ท้องไม่พร้อม เป็นปัญหาหนึ่งที่อาจพบได้บ่อยในปัจจุบันโดยเฉพาะในวัยรุ่น เนื่องจากวัยรุ่นอาจขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการคุมกำเนิดอย่างถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงค่านิยมของสังคมยังอาจมองว่าการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม จึงอาจทำให้วัยรุ่นเกิดความรู้สึกอายและไม่กล้าขอคำปรึกษาจากผู้ใหญ่และไม่เลือกใช้การคุมกำเนิด จึงทำให้เกิดปัญหาการท้องไม่พร้อมที่สามารถส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงอนาคตของตนเองในระยะยาวได้
ท้องไม่พร้อม ทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพอย่างไร
ท้องไม่พร้อมอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจ ดังนี้
- ขาดการดูแลก่อนคลอด การท้องไม่พร้อมโดยเฉพาะในวัยรุ่นอาจเสี่ยงที่จะขาดการดูแลตัวเองและทารกในท้องอย่างเหมาะสม เนื่องจากขาดความรู้และประสบการณ์ ยิ่งหากครอบครัวไม่สนับสนุนก็จะยิ่งถูกละเลย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของคุณแม่และทารกในท้อง รวมถึงอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตใจ จนอาจทำให้เกิดเป็นภาวะซึมเศร้า หรือการทำแท้งผิดกฎหมาย
- ภาวะซึมเศร้า การท้องไม่พร้อมเสี่ยงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าในขณะตั้งท้องหรือหลังคลอด โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวหรือคนรอบข้าง อาจทำให้เกิดความเศร้าและความรู้สึกโดดเดี่ยวได้
- ความดันโลหิตสูง วัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อมก่อนอายุ 20 ปี อาจเสี่ยงเป็นภาวะความดันโลหิตสูงในขณะท้องมากขึ้น ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของภาวะนี้ แต่อาจเกิดจากการพัฒนาของรก จนทำให้หลอดเลือดหดตัวมาก มักเกิดขึ้นในผู้หญิงที่ตั้งท้องแรกและไม่ได้เข้าฝากครรภ์เพื่อตรวจสุขภาพอย่างเหมาะสม หากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในขณะท้อง เช่น คลอดก่อนกำหนด ภาวะครรภ์เป็นพิษ
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การท้องไม่พร้อมมักเกิดขึ้นในวัยรุ่น เนื่องจากการไม่คุมกำเนิดอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการไม่สวมใส่ถุงยางอนามัยที่อาจเสี่ยงทำให้ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน หนองในเทียม เอชไอวี ที่สามารถส่งต่อถึงทารกในท้อง
- คลอดก่อนกำหนด การท้องไม่พร้อมในขณะที่อายุยังน้อยอาจเสี่ยงที่สภาพร่างกายของคุณแม่ยังไม่พร้อมต่อการท้อง จึงอาจก่อให้เกิดความผิดปกติของการท้องได้ง่าย และอาจทำให้ต้องคลอดก่อนกำหนด ซึ่งทารกที่คลอดก่อนกำหนดอาจมีสุขภาพอ่อนแอ มีปัญหาระบบหายใจ ระบบย่อยอาหาร การมองเห็น การรับรู้ และปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้
- ทารกน้ำหนักแรกเกิดน้อย การท้องไม่พร้อมอาจทำให้คุณแม่ไม่สามารถดูแลสุขภาพระหว่างท้อง หรือปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในขณะท้องได้ดีเท่าที่ควร จึงอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้ทารกมีขนาดตัวเล็กและมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย เนื่องจากไม่ได้รับสารอาหารที่เหมาะสม หรือร่างกายยังพัฒนาไม่เต็มที่ เนื่องจากการคลอดก่อนกำหนด
เมื่อท้องไม่พร้อม ควรทำอย่างไร
การท้องไม่พร้อมมักเกิดขึ้นในวัยรุ่น ซึ่งอาจเสี่ยงทำให้เกิดปัญหาสุขภาพระหว่างท้องต่อตัวคุณแม่และทารกในท้อง จึงควรดูแลสุขภาพการตั้งท้อง ดังนี้
- พูดคุยกับพ่อแม่ ญาติ หรือพี่น้อง เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับวิธีดูแลตัวเองในขณะท้อง และรวมหาวิธีแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเมื่อท้องไม่พร้อม
- ขอการดูแลและสนับสนุนทางอารมณ์ คนท้องมีความเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนและสภาพร่างกายอย่างมาก จึงอาจทำให้มีอารมณ์แปรปรวนหรือเกิดความทุกข์ภายในจิตใจ โดยเฉพาะการท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นที่กำลังเรียนอยู่ หรือในผู้ที่มีภาระหน้าที่มากแต่พลาดท้อง จึงควรขอความร่วมมือจากคนรอบข้าง เช่น พ่อแม่ ญาติ พี่น้อง พ่อของลูก เพื่อน เพื่อช่วยเป็นกำลังใจ ช่วยแบ่งเบาความรู้สึกและอารมณ์ ซึ่งอาจช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้าได้
- การฝากท้อง เข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจสุขภาพการตั้งท้อง เพื่อตรวจสุขภาพคุณแม่และทารกในท้อง จัดตารางนัดหมายตรวจสุขภาพในครั้งต่อไป และรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพการตั้งท้องอย่างเหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใช้ยาเสพติด และการสูบบุหรี่ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นอันตรายต่อทารกในท้อง อาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด หรืออาจทำให้พัฒนาการล่าช้า
- กินอาหารเสริมวิตามิน ควรกินอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีกรดโฟลิก (Folic Acid) ตั้งแต่ 3 เดือน ก่อนตั้งท้องไปจนถึง 3 เดือนแรกของการตั้งท้อง อย่างน้อย 400 ไมโครกรัม/วัน (0.4 มิลลิกรัม/วัน ) และกินเพิ่ม เป็น 600-800 ไมโครกรัม/วัน (0.6-0.8 มิลลิกรัม/วัน) ไปตลอดการตั้งท้องเป็นประจำทุกวัน เพื่อช่วยป้องกันความพิการแต่กำเนิดของทารก
การป้องกันการท้องไม่พร้อม
วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการท้องไม่พร้อมอาจทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ หรือควรเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งท้อง โดยวิธีการคุมกำเนิดนั้นมีหลายประเภทที่สามารถเลือกใช้ได้ตามความสะดวกของแต่ละคน เช่น ถุงยางอนามัย ยาคุมกำเนิด ห่วงคุมกำเนิด ฉีดยาคุมกำเนิด แผ่นแปะคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด
หากต้องการใช้วิธีการคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งท้องไม่พร้อม ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับวิธีการคุมกำเนิดที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้การคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งท้องไม่พร้อม
[embed-health-tool-due-date]