backup og meta

Postpartum hemorrhage คือ ภาวะตกเลือดหลังคลอด สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/02/2023

    Postpartum hemorrhage คือ ภาวะตกเลือดหลังคลอด สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

    Postpartum hemorrhage คือ ภาวะตกเลือดหลังคลอด เป็นภาวะแทรกซ้อนในคุณแม่หลังคลอดที่พบได้บ่อย คุณแม่จะมีเลือดออกจากช่องคลอดอย่างรุนแรง ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงไปจนถึง 12 สัปดาห์หลังคลอด โดยอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น วิงเวียนศีรษะ หัวใจเต้นแรง คลื่นไส้ อาเจียน ภาวะตกเลือดหลังคลอดเป็นภาวะที่อันตรายเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจทำให้ความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว เลือดไม่ไหลเวียนไปยังสมองและอวัยวะอื่น ๆ จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากคุณแม่หลังคลอดพบว่าตัวเองมีอาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของ Postpartum hemorrhage ควรรีบพบไปคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด

    Postpartum hemorrhage คือ อะไร

    Postpartum hemorrhage คือภาวะเลือดจากช่องคลอดมากกว่าปกติหลังคลอดบุตร ภาวะนี้พบได้บ่อย ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นหลังจากร่างกายขับรกออกมาแล้วตั้งแต่ 24 ชั่วโมงไปจนถึง 12 สัปดาห์หลังคลอด ภาวะนี้อันตรายเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการสูญเสียเลือดในปริมาณมากอาจทำให้ความดันโลหิตลดลง เลือดไม่ไหลเวียน และทำให้เกิดอาการช็อก จนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ คุณแม่หลังคลอดและครอบครัวจึงต้องหมั่นสังเกตอาการ หากมีอาการผิดปกติภายใน 24 ชั่วโมง ควรแจ้งทีมแพทย์ผู้ดูแลให้เร็วที่สุด การรับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดปริมาณการสูญเสียเลือดได้

    ประเภทของ Postpartum hemorrhage

    ประเภทของ Postpartum hemorrhage อาจแบ่งได้ดังนี้

    • การตกเลือดหลังคลอดในระยะแรก (Primary postpartum hemorrhage) การตกเลือดภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด มักเกิดจากมดลูกหดรัดตัวได้ไม่ดี เนื้อเยื่อหรือหลอดเลือดในปากมดลูกหรือในช่องคลอดฉีกขาดจนเลือดออก เลือดแข็งตัวได้ไม่ดีจนเลือดออกไม่หยุด มีชิ้นส่วนของรกติดค้างอยู่ภายในโพรงมดลูก
    • การตกเลือดหลังคลอดในระยะหลัง (Secondary or late postpartum hemorrhage) การตกเลือดหลังจาก 24 ชั่วโมงแรกไปจนถึง 12 สัปดาห์หลังคลอด มักเกิดจากการติดเชื้อ หรือมีชิ้นส่วนของรกที่ร่างกายขับออกไม่หมดติดค้างอยู่ในโพรงมดลูก

    สาเหตุของ Postpartum hemorrhage คือ อะไร

    สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของ Postpartum hemorrhage คือภาวะมดลูกไม่หดรัดตัว (Uterine atony) โดยปกติแล้ว หลังคลอดบุตร มดลูกมักจะบีบรัดตัวเพื่อขับรกและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ออกมาจนหมด แต่หากการบีบรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกผิดปกติ หรือที่เรียกว่า ภาวะมดลูกไม่หดรัดตัว อาจทำให้เลือดไม่หยุดไหล จนมีเลือดออกจากช่องคลอดในปริมาณมาก หรือที่เรียกว่า ภาวะตกเลือดหลังคลอด (postpartum hemorrhage) นั่นเอง นอกจากนี้ หากร่างกายไม่สามารถขับชิ้นส่วนของรกออกมาจากมดลูกได้หมดจนทำให้มีเนื้อเยื่อบางส่วนติดค้างอยู่ในช่องคลอด หรือคุณแม่มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ (Endometritis) ที่มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ก็สามารถทำให้เกิดภาวะตกเลือดหลังคลอดได้เช่นกัน

    สาเหตุอื่น ๆ ของ postpartum hemorrhage อาจมีดังนี้

    • ปากมดลูกหรือเนื้อเยื่อของช่องคลอดฉีกขาด
    • เส้นเลือดในมดลูกฉีกขาด
    • เลือดออกในเนื้อเยื่อหรือบริเวณเนื้อเยื่อกระดูกอุ้งเชิงกราน จนทำให้มีก้อนเลือดคั่ง (Hematoma) มักพบบริเวณปากช่องคลอดหรือช่องคลอด
    • การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ

    อาการของ Postpartum hemorrhage

    อาการที่พบในบ่อยในผู้ที่มีภาวะ Postpartum hemorrhage อาจมีดังนี้

    • มีภาวะตกเลือดที่ไม่สามารถควบคุมได้
    • ความดันโลหิตลดลง
    • อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น
    • เซลล์เม็ดเลือดแดงลดลง
    • ช่องคลอดและบริเวณใกล้เคียงบวม ในกรณีที่มีก้อนเลือดคั่งในเนื้อเยื่อ
    • ผิวเย็น ตัวซีดหรือผิวหนังเป็นสีเทา
    • วิงเวียนศีรษะ เป็นลม หูอื้อ ตาพร่ามัว คลื่นไส้ อาเจียน จากการสูญเสียเลือด

    วิธีรักษา Postpartum hemorrhage

    สิ่งสำคัญในการรักษา Postpartum hemorrhage คือการหาสาเหตุที่ทำให้เลือดออกผิดปกติและหยุดเลือดให้ได้เร็วที่สุด จากนั้นจะเป็นการให้เลือดเพื่อทดแทนเลือดและของเหลวที่สูญเสียไปจากการตกเลือด เพื่อป้องกันการเกิดอาการช็อกจากการเสียเลือดมากเกินไป โดยวิธีรักษาอาจมีดังนี้

    • การตรวจภายในมดลูก กระดูกอุ้งเชิงกราน ช่องคลอด เพื่อหาบริเวณที่เป็นสาเหตุของการตกเลือด
    • การกระตุ้นให้มดลูกบีบรัดตัวด้วยการนวดกระตุ้น หรือการใช้ยา เช่น ออกซิโทซิน (Oxytocin) เมทิลเออร์โกโนวีน (Methylergonovine) หรือพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) เช่น คาร์โบโพรส (Carboprost) ไมโสพรอสตอล (Misoprostol)
    • การนำชิ้นส่วนของรกที่ติดค้างอยู่ภายในมดลูกออกมาให้หมด
    • การเพิ่มแรงดันบริเวณที่เลือดออกภายในมดลูกและหยุดเลือดด้วยเครื่องมือต่าง ๆ เช่น สายสวนปัสสาวะ ลูกบอลที่ใช้กดผนังมดลูก (Bakri balloon) ฟองน้ำ วัสดุปลอดเชื้อ
    • การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparotomy) เพื่อเปิดช่องท้องและหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการตกเลือด และเย็บผูกเส้นเลือดมดลูกเพื่อห้ามเลือด
    • การผ่าตัดมดลูกออก ใช้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น กรณีที่ให้การรักษาด้วยยาหรือวิธีอื่นแล้วไม่ตอบสนอง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา