backup og meta

แม่หลังคลอด การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่พบได้บ่อย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 29/11/2022

    แม่หลังคลอด การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่พบได้บ่อย

    แม่หลังคลอด ย่อมมีภาวะเปลี่ยนแปลงไปจากขณะตั้งครรภ์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งการเผชิญกับภาวะหลังคลอดนี้อาจทำให้คุณแม่มือใหม่ไม่รู้ว่าจะจัดการกับสิ่งที่ตัวเองต้องเผชิญอย่างไรดี โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย นับเป็นเรื่องจำเป็นที่แม่หลังคลอดต้องศึกษาถึงปัญหาสุขภาพของร่างกายที่อาจไม่เหมือนเดิม  รวมทั้งวิธีดูแลตนเองเพื่อให้กลับมามีสุขภาพแข็งแรง สามารถดูแลลูกน้อยได้อย่างเต็มที่

    การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของ แม่หลังคลอด

    • หนาวสั่น

    อาการหนาวสั่นอาจเกิดขึ้นได้ทันทีหลังคลอด และอาจเกิดในช่วงที่กำลังจะคลอดลูกได้ด้วย ผู้หญิงบางคนอาจมีอาการหัวเข่าสั่นอย่างหนักเมื่อคลอดออกมาแล้ว หรือรู้สึกหนาวสะท้านในช่วงที่กำลังเย็บแผลหลังคลอด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ซึ่งมีหน้าที่สะสมน้ำเอาไว้ร่างกาย เพื่อคอยทดแทนการเสียเลือดที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ลดลงอย่างรวดเร็ว จึงทำให้คุณแม่เกิดอาการหนาวสั่น หลังคลอดประมาณ 2-3 วัน หรืออย่างช้าคือไม่เกิน 6 สัปดาห์

    • เหงื่อออกมาก

    ในช่วงสองสามคืนแรกหลังคลอด คุณแม่มักมีเหงื่อออกมาก เนื่องจากร่างกายระบายของเหลวที่เกิดจากการตั้งครรภ์ออกมา และอาจมีของเหลวไหลออกมาจากหัวนมได้ด้วย นอกจากนี้คุณแม่ยังอาจมีอาการเลือดออกหลังคลอดต่อไปอีกประมาณ 6 สัปดาห์ หรือที่เรียกกันว่า “น้ำคาวปลา (Lochia)” นั่นเอง

    อาการเหงื่อออกมากในตอนกลางคืน อาการปัสสาวะเล็ด อาจทำให้คุณแม่ตื่นมาแล้วพบว่าเนื้อตัวและที่นอนเปียกแฉะ จนต้องเปลี่ยนผ้าปูที่นอน หรือตากที่นอนบ่อย ๆ ทางแก้คือ คุณแม่หลังคลอดควรปูผ้ายางกันเปียกบนที่นอน หรือใช้ผ้าขนหนูรองนอน 

    • อาการเจ็บปวดหลังคลอด

    อาการเจ็บปวดหลังคลอด มักเกิดขึ้นเพราะมดลูกกำลังบีบรัดตัวเพื่อให้กลับเข้าสู่ขนาดปกติ นอกจากนี้คุณแม่อาจรู้สึกเจ็บปวดรุนแรงในขณะให้นมลูก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปกับคุณแม่หลังคลอด อาการเจ็บปวดนี้จะเกิดขึ้นประมาณ 5-7 วัน แต่อาการเจ็บปวดนี้จะยิ่งรุนแรงขึ้นหากคุณแม่เคยคลอดลูกมาแล้วหลายครั้ง และมีรายงานว่า ผู้หญิงบางคนที่มีลูกหลายคนจะมีอาการเจ็บปวดหลังคลอดรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยความเจ็บปวดนี้อาจรุนแรงยิ่งกว่าตอนเจ็บท้องก่อนคลอด ฉะนั้น หากคุณแม่ท่านใดตั้งใจจะมีลูกหลายคน อาจต้องเตรียมตัวรับมือกับอาการเจ็บปวดหลังคลอดด้วย

    • ปัสสาวะเล็ด

    คุณแม่หลังคลอดมักจะมีอาการปัสสาวะเล็ด หรือปัสสาวะรดกางเกงได้บ่อยๆ ไม่เว้นแม้แต่เวลาเดินขึ้นลงบันได หรือเวลากระโดด สาเหตุที่ทำให้คุณแม่มักปัสสาวะเล็ดหลังคลอดก็เพราะในระหว่างการอุ้มท้องและการคลอดบุตร กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานจะอ่อนแอลง ทำให้ร่างกายควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้ยาก

    โดยปกติแล้ว อาการปัสสาวะเล็ดมักเกิดกับคุณแม่ที่คลอดเองตามธรรมชาติ แต่คุณแม่ที่ใช้วิธีผ่าตัดคลอดอาจมีโอกาสเจอปัญหานี้ได้เช่นกัน อาการปัสสาวะเล็ดนี้จะหายไปเองภายในสองถึงสามสัปดาห์หลังคลอด ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้คุณแม่ออกกำลังกาย ทั้งในช่วงก่อนและหลังคลอด เพื่อให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแข็งแรงขึ้น ลดปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะหลังคลอด

    • รอยแตกลาย

    ในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์ คุณแม่หลายคนจะสังเกตเห็นว่า มีรอยแตกลายเกิดขึ้นบริเวณท้อง บั้นท้าย เต้านม และต้นขา แม้ว่ารอยแตกลายเหล่านี้จะดูจางลงหลังคลอด แต่ก็ไม่หายสนิท คุณแม่อาจมีรอยแตกลายตามร่างกายอย่างถาวรหลังคลอดลูก ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคุณแม่หลายท่าน ปัจจุบันยังไม่มีโลชั่น หรือครีมที่ช่วยป้องกันรอยแตก หรือลดเลือนรอยแตกลายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การบำรุงผิวด้วยครีมหรือน้ำมันธรรมชาติ เช่น น้ำมันงา น้ำมันมะพร้าว ก็อาจช่วยให้รอยแตกลายดูจางลงได้

    • ริดสีดวง

    การตั้งครรภ์ไม่เพียงแต่จะส่งผลกับกระเพาะปัสสาวะ แต่ยังส่งผลกระทบกับทวารหนัก จนทำให้เกิดปัญหาริดสีดวงทวารได้ด้วย คุณแม่อาจจะไม่รู้สึกถึงความผิดปกติใดๆ หากมีริดสีดวงเกิดขึ้นภายใน แต่ก็อาจสังเกตเห็นริดสีดวงที่เกิดขึ้นภายนอกได้ หากถ่ายอุจจาระ หรือใช้กระดาษทิชชู่เช็ดทำความสะอาดแล้วรู้สึกเจ็บ คุณแม่ควรรีบไปพบคุณหมอ เพื่อรับคำแนะนำและวิธีการรักษาที่จะช่วยให้คลายความเจ็บปวดลงได้

    • ท้องผูก

    ฮอร์โมนการตั้งครรภ์ อาจทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานช้าลง ส่งผลให้คุณแม่หลังคลอดมีอาการท้องผูกได้ ยิ่งถ้าคุณแม่มีอาการริดสีดวงทวารด้วย ก็จะยิ่งขับถ่ายได้ยากลำบากขึ้นไปอีก อาจเจ็บปวดทุกครั้งที่ต้องเบ่งอุจจาระ แต่คุณแม่หลังคลอดอาจหาวิธีบรรเทาอาการท้องผูกได้ ด้วยการใช้ยาที่ทำให้อุจจาระนิ่มขึ้น และรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ส้ม กล้วย มะละกอ ข้าวโพด ข้าวกล้อง ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น และควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทแป้ง หรือไขมัน เพราะจะยิ่งทำให้ขับถ่ายลำบากขึ้น

     

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 29/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา