คุณแม่ตั้งครรภ์ ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป อาจเริ่มมี อาการใกล้คลอด เช่น ปวดหน่วง หายใจลำบาก บางคนอาจเริ่มรู้สึกเจ็บท้องอย่างมากเนื่องจากมดลูกมีการหดตัวเป็นช่วง ๆ เพื่อเตรียมสำหรับการคลอด ดังนั้น คุณแม่จึงควรศึกษาว่า อาการใกล้คลอด ปวดหน่วง เป็นอย่างไร เพื่อเตรียมความพร้อมในการไปพบคุณหมอ
[embed-health-tool-due-date]
อาการใกล้คลอด ปวดหน่วง คืออะไร
อาการใกล้คลอด ปวดหน่วง คือ สัญญาณเตือนหลักที่ช่วยทำให้คุณแม่ทราบว่าใกล้ถึงช่วงเวลาคลอดบุตร โดยอาการใกล้คลอดที่ทำให้ปวดหน่วงมีสาเหตุมาจากการที่มดลูกขยายกว้างและหดตัวเป็นช่วง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดบุตร ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 เป็นช่วงที่ทารกจะเริ่มกลับหัวและเคลื่อนตัวไปอยู่ในบริเวณอุ้งเชิงกราน โดยคุณแม่จะเริ่มรู้สึกว่าหน้าท้องตึงกว่าปกติ ร่วมกับอาการมดลูกขยายและหดตัวในช่วงเวลาสั้น ๆ ประมาณ 30-45 วินาทีต่อครั้ง ส่งผลให้รู้สึกเจ็บท้องเล็กน้อยคล้ายกับอาการปวดประจำเดือน และอาจมีสารคัดหลั่งสีชมพูใสหรือมีเลือดไหลออกมาเล็กน้อย
- ระยะที่ 2 เป็นระยะที่จำเป็นต้องเข้ารับการประเมินกับคุณหมอว่าใกล้ถึงเวลาคลอดหรือไม่ และอาจจำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อเตรียมคลอด โดยในระยะนี้มดลูกจะเริ่มขยายและหดตัวถี่มากขึ้นและยาวนานขึ้น ประมาณ 30 วินาที ไปจนถึง 1 หรือ 2 นาทีต่อครั้ง โดยในระหว่างการรอให้ปากมดลูกขยายกว้างกว่า 8 เซนติเมตรขึ้นไป คุณแม่อาจรู้สึกเจ็บปวดอย่างมาก และอาจมีอาการคลื่นไส้ หน้ามืด ร้อนวูบวาบหรือหนาวสั่นร่วมด้วย
- ระยะที่ 3 เป็นระยะที่มดลูกจะขยายเพิ่มขึ้นชั่วโมงละ 1 เซนติเมตร โดยอาจใช้เวลา 4-8 ชั่วโมง กว่าที่ปากมดลูกจะขยายไปถึง 10 เซนติเมตร หรือขยายมากพอให้ศีรษะของทารกสามารถผ่านได้ จึงจะเริ่มการเบ่งคลอด
สัญญาณเตือนของอาการใกล้คลอด ปวดหน่วง
นอกจากอาการใกล้คลอดที่ทำให้คุณแม่รู้สึกปวดหน่วง ยังควรสังเกตสัญญาณเตือนอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้
- ปัสสาวะบ่อย เนื่องจากการที่ทารกกลับหัวและเคลื่อนไปอยู่ในบริเวณอุ้งเชิงกราน อาจทำให้มีแรงกดทับบริเวณกระเพาะปัสสาวะ จึงทำให้คุณแม่ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น
- ปวดหลัง คุณแม่บางคนอาจมีอาการปวดหลัง โดยเฉพาะอาการปวดหลังส่วนล่าง ที่เกิดจากกล้ามเนื้อและข้อต่อเริ่มยืดออกเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดบุตร
- ท้องเสีย เกิดจากแรงกดทับของทารกบริเวณอุ้งเชิงกราน จนทำให้คุณแม่รู้สึกอยากขับถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง
- น้ำคร่ำแตก ทารกในครรภ์จะเจริญเติบโตอยู่ภายในถุงน้ำคร่ำ เมื่อถึงช่วงเวลาใกล้คลอด ถุงน้ำคร่ำนั้นก็จะแตกออก และทำให้น้ำคร่ำไหลออกมาทางช่องคลอด ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนที่ทำให้ทราบว่าทารกพร้อมจะออกมาดูโลกภายนอก ควรเข้ารับการดูแลที่โรงพยาบาลเพื่อทำการเตรียมคลอดในทันที
วิธีบรรเทาอาการใกล้คลอด ปวดหน่วง
วิธีบรรเทาอาการใกล้คลอด ปวดหน่วง อาจทำได้ ดังนี้
- อาบน้ำบ่อย ๆ หรืออาจแช่ตัวในอ่างน้ำอุ่นเพื่อบรรเทาอาการใกล้คลอด ปวดหน่วง และช่วยลดความเครียดและความกังวลของคุณแม่
- หากิจกรรมอื่นทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากอาการใกล้คลอด ปวดหน่วง เช่น ฟังเพลงสบาย ๆ ดูหนัง อ่านหนังสือ
- ฝึกหายใจเข้าออกลึก ๆ ช้า ๆ เป็นจังหวะ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
- พักผ่อนด้วยการนอนหลับ เพื่อเก็บพลังงานไว้สำหรับช่วงเวลาเบ่งคลอด
- ให้คนรอบข้างช่วยนวดบริเวณไหล่ เท้า มือ และหลัง ในระหว่างที่มดลูกหดหรือขยายตัว เพื่อช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายจากอาการใกล้คลอด ปวดหน่วง
- หากคุณแม่มีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย ควรดมยาดมหรือน้ำมันหอมระเหย เพื่อช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้
- หากสังเกตอาการปวดหน่วงมีลักษณะเจ็บที่ถี่และสม่ำเสมอมมากขึ้นเรื่อยๆ หรือมีอาการน้ำเดิน หรือมีมูกเลือดออกจากช่องคลอด ควรเข้าไปแพทย์เพื่อประเมินระยะของการเข้าสู่ระยะคลอด