backup og meta

น้ำคาวปลากี่วันหมด ผ่าคลอด และการดูแลตัวเองหลังคลอด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 10/07/2023

    น้ำคาวปลากี่วันหมด ผ่าคลอด และการดูแลตัวเองหลังคลอด

    น้ำคาวปลากี่วันหมด ผ่าคลอด ? โดยทั่วไป น้ำคาวปลาซึ่งเป็นของเหลวที่ไหลจากช่องคลอดหลังคลอดไม่ว่าจะโดยวิธีธรรมชาติหรือผ่าคลอดมักจะแห้งไปเองหรือหยุดไหลภายใน 4-6 สัปดาห์ ในระหว่างหลังคลอดนี้คุณแม่ควรดูแลตัวเองเป็นพิเศษ ด้วยการพักผ่อนให้เต็มที่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงการยกของหนักและการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 6 สัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ

    น้ำคาวปลา คืออะไร

    น้ำคาวปลาคือของเหลวที่ไหลออกมาจากช่องคลอดหลังการคลอดบุตร ประกอบไปด้วยเศษเนื้อเยื่อ เมือก เลือด ที่คงเหลืออยู่ภายในโพรงมดลูกหลังจากทารกคลอดออกมาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเกิดจากร่างกายเข้าสู่กระบวนการที่ทำให้มดลูกหดตัวกลับสู่ขนาดปกติก่อนตั้งครรภ์ ถือเป็นเรื่องปกติไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยคุณแม่มักมีน้ำคาวปลาไหลออกมาจากช่องคลอดประมาณ 4-6 สัปดาห์ หรืออาจจะนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองของคุณแม่หลังคลอด

    น้ำคาวปลากี่วันหมด ผ่าคลอด

    สำหรับคุณแม่ที่คลอดด้วยวิธีผ่าหน้าท้องหรือหรือ ซี-เซกชัน (C-section) จะมีน้ำคาวปลาออกจากช่องคลอดเช่นเดียวกับคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ เพียงแต่จะมีปริมาณน้ำคาวปลาที่น้อยกว่าและหยุดไหลเร็วกว่า โดยน้ำคาวปลาจะออกมาเป็นเลือดสีแดงเข้มที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นจากสีน้ำตาล ไปเป็นสีเหลืองจนกลายเป็นสีใส ๆ ส่วนใหญ่ เลือดจะหยุดไหลภายใน 3-4 สัปดาห์ อาจเร็วกว่าหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับภาวะสุขภาพของแต่ละคนวิธีดูแลตัวเองหลังผ่าคลอด

    การดูแลตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้ อาจช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวหลังผ่าคลอดได้ดีขึ้น

  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 6 สัปดาห์หลังคลอดบุตร หรือหลังจากที่คุณหมอนัดตรวจภายในแล้วอนุญาตให้ทำกิจกรรมทางเพศได้ตามปกติ เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • งดใส่ผ้าอนามัยแบบสอดหรือสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ เข้าไปในช่องคลอดอย่างน้อย 6 สัปดาห์เพื่อเลี่ยงการติดเชื้อ
  • สวมกางเกงชั้นในที่ซักได้ง่ายขณะมีน้ำคาวปลาหรือใส่ผ้าอนามัยชนิดกางเกง และควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง
  • รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เน้นอาหารที่มีใยอาหารสูงเพื่อช่วยในการขับถ่ายและป้องกันอาการท้องผูก
  • พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายค่อย ๆ ฟื้นฟูตัวเอง และไม่ควรนอนดึกเกินไป ตอนนอนอาจใช้หมอนมาหนุนระหว่างหรือใต้เข่าทั้ง 2 ข้าง และเคลื่อนไหวช้า ๆ เมื่อจำเป็นต้องปรับท่าบนเตียงเพื่อลดการกระทบกระเทือน
  • หลีกเลี่ยงการยืดเหยียดตัว งอตัว ยกของหนัก ทำงานบ้าน ทำสวน หรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงเยอะซึ่งอาจทำให้แผลผ่าคลอดฉีกหรือหายช้า
  • ดูแลรักษาให้แผลสะอาดและแห้งเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • ไม่ขับรถจนกว่าแผลผ่าคลอดจะหายดี โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์
  • ออกเดินบ้าง โดยค่อย ๆ เดินไปรอบบริเวณบ้านอย่างน้อยวันละ 5-10 นาที หรือปรึกษาคุณหมอถึงวิธีออกกำลังกายหลังผ่าคลอดที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้ร่างกายและจิตใจของคุณแม่รู้สึกดีขึ้น การเคลื่อนไหวร่างกายเบา ๆ ยังช่วยลดการสะสมของแก๊สซึ่งมักเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดช่องท้อง
  • หากรู้สึกหรือสังเกตถึงอาการผิดปกติหลังผ่าคลอด ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างตรงจุด
  • เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    หากมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการดูแลอย่างเหมาะสม

    • มีเลือดสีสดไหลออกจากช่องคลอดในปริมาณมาก (เลือดออกเยอะจนเต็มผ้าอนามัยที่ใช้ซับเลือดอย่างน้อยชั่วโมงละ 1 แผ่น)
    • มีลิ่มเลือดขนาดใหญ่ก้อนขนาดเท่าลูกกอล์ฟไหลออกจากช่องคลอด
    • วิงเวียนศีรษะหรือรู้สึกเหมือนจะเป็นลม
    • รู้สึกตัวสั่น เป็นไข้ และไม่สบาย
    • เป็นตะคริวหรือปวดมดลูกมาก
    • น้ำคาวปลาส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง
    • น้ำคาวปลาสีเข้มขึ้นเรื่อย ๆ แทนที่จะจางลง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 10/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา