ของเตรียมคลอด ควรเตรียมให้พร้อมทั้งของคุณแม่ คุณพ่อ และของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นของใช้ส่วนตัว เอกสารสำคัญ รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อความสะดวกสบายในระหว่างอยู่ที่โรงพยาบาลทั้งก่อนคลอดและหลังคลอด นอกจากนี้ คุณแม่ควรดูแลสุขภาพก่อนคลอดอยู่เสมอ เพื่อให้คลอดง่าย ฟื้นตัวหลังคลอดง่าย และส่งเสริมให้คุณแม่และทารกมีสุขภาพที่ดี
[embed-health-tool-due-date]
การวางแผนและการดูแลสุขภาพก่อนคลอด
ก่อนคลอดว่าที่คุณแม่ควรวางแผนในการดูแลสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตและอื่น ๆ ดังนี้
- พบคุณหมออยู่เสมอ ทั้งก่อนตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ และก่อนคลอด ควรเข้าพบคุณหมอตามนัดอยู่เสมอเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพของคุณแม่และสุขภาพของทารกในครรภ์ เพื่อคุณหมอจะได้ตรวจสอบสุขภาพร่างกาย เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความดันโลหิต โรคเรื้อรังอื่น ๆ คุณหมออาจให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปรับพฤติกรรมหรือการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มกาแฟ หรือการใช้ยาบางชนิดที่อาจไม่เหมาะในระหว่างการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ คุณหมออาจให้คำแนะนำเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนทั้งก่อนตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เชื้อเอชพีวี ไวรัสตับอักเสบบีและเอ หัดเยอรมัน และวัคซีนคอตีบไอกรนบาดทะยัก เนื่องจากการฉีดวัคซีนที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม อาจช่วยให้คุณแม่ตั้งครรภ์มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ทั้งยังช่วยให้ทารกไม่ป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพ
- การรับประทานกรดโฟลิก 400 ไมโครกรัม เป็นประจำทุกวัน สำหรับคุณแม่ก่อนคลอด หากได้รับกรดโฟลิกอย่างเพียงพออย่างน้อย 1 เดือนก่อนตั้งครรภ์ อาจช่วยป้องกันสมองและกระดูกสันหลังพิการแต่กำเนิดของทารกได้
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือใช้ยาบางชนิด เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ เช่น การคลอดก่อนกำหนด ความพิการแต่กำเนิด การเสียชีวิตของทารกในครรภ์
- การรักษาน้ำหนัก คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักน้อยเกินไป มากเกินไปหรือเป็นโรคอ้วน อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงหลายชนิด เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ เบาหวานชนิดที่ 2 โรคขาดสารอาหาร คุณแม่จึงควรออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อสุขภาพครรภ์และสุขภาพทารกที่สมบูรณ์แข็งแรง
- การดูแลสุขภาพจิต การมีสุขภาพจิตที่ดีจะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคุณแม่ตั้งครรภ์ จึงควรลดความรู้สึกวิตกกังวล เศร้า หรือเครียดในระหว่างตั้งครรภ์ ด้วยการจัดการกับความเครียด เช่น การอ่านหนังสือ ฟังเพลง เล่นโยคะ หรืออาจเข้าพบคุณหมอหากอาการสุขภาพจิตรุนแรงขึ้น
- หลีกเลี่ยงสารพิษและสิ่งปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เช่น โลหะ ปุ๋ย สเปรย์กำจัดแมลง สารเหล่านี้สามารถทำอันตรายต่อสุขภาพร่างกายและระบบสืบพันธุ์ของชายและหญิง การได้รับสารเคมีสะสมในปริมาณเล็กน้อยบ่อยครั้งในระหว่างตั้งครรภ์ สามารถทำให้เกิดโรคเรื้อรังและเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
ของเตรียมคลอด
สำหรับของเตรียมคลอดถือเป็นสิ่งจำเป็นที่อาจช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคุณแม่และลูกน้อยในขณะอยู่ที่โรงพยาบาลได้ ดังนี้
ของเตรียมคลอดสำหรับคุณแม่และคุณพ่อ
- บัตรประจำตัวหรือเอกสารสำคัญต่าง ๆ ของคุณแม่และคุณพ่อ
- ควรเตรียมเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ไม่รัดแน่นจนอึดอัดเกินไปอย่างน้อย 3 ชุด เพื่อใช้เปลี่ยนในขณะอยู่ที่โรงพยาบาล นอกจากนี้ ควรเตรียมเสื้อชั้นในและกางเกงชั้นในที่สวมใส่สบายอย่างน้อย 2-3 ชิ้น และควรเลือกเสื้อชั้นในที่รองรับกับการให้นมลูกด้วย เนื่องจากในช่วงให้นมลูกหน้าอกของคุณแม่อาจขยายใหญ่ขึ้นกว่าปกติ
- รองเท้า ควรเลือกรองเท้าแตะแบบส้นเตี้ย สวมใส่สบาย กันลื่น เพื่อใช้เดินในโรงพยาบาลและในห้องพัก
- ผ้าอนามัย ควรเลือกขนาดที่ใหญ่ขึ้นกว่าปกติเพื่อรองรับน้ำคาวปลาและเลือดส่วนเกินจากแผลคลอดทางช่องคลอด
- ของใช้ส่วนตัวและอุปกรณ์อาบน้ำส่วนตัวของคุณแม่และคุณพ่อ เช่น ผ้าเช็ดตัว สบู่ ชุดคลุมอาบน้ำ
- สิ่งช่วยผ่อนคลาย เช่น นิตยสาร เพลง ซีรี่ย์ อาจช่วยผ่อนคลายคุณแม่ในช่วงก่อนคลอดลูกได้
- เงินสด บัตรเครดิต สำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
- คาร์ซีท สำหรับลูกในวันเดินทางกลับ เพื่อความปลอดภัย
ของเตรียมคลอดสำหรับลูก
- เสื้อผ้าเด็กอ่อน ควรเลือกเนื้อผ้าที่ไม่ระคายเคืองผิว เลือกชุดที่มีกระดุมหรือเชือกที่สวมใส่และถอดออกง่าย อาจเตรียมหมวก ถุงมือ ถุงเท้าเพื่อช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับลูกด้วย
- ผ้าอ้อมทั้งแบบผ้าและแบบสำเร็จรูป ควรเลือกชนิดที่ไม่ระคายเคืองผิวลูก อ่อนนุ่ม มีเทปกาวที่กระชับ และพอดีกับลูก
- ทิชชู่เปียกและสำลี เพื่อใช้ทำความสะอาดผิวลูก ควรเลือกแบบที่ปราศจากน้ำหอมและไม่ระคายเคืองผิว
- อุปกรณ์อาบน้ำและดูแลผิว ควรเตรียมแชมพูอาบน้ำ ยาสระผม ฟองน้ำ สำหรับอาบน้ำลูก รวมทั้งผ้าเช็ดตัวเนื้อมนุ่มและปิโตรเลี่ยมเจลใช้ทาบริเวณก้นและรอยพับก่อนใส่ผ้าอ้อมเพื่อป้องกันผดผื่น