรือในช่วงหลังคลอดได้ไม่เกิน3วันหากไม่มีมีภาวะแทรกซ้อนใดระหว่างการคลอด เช่น การตกเลือด และร่างกายจะฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์กลับมาเป็นปกติประมาณ 3 เดือน นอกจากนี้ อาจมีอาการหลังคลอด เช่น น้ำคาวปลา ขาและเท้าบวม ตะคริว ท้องผูก ท้องเสีย ปวดหลัง ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ควรสังเกตความผิดปกติของร่างกายและอาการต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ควรเข้าพบคุณหมอทันที
- เลือดออกทางช่องคลอด
- มีไข้ วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะรุนแรง และเป็นลม
- เจ็บปวดเมื่อปัสสาวะ
- อาการปวดท้องรุนแรงขึ้น
- ใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก
- แผลเย็บปริออก