backup og meta

อาการคนท้องระยะแรก 1-2 สัปดาห์ เป็นอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/02/2023

    อาการคนท้องระยะแรก 1-2 สัปดาห์ เป็นอย่างไร

    การคำนวณอายุครรภ์จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุดก่อนท้อง ช่วงสัปดาห์ต้น ๆ ของการตั้งครรภ์จึงเป็นช่วงที่รังไข่ปล่อยไข่ใบที่สุกที่สุดไปที่ท่อนำไข่เพื่อรอการปฏิสนธิ หรือที่เรียกว่าช่วงไข่ตก จึงสามารถพูดได้ว่าอาการของคนท้อง 1-2 สัปดาห์นั้นยังไม่ได้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นจริง แต่เป็นอาการที่เกิดขึ้นในช่วงไข่ตก เช่น มีมูกใสไหลออกจากช่องคลอด อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเล็กน้อย ปวดหรือเป็นตะคริวบริเวณกระดูกอุ้งเชิงกรานข้างใดข้างหนึ่ง เต้านมคัดตึง มีความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การตั้งครรภ์

    การนับอายุครรภ์ ทำได้อย่างไร

    โดยทั่วไปแล้ว การนับอายุครรภ์จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุดก่อนท้อง เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถคาดการณ์วันคลอดได้แม่นยำมากที่สุด ทำให้ในช่วงที่คนท้องมีอายุครรภ์ประมาณ 1-2 สัปดาห์ จะยังไม่ถือว่าเป็นการตั้งครรภ์จริง ๆ โดยสัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์จะเป็นช่วงมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย ส่วนสัปดาห์ที่ 2 จะเป็นช่วงที่รังไข่ปล่อยไข่ใบที่สุกที่สุดไปสู่ส่วนปลายของท่อนำไข่ หากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงตกไข่และไข่ได้ผสมกับอสุจิ หรือที่เรียกว่าการปฏิสนธิ ไข่ก็จะไม่เสื่อมสลายไปเป็นประจำเดือน ช่วงที่เกิดการปฏิสนธิจนไข่กลายเป็นตัวอ่อนจะนับเป็นสัปดาห์ที่ 3 ของการตั้งครรภ์ และในช่วงท้ายของสัปดาห์ที่ 4 ไข่จะฝังตัวกับมดลูกอย่างสมบูรณ์

    หลังเกิดการปฏิสนธิ ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ออกมา เช่น ฮอร์โมนการตั้งครรภ์ที่สร้างจากเซลล์ของรก หรือที่เรียกว่าฮอร์โมนเอชซีจี (hCG) ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดเดียวกับที่ตรวจพบในปัสสาวะได้จากการใช้ที่ตรวจครรภ์ ฮอร์โมนเอชซีจีจะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนอื่น ๆ เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ช่วยให้ร่างกายปรับตัวเข้าสู่ภาวะตั้งครรภ์ได้อย่างเหมาะสม ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่ทำให้เยื่อยุโพรงมดลูกไม่ลอกหลุดเป็นประจำเดือน เพื่อรับการฝังตัวของตัวอ่อน ฮอร์โมนเหล่านี้จะทำให้คนท้องมีอาการของคนท้องระยะแรก เช่น อาการแพ้ท้อง อ่อนเพลียง่าย ไวต่อกลิ่นและรสชาติ ไม่อยากอาหาร โดยทั่วไป อาการแพ้ท้องมักเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 1 หรือในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ โดยอาจเริ่มต้นในสัปดาห์ที่ 6 ของการตั้งครรภ์ และเป็นมากในช่วงสัปดาห์ที่ 9-14

    อาการคนท้องระยะแรก 1-2 สัปดาห์ จึงยังไม่ใช่อาการของการตั้งท้องอ่อน ๆ เสียทีเดียว แต่จะเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากร่างกายมีการตกไข่หรือที่เรียกว่าไข่ตก (Ovulation) ซึ่งเป็นภาวะที่รังไข่ปล่อยไข่ไปยังท่อนำไข่เพื่อรอการปฏิสนธิ ถือเป็นช่วงที่ร่างกายของผู้หญิงพร้อมตั้งครรภ์ที่สุด สำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือนทุก ๆ 28 วันอย่างสม่ำเสมอ การตกไข่มักจะเกิดขึ้นประมาณวันที่ 14-17 ของแต่ละรอบเดือน (เริ่มนับวันที่ประจำเดือนมาวันแรกเป็นวันที่ 1 ของรอบเดือน) หากมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 1-3 วันก่อนวันไข่ตกและในวันไข่ตก จะมีโอกาสท้องได้มากขึ้น

    อาการคนท้องระยะแรก 1-2 สัปดาห์ เป็นอย่างไร

    อาการคนท้องระยะแรก 1-2 สัปดาห์ตามการนับอายุครรภ์ มักเริ่มในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ไข่ตก ในระยะนี้อาจสังเกตเห็นอาการดังต่อไปนี้

    • ปริมาณของตกขาวเปลี่ยนไป ในช่วงปรับตัวเข้าสู่ระยะไข่ตก ร่างกายจะผลิตตกขาวหรือมูกไข่ตกที่เป็นของเหลวเหนียว บาง ใสคล้ายไข่ขาว บริเวณปากมดลูกมากกว่าปกติ โดยทั่วไปแล้วตกขาวจะมีปริมาณมากที่สุดในวันที่ไข่ตก
    • อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลง ในช่วงใกล้วันไข่ตก อุณหภูมิร่างกายจะลดลงเล็กน้อย และในระหว่างที่ไข่ตก อุณหภูมิร่างกายมักจะสูงขึ้น ซึ่งอาจสามารถตรวจวัดได้ด้วยการใช้เทอร์โมมิเตอร์
    • ปากมดลูกอ่อนนุ่มลง ในช่วงที่ไข่ตก ปากมดลูกจะอ่อนนุ่มลง มีน้ำหล่อลื่นมากขึ้นและขยายกว้างขึ้นเพื่อให้อสุจิสามารถเดินทางเข้าสู่มดลูกได้สะดวก ทั้งนี้ หลายคนอาจไม่ทันได้สังเกตอาการนี้

    นอกจากนี้ ยังมีอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงไข่ตก ซึ่งอาจเกิดขึ้นไม่สม่ำเสมอ และอาจแตกต่างไปในแต่ละคน

  • เลือดออกจากช่องคลอดแบบกะปริบกะปรอย (อาจสังเกตได้จากมีจุดเลือดที่กางเกงชั้นใน)
  • มีความต้องการทางเพศสูงขึ้น
  • เต้านมคัดตึง
  • ท้องอืด
  • เป็นตะคริวหรือปวดบริเวณกระดูกอุ้งเชิงกรานข้างใดข้างหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าในเดือนนั้น ๆ มีไข่ตกมาจากรังไข่ข้างใด
  • การดูแลตัวเองขณะท้องอ่อน ๆ

    การดูแลตัวเองขณะท้องอ่อน ๆ อาจทำได้ดังนี้

    • เข้ารับการฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าท้อง และไปพบคุณหมอตามนัดตรวจครรภ์ทุกครั้ง เพื่อตรวจสุขภาพของคุณแม่และเด็กในท้องเป็นระยะ หากตรวจสอบพบว่าพัฒนาการของเด็กในท้องผิดปกติ จะได้สามารถวางแผนการรักษาหรือเฝ้าระวังได้อย่างเหมาะสม
    • ผู้หญิงที่กำลังพยายามมีลูกและผู้หญิงที่ท้องอ่อน ๆ ควรรับประทานกรดโฟลิก ซึ่งเป็นโฟเลตหรือวิตามินบี 9 สังเคราะห์ในปริมาณ 400 ไมโครกรัม หรือ 0.4 มิลลิกรัม เป็นประจำวันทุกวัน ตั้งแต่ก่อนท้อง 3 เดือนไปจนถึงอายุครรภ์ 3 เดือน เพื่อช่วยให้หลอดประสาทของเด็กในท้องมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ กะโหลกศีรษะปิดสนิท และลดความเสี่ยงในการเกิดความพิการทางสมองและระบบประสาทส่วนกลาง
    • รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงให้หลากหลาย เช่น ผักและผลไม้ที่มีวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหารที่ช่วยป้องกันท้องผูก นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัวที่มีแคลเซียมเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก โปรตีนไม่ติดมันที่ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
    • ควรงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่ เพราะเป็นอันตรายต่อพัฒนาการของเด็กในท้อง ทั้งยังทำให้เสี่ยงแท้ง เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด หรือเด็กมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์ ทั้งนี้ คนท้องควรอยู่ให้ห่างจากผู้ที่สูบบุหรี่ด้วย เพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับควันบุหรี่มือสองซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนท้องและเด็กในท้อง อาจทำให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ โรคมะเร็งปอด การแท้ง การคลอดก่อนกำเนิด ทารกในครรภ์เจริญเติบโตและมีพัฒนาการช้าตั้งแต่ในครรภ์ ทารกไหลตาย ทารกพิการตั้งแต่กำเนิด ทารกแรกคลอดมีพัฒนาการล่าช้า เป็นต้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา