ท้อง 1 สัปดาห์ ตรวจเจอ ไหม อาจเป็นคำถามที่ผู้หญิงหลายคนสงสัย โดยทั่วไปอาจตรวจพบได้ หากพบว่าประจำเดือนขาดไป 1 สัปดาห์ และในปัสสาวะมีฮอร์โมนเอชซีจี (Human Chorionic Gonadotropin หรือ hCG) ซึ่งเป็นฮอร์โมนตั้งครรภ์เพียงพอที่ชุดตรวจการตั้งครรภ์ที่บ้านจะสามารถตรวจเจอได้ แต่เพื่อความแม่นยำสามารถตรวจซ้ำอีกรอบหรือตรวจที่โรงพยาบาลอีกครั้งเพื่อยืนยันผล
[embed-health-tool-due-date]
ท้อง 1 สัปดาห์ ตรวจเจอ ไหม
ท้อง 1 สัปดาห์ ตรวจเจอไหม อาจเป็นคำถามที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะผู้หญิงที่ประจำเดือนมาปกติแต่ประจำเดือนขาด โดยทั่วไปการตรวจการตั้งครรภ์อาจตรวจพบได้เร็วที่สุดหลังประจำเดือนขาดไป 1 สัปดาห์ โดยเฉพาะหากฮอร์โมนเอชซีจีซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จะถูกผลิตในระหว่างตั้งครรภ์มีความเข้มข้นเพียงพอที่ชุดตรวจการตั้งครรภ์ที่บ้านจะสามารถตรวจพบได้ แต่หากตรวจไม่พบให้เว้นระยะเวลาไปอีก 1 สัปดาห์ หากประจำเดือนยังไม่มาให้ตรวจซ้ำอีกครั้ง
ในบางกรณี ผู้ที่ประจำเดือนขาดเป็นเวลานานแต่ตรวจด้วยชุดตรวจการตั้งครรภ์ที่บ้านแล้วยังไม่พบการตั้งครรภ์ ควรเข้ารับการตรวจการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลเพื่อความแม่นยำและสามารถฝากครรภ์ได้ทันที หรืออาจสามารถตรวจความผิดปกติอื่น ๆ ที่ทำให้ประจำเดือนขาดได้อีกด้วย
วิธีตรวจการตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง
วิธีตรวจการตั้งครรภ์อาจมีด้วยกัน 2 วิธี ดังนี้
ชุดตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง
เป็นชุดตรวจการตั้งครรภ์ที่สามารถตรวจด้วยตัวเองได้ที่บ้าน ใช้งานง่ายและสะดวก โดยการใช้ปัสสาวะในการตรวจการตั้งครรภ์ และหากมีการตั้งครรภ์ในปัสสาวะจะมีระดับฮอร์โมนเอชซีจีสูง ซึ่งชุดตรวจการตั้งครรภ์สามารถอ่านผลลัพธ์ได้ ดังนี้
- ผลบวกหรือมีสัญลักษณ์ 2 ขีด แสดงว่าพบการตั้งครรภ์ แต่ในบางกรณีอาจมีความผิดพลาดจากบางปัจจัย เช่น สูญเสียการตั้งครรภ์ไม่นาน รังไข่ผิดปกติ มีเนื้องอกที่สร้างฮอร์โมนการตั้งครรภ์แต่พบได้น้อยมาก
- ผลลบหรือมีสัญลักษณ์ 1 ขีด แสดงว่าไม่พบการตั้งครรภ์ แต่ในบางกรณีอาจมีความผิดพลาดจากบางปัจจัย เช่น ตรวจการตั้งครรภ์เร็วเกินไป ใช้ปัสสาวะในการตรวจเจือจางเกินไป
ตรวจการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาล
การทดสอบการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลอาจทำได้ด้วยการตรวจเลือด โดยสามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้เร็วกว่าชุดตรวจการตั้งครรภ์ด้วย คือ ประมาณ 6-8 วันหลังตกไข่ และมีการปฏิสนธิเกิดขึ้น
เมื่อตรวจเจอการตั้งครรภ์ควรทำอย่างไร
หากตรวจพบว่ากำลังตั้งครรภ์ควรเตรียมตัว ดังนี้
- ฝากครรภ์ ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อนัดหมายตรวจสุขภาพการตั้งครรภ์และสุขภาพของทารกในครรภ์ รวมทั้งยังอาจช่วยป้องกันโรคหรือความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์
- ปรับวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพการตั้งครรภ์ ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงครรภ์และทารกในครรภ์ เช่น วิตามินดี กรดโฟลิก (Folic) แคลเซียม เหล็ก นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณการรับประทานอาหารบางชนิด เช่น คาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก เนื่องจากอาจเสี่ยงในการติดเชื้อและอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์
- ออกกำลังกาย เช่น โยคะ ออกกำลังกายอุ้งเชิงกราน ยืดกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดหลังและปวดเมื่อยร่างกายในขณะตั้งครรภ์ได้ นอกจากนี้ ยังอาจช่วยให้คลอดง่ายขึ้น และบรรเทาความเจ็บปวดได้