backup og meta

อาการคนท้องอ่อน ๆ และการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/10/2022

    อาการคนท้องอ่อน ๆ และการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี

    อาการ คน ท้อง อ่อน ๆ อาจสังเกตได้จากการที่ประจำเดือนขาด มีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เต้านมและหัวนมขยายใหญ่และคัดตึง อยากอาหารมากกว่าปกติ ถ่ายปัสสาวะบ่อย เป็นต้น หากมีอาการดังกล่าวร่วมกับเคยมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันในช่วงไม่นานมานี้ ควรใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์เพื่อยืนยันผล หากพบว่าตั้งครรภ์ควรไปพบคุณหมอเพื่อฝากครรภ์ และควรดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี เช่น ออกกำลังกายบ่อย ๆ งดสูบบุหรี่ ลดการดื่มกาแฟ เพื่อให้เด็กในครรภ์เจริญเติบโตอย่างแข็งแรงสมบูรณ์ และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน

    อาการ คน ท้อง อ่อน ๆ เป็นอย่างไร

    สัญญาณและ อาการ คน ท้อง อ่อน ๆ อาจมีดังนี้

    ภาวะประจำเดือนขาดหรือประจำเดือนไม่มามักเป็นสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์ เนื่องจากเมื่อเกิดการปฏิสนธิ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนที่หยุดการตกไข่และยับยั้งการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก ส่งผลให้ประจำเดือนขาด แต่บางครั้งคนท้องอาจมีเลือดออกจากช่องคลอดในปริมาณเล็กน้อยในช่วงเวลาที่ควรมีประจำเดือน เลือดลักษณะนี้เรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก เกิดจากตัวอ่อนฝังตัวที่ผนังมดลูก ทำให้หลอดเลือดฝอยในมดลูกแตกและมีเลือดไหลออกจากช่องคลอด มักเกิดขึ้นหลังปฏิสนธิประมาณ 10-14 วัน

    • คลื่นไส้และอาเจียน

    คนท้องในระยะแรกมักมีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ฮอร์โมนเอชซีจี (Human Chorionic Gonadotropin หรือ hCG)  ฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ อาการแพ้ท้องมักเริ่มปรากฏในช่วงสัปดาห์ที่ 4-6 ของการตั้งครรภ์ และอาจหายไปในสัปดาห์ที่ 12 ของการตั้งครรภ์ แต่คนท้องบางรายอาจมีอาการไปอีกสักพัก ก่อนอาการจะหายไป และอาจกลับมาเป็นอีกในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 32 ของการตั้งครรภ์

    • เต้านมคัดตึง

    ในช่วงตั้งครรภ์ เต้านมของคนท้องจะขยายใหญ่ หน้าอกจะดูอิ่มและบวมขึ้น คล้าย ๆ กับอาการที่เกิดขึ้นก่อนเป็นประจำเดือน คนท้องอาจรู้สึกว่าหน้าอกหนักขึ้น และสีผิวบริเวณลานนมเปลี่ยนไป โดยทั่วไปมักป็นสีน้ำตาลคล้ำ และมองเห็นเส้นเลือดบริเวณเต้านมได้อย่างชัดเจน โดยอาการเต้านมคัดตึงมักเกิดขึ้นตั้งแต่ 1 สัปดาห์หลังการปฏิสนธิและอาจดำเนินต่อไปจนถึงช่วงหลังคลอด

    • อยากอาหารมากกว่าปกติ

    อาการอยากอาหารเป็นอาการคนท้องอ่อน ๆ ที่พบได้บ่อย อีกทั้งคนท้องมักมีการรับรู้กลิ่นและรสที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหากเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น เค้กช็อกโกแลต น้ำหวาน อาหารแคลเซียมสูง เช่น นมและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมอย่างครีม เนย ชีส เป็นต้น และอาจอยากกินอาหารรสเปรี้ยวหรือของหมักดอง เช่น มะม่วงดอง มะยม มะขามอ่อนสด บางครั้งคนท้องก็อาจรู้สึกเบื่ออาหารที่เคยชอบมาตลอด หรืออยากกินอาหารที่ปกติแล้วไม่ชอบกิน ความอยากอาหารมักเริ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรกหรือเดือนที่ 1-3 ของการตั้งครรภ์ แม่ท้องบางคนอาจมีอาการตลอดช่วงตั้งครรภ์ และอาจอยากอาหารรุนแรงมากในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือเดือน 4-6 ของการตั้งครรภ์

    • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย

    ความเหนื่อยล้าเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในช่วงระยะแรกของการตั้งครรภ์ อาจเกิดจากร่างกายมีระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เพิ่มขึ้นเพื่อช่วยให้มดลูกขยายตัวและป้องกันการหดตัวของมดลูกซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อตัวอ่อน อีกทั้งฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนยังเร่งกระบวนการเผาผลาญพลังงาน ร่างกายจึงอาจดึงพลังงานไปใช้มากกว่าปกติ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และอาจทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหารบางชนิด เช่น ธาตุเหล็ก จนทำให้มีอาการหน้ามืดและเหนื่อยล้าได้ง่าย อาการเหล่านี้อาจดีขึ้นในช่วงเดือนที่ 4 ของการตั้งครรภ์ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายสร้างรกเพื่อรองรับทารกได้อย่างสมบูรณ์แล้ว

    • ถ่ายปัสสาวะบ่อย

    ฮอร์โมนเอชซีจีที่หลั่งในขณะตั้งครรภ์อาจเพิ่มระดับของเหลวในร่างกายและเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังไต เมื่อไตทำงานมากขึ้น ร่างกายจึงขับของเสียออกมาได้เร็วขึ้น ทำให้คนท้องจำเป็นถ่ายปัสสาวะบ่อยครั้ง นอกจากนี้ เมื่อเวลาผ่านไปมดลูกจะขยายตัวใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนไปกดทับกระเพาะปัสสาวะที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้มีพื้นที่เก็บปัสสาวะน้อยลง และกระตุ้นให้ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น โดยคนท้องอาจเริ่มมีอาการถ่ายปัสสาวะบ่อยกว่าปกติภายใน 2-3 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์

    วิธีดูแลตัวเองเมื่อตั้งครรภ์ระยะแรก

    การดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ระยะแรก สามารถทำได้ดังนี้

    • ออกกำลังกายเบา ๆ คนท้องอ่อน ๆ สามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ โดยเน้นรูปแบบการออกกำลังกายที่เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและข้อต่อที่จำเป็นในการคลอดลูกอย่างสะโพกและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เช่น การแอโรบิกในน้ำ การปั่นจักรยานอยู่กับที่ การเดินระยะสั้น โยคะ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย ปวดหลัง และตะคริวที่ขาได้ด้วย
    • ปรึกษาคุณหมอผู้ดูแลก่อนใช้ยา หากคุณแม่ต้องการใช้ยารักษาโรค ควรปรึกษาคุณหมอและทีมแพทย์ผู้ดูแลทุกครั้ง เพื่อตรวจสอบว่ายาที่ต้องการใช้ปลอดภัยสำหรับเด็กในครรภ์หรือไม่ คุณหมออาจให้คำแนะนำในการเปลี่ยนยาหรือการใช้ยาในปริมาณที่เหมาะสม นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็นในระหว่างตั้งครรภ์ด้วย
    • ลดอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง ช็อกโกแลต เนื่องจากคาเฟอีนจากคุณแม่สามารถส่งผ่านไปสู่ทารกในครรภ์ได้ผ่านทางรก จึงอาจส่งผลเสียต่อการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดของทารกในครรภ์ และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ภาวะแท้ง ภาวะตายคลอด คนท้องควรจำกัดการบริโภคคาเฟอีนให้ไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน
    • งดสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์จะทำให้เด็กได้รับสารเคมี เช่น นิโคติน ทาร์หรือน้ำมันดิน คาร์บอนมอนอกไซด์ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายของทั้งคุณแม่และเด็กในครรภ์ จึงควรงดสูบบุหรี่ในช่วงวางแผนตั้งครรภ์ ช่วงตั้งครรภ์ และช่วงให้นมบุตร และควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่สูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงในการรับควันบุหรี่มือสอง

    ตรวจครรภ์ได้เร็วที่สุดเมื่อไหร่

    ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์สามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ด้วยการตรวจวัดระดับฮอร์โมนเอชซีจีในปัสสาวะโดยใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อและร้านขายยา โดยทั่วไป สามารถตรวจครรภ์ได้หลังจากที่พบว่าประจำเดือนขาดหรือไม่มาตามปกติ แต่เพื่อความแน่ใจ ควรรออย่างน้อย 1 สัปดาห์จึงค่อยใช้ที่ตรวจการตั้งครรภ์ และควรตรวจครรภ์ในตอนเช้าหลังตื่นนอน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ระดับฮอร์โมนเอชซีจีค่อนข้างสูงจึงตรวจจับได้ง่าย ซึ่งจะทำให้ได้ผลทดสอบที่แม่นยำและคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด

    สัญญาณและอาการระหว่างตั้งครรภ์ที่ควรไปพบคุณหมอ

    อาการต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณแม่และเด็กในท้อง ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม และเข้ารับการรักษาโดยเร็ว

    • ปวดศีรษะรุนแรงและเรื้อรัง
    • อาเจียนรุนแรงและเรื้อรัง
    • รู้สึกหายใจไม่ออก วิงเวียนศีรษะ อ่อนแรง หรือหัวใจเต้นแรงผิดปกติ
    • ได้รับบาดเจ็บที่ท้อง เช่น ล้มในห้องน้ำ ถูกกระแทกที่ท้อง
    • น้ำหนักลดลงเรื่อย ๆ
    • มีไข้ หนาวสั่น
    • มีอาการปวดแปลบและรู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ
    • มีเลือดไหลออกจากช่องคลอด
    • มีมูกเหลวหรือเลือดไหลออกจากช่องคลอดในลักษณะผิดปกติ หรือมากกว่าปกติ
    • มีปัญหาทางอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล จนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ นานกว่า 2 สัปดาห์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา