backup og meta

เลือดออกช่องคลอด สีน้ำตาล ตั้งครรภ์ เกิดจากอะไรได้บ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 17/01/2024

    เลือดออกช่องคลอด สีน้ำตาล ตั้งครรภ์ เกิดจากอะไรได้บ้าง

    อาการเลือดออกระหว่างตั้งครรภ์ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เลือดล้างหน้าเด็ก การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การตั้งครรภ์นอกมดลูก ภาวะรกเกาะต่ำ หรือแม้กระทั่งการแท้งบุตร หากคุณแม่พบว่ามี เลือดออกช่องคลอด สีน้ำตาล ตั้งครรภ์ หรือเลือดออกเป็นสีอื่น ๆ เช่น สีแดงเข้ม สีชมพู โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นร่วมกับอาการปวดท้อง อาจเป็นสัญญาณของอาการผิดปกติที่ควรแจ้งคุณหมอที่ดูแลครรภ์ให้ทราบและหาสาเหตุที่แท้จริงตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อช่วยให้สามารถรักษาและป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ได้อย่างทันท่วงที

    เลือดออกช่องคลอด สีน้ำตาล ตั้งครรภ์ เกิดจากอะไรได้บ้าง

    ปัจจัยที่ทำให้มีอาการ ตั้งครรภ์ มีเลือดออก ไม่ปวดท้อง ในแต่ละไตรมาสขณะตั้งครรภ์ อาจมีดังนี้

    อาการเลือดออกในการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1 (เดือนที่ 1-3 ของการตั้งครรภ์)

  • เลือดล้างหน้าเด็ก (Implantation bleeding) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ (อายุครรภ์ 4-5 สัปดาห์) เกิดจากตัวอ่อนฝังตัวเข้ากับเยื่อบุโพรงมดลูกและอาจทำให้เส้นเลือดโดยรอบแตกออก ส่งผลให้มีจุดเลือดออกหรือเลือดไหลออกจากช่องคลอด โดยทั่วไปจะเป็นสีชมพูอ่อนไปจนถึงน้ำตาลเข้ม และมักมีจะมีอาการอยู่เพียงแค่2-3วัน และจากนั้นเลือดจะค่อยๆออกน้อยลง
  • ภาวะปากมดลูกปลิ้น (Cervical ectropion or erosion) ในระยะแรกของการตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายจะสูงกว่าปกติ และร่างกายอาจผลิตฮอร์โมนที่ทำให้ปากมดลูกขยายตัวหรือเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม ส่งผลให้มีเลือดออกจากคอมดลูก โดยอาจมีเลือดออกเป็นสีชมพู สีแดง ลักษณะกะปริบกะปรอย หรือไหลพรั่งพรูออกมาจากช่องคลอด แต่มักไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อการตั้งครรภ์ หากเลือดสามารถหยุดไหลได้เอง
  • การแท้งบุตร (Miscarriage) เลือดออกจากช่องคลอดมักเป็นสัญญาณแรกของการแท้งบุตรในระยะแรกของการตั้งครรภ์หรือในช่วงก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ โดยเลือดที่ไหลออกมาอาจมีสีแดงสด สีชมพู หรือสีน้ำตาล มีลิ่มเลือดปน และอาจมา ๆ หาย ๆ เป็นเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ร่วมกับอาการปวดท้องส่วนล่างหรือเป็นตะคริว บางรายอาจจะมีชิ้นเนื้อหรือชิ้นส่วนของการตั้งครรภ์ปนออกมากับเลือดได้ด้วย
  • การตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic pregnancy) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นไม่บ่อยแต่อันตรายเป็นอย่างมาก เกิดขึ้นเมื่อตัวอ่อนฝังตัวภายนอกโพรงมดลูก เช่น ท่อนำไข่ซึ่งเปิดมากที่สุดประมาณร้อยละ 90  หรือบริเวณอื่น ๆ เช่น ปากมดลูก รังไข่ ช่องท้อง แทนที่จะฝังตัวภายในโพรงมดลูกดังที่ควรจะเป็น ตัวอ่อนที่ฝังตัวนอกมดลูกจะไม่สามารถเจริญเติบโตและมีพัฒนาการตามปกติได้ หากปล่อยไว้จะทำให้เกิดการแตกของอวัยวะที่มีการฝังตัวอ่อน ทำให้เกิดการตกเลือดในช่องท้องปริมาณมากและอันตรายถึงชีวิตได้ บางรายอาจพบมีเลือดออกทางช่องคลอดร่วมด้วยได้
  • การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy หรือ Hydatidiform mole) เป็นภาวะที่ไข่ได้รับการปฏิสนธิแล้วแต่รกและตัวอ่อนภายในรกไม่สามารถเจริญเติบไปเป็นทารกที่สมบูรณ์ได้ เนื่องจากเนื้อเยื่อของตัวอ่อนกลายเป็นถุงน้ำหรือเนื้องอกแทนที่จะเป็นเซลล์ตัวอ่อน เนื้อรก และถุงน้ำคร่ำตามปกติ ภาวะนี้อาจทำให้มีเลือดสีน้ำตาลเข้มไหลออกมาจากช่องคลอด ร่วมกับอาการปวดท้องและท้องบวม บางรายอาจพบชื้นเนื้อคล้ายเม็ดสาคูปนออกมากับเลือดทางช่องคลอดได้
  • อาการเลือดออกในการตั้งครรภ์ระยะหลัง หรือหลัง 20 สัปดาห์เป็นต้นไป

    มักเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับรก ซึ่งมีหน้าที่ลำเลียงสารอาหารและออกซิเจนจากคุณแม่ไปยังทารกในครรภ์ เมื่อรกผิดปกติ อาจทำให้ทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต โดยอาการเลือดออกในระยะนี้อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยดังนี้

    • ภาวะรกเกาะต่ำ (Placenta Previa) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อรกฝังตัวใกล้กับปากมดลูกและอาจทำให้รกปกคลุมปากมดลูกบางส่วนหรือทั้งหมด ทำให้อาจมีเลือดสีแดงเข้มไหลออกจากช่องคลอดได้เมื่อปากมดลูกเริ่มเปิดหรือหดรัดตัวเพื่อเตรียมรองรับทารกที่เคลื่อนตัวมายังช่องคลอด
    • ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด (Placental abruption) ระหว่างตั้งครรภ์ รกอาจเริ่มแยกตัวออกจากมดลูกก่อนกำหนดคลอด ทำให้มีเลือดออกในมดลูกบริเวณที่รกเคยยึดเกาะอยู่ และอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องเฉียบพลัน ภาวะนี้จะมีความเสี่ยงในการเกิดมากขึ้นในคุณแม่ที่มีโรคประจำตัวเรื่องความดันโลหิตสูง ภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือในการที่มีการกระทบกระเทือนอุบัติเหตุที่ท้องได้ด

    ปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เสี่ยงมีเลือดออกจากช่องคลอดได้ในทุกระยะของการตั้งครรภ์ แต่พบได้ไม่บ่อยนัก มีดังนี้

    • การติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์
    • การบาดเจ็บบริเวณระบบสืบพันธุ์
    • เนื้องอกในระบบสืบพันธุ์
    • ภาวะเลือดออกบริเวณเส้นเลือดของปากมดลูกหรือช่องคลอด

    เลือดออกช่องคลอด สีน้ำตาล ตั้งครรภ์ แบบไหนควรไปหาหมอ

    อาการเลือดออกจากช่องคลอดในขณะตั้งครรภ์อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ หากแม่ตั้งครรภ์พบว่ามีภาวะเลือดออกจากช่องคลอด ไม่ว่าจะเป็นสีแดงเข้ม สีชมพูอ่อน จนไปถึงสีน้ำตาล อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้วที่ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจหาสาเหตุให้แน่ใจว่าจะไม่กระทบถึงสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์และให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที

    หากพบว่ามีเลือดออกในระหว่างไตรมาสที่ 1 (สัปดาห์ที่ 1-12 ของการตั้งครรภ์)

    • หากพบว่ามีจุดเลือดออกหรือเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อยที่หายไปภายใน 1 วัน ให้แจ้งทีมแพทย์ที่ดูแลครรภ์เมื่อถึงวันนัดหมายตรวจครรภ์
    • หากพบว่ามีเลือดออกจากช่องคลอดนานกว่า 1 วัน ให้แจ้งทีมแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง
    • หากมีอาการเลือดออกจากช่องคลอดระดับปานกลางไปจนถึงระดับรุนแรง มีเนื้อเยื่อหรือก้อนเลือด หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดร่วมกับอาการปวดท้อง เป็นตะคริว มีไข้ หรือหนาวสั่น ให้รีบแจ้งทีมแพทย์ทันที
    • หากคุณแม่มีหมู่เลือดอาร์เอชลบ (Rh Negative หรือ Rh-) ต้องแจ้งหมู่เลือดให้ทีมแพทย์ทราบด้วย เนื่องจากคุณแม่อาจต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายผลิตแอนติบอดีที่อาจเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ในอนาคต

    หากพบว่ามีเลือดออกในระหว่างไตรมาสที่ 2 (สัปดาห์ที่ 13-24 ของการตั้งครรภ์)

    • หากพบว่ามีเลือดออกจากช่องคลอดที่อาจหายไปภายใน 2-3 ชั่วโมง ให้แจ้งทีมแพทย์ภายในวันนั้น
    • หากพบว่ามีเลือดออกจากช่องคลอดที่ต่อเนื่องนานกว่า 2-3 ชั่วโมง หรือมีอาการปวดท้อง เป็นตะคริว มีไข้ หนาวสั่น หรือมดลูกบีบรัดตัวร่วมด้วย ให้รีบแจ้งทีมแพทย์ทันที

    หากพบว่ามีเลือดออกในระหว่างไตรมาสที่ 3 (สัปดาห์ที่ 25-40 ของการตั้งครรภ์)

    • หากพบว่ามีเลือดออกจากช่องคลอด หรือมีเลือดออกมาพร้อมกับอาการปวดท้อง ให้รีบแจ้งทีมแพทย์ทันที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 17/01/2024

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา