การตั้งครรภ์แบ่งออกเป็น 3 ไตรมาส ไตรมาสที่ 3 เริ่มจากสัปดาห์ที่ 28 และทารกจะถือว่าครบกำหนดคลอดในสัปดาห์ที่ 40 เวลานี้อาจเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายมากสำหรับทั้งมารดาที่จะคลอดและทารกในครรภ์ และนี่คือสิ่งที่ คนท้องไตรมาสที่3 ควรรู้ เพื่อจะได้ดูแลตัวเองและลูกน้อยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
[embed-health-tool-due-date]
เรื่องควรรู้สำหรับ คนท้องไตรมาสที่3
ในไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์นี้ มีสิ่งที่ต้องทำหลายประการ เริ่มตั้งแต่การส่งต่องานที่รับผิดชอบให้ผู้อื่นดูแลแทนสำหรับคุณแม่ที่ทำงานประจำ ไปจนถึงการเตรียมคลอด สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคนท้องไตรมาสที่ 3 นี้ คุณแม่จะมีครรภ์ใหญ่ขึ้น มือและเท้าอาจบวม จนแทบไม่อยากเคลื่อนไหวร่างกาย แต่ทราบหรือไม่ว่า ทารกในครรภ์ก็กำลังทำงานที่สำคัญบางประการอยู่ภายในครรภ์เช่นกัน
ในช่วงเริ่มต้น ไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ อวัยวะต่าง ๆ ของเด็กจะก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างอย่างเต็มที่แล้ว แต่ยังไม่เจริญเติบโตเพียงพอที่จะทำงานได้ด้วยตัวเอง แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ หรือช่วงใกล้คลอด อวัยวะต่าง ๆ ของทารก เช่น สมอง ปอด ดวงตา หัวใจ จะเจริญเติบโตอย่างเต็มที่
เมื่อเริ่มต้นไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ทารกน้อยในครรภ์จะเริ่มลืมตาได้แล้ว และในสัปดาห์ถัดไป กระดูกจะเจริญเติบโตเต็มที่ ในสัปดาห์ที่ 31 ระบบประสาทส่วนกลางของลูกน้อย จะสามารถเริ่มต้นควบคุมอุณหภูมิของร่างกายได้ และต่อมาร่างกายของทารกจะผลิตสารลดแรงตึงผิวของปอด (Surfactant) เพื่อช่วยป้องกันปอดจากความเสียหาย และช่วยให้ลูกฝึกหายใจได้ จากนั้นอีกหนึ่งสัปดาห์ เด็กจะสามารถรู้สึกได้ถึงแสงสว่างที่ส่องเข้าไปในดวงตา เนื่องจากรูม่านตาหดตัวและขยายตัวได้แล้ว
ในสัปดาห์ที่ 35 เด็กจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แขนหรือขามีเนื้อมากขึ้น สองสัปดาห์ถัดมา ลูกถือว่าครบกำหนดในระยะต้น (early term) แล้ว โดยอวัยวะต่าง ๆ มีความพร้อมที่จะทำงานสำหรับการมีชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเอง ศีรษะของทารกอาจเริ่มเคลื่อนตัวลงไปยังเชิงกราน (หากไม่เป็นเช่นนั้น ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ)
ต่อมา ในสัปดาห์ที่ 38 เล็บนิ้วเท้าของเด็กจะเติบโต และยาวจนถึงปลายนิ้วเท้า (เล็บมือเติบโตตั้งแต่หนึ่งเดือนก่อนหน้านี้) ในช่วงสัปดาห์ในระยะสุดท้าย สมองของเด็กอาจมีน้ำหนักได้ถึงประมาณ 400 กรัม พื้นผิวที่ราบเรียบของสมองจะเริ่มมีร่องและรอยหยัก และสมองของทารกน้อยจะเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ แม้กระทั่งหลังคลอด
นอกจากนี้ ในไตรมาสสุดท้าย รกยังให้แอนติบอดีต่าง ๆ และสารอาหารที่สำคัญแก่ทารก ซึ่งช่วยต้านการติดเชื้อ และบำรุงทารกหลังคลอด โดยสรุปแล้ว ทารกที่ยังไม่ครบกำหนดคลอด จะมีพัฒนาการที่สำคัญมากหลายประการในไตรมาสที่ 3
ข้อควรระวังสำหรับคนท้องไตรมาสที่3
ลูกเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ นั่นทำให้เขาเคลื่อนไหวในครรภ์ได้มากขึ้น โดยทารกแต่ละคนก็จะมีรูปแบบและช่วงเวลาในการเคลื่อนไหวร่างกายมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับรูปแบบในการหลับและตื่นนอนของเขานั่นเอง ในช่วงเวลานี้ คุณแม่อาจมีอาการปวดเมื่อย และอาการบวมได้ และคุณแม่ใกล้คลอดส่วนใหญ่ก็อาจกังวลเรื่องการคลอดด้วย
เมื่อทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์ ก็ควรไปฝากครรภ์และพบคุณหมอตามกำหนด เพราะหากมีปัญหาใดเกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ คุณหมอจะได้วินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที และหากคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 3 มีอาการปวดท้องรุนแรง มีอาการบวม เลือดออกทางช่องคลอด มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มดลูกมีการบีบตัว มีน้ำใสไหลจากช่องคลอด หรือรู้สึกว่าทารกในครรภ์มีการเคลื่อนไหวน้อยลงกว่าก่อนหน้านี้ ควรรีบไปพบคุณหมอทันที
อีกหนึ่งสิ่งที่คนท้องไตรมาสที่ 3 ไม่ควรละเลยก็คือ การเตรียมตัวคลอดให้เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการคลอด การซื้อเสื้อผ้าและอุปกรณ์สำหรับทารกแรกคลอด และจะต้องไม่ลืมรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับให้มากขึ้น และพูดคุยกับลูกน้อยในครรภ์ด้วย วิธีเหล่านี้จะช่วยให้เป็นคุณแม่ใกล้คลอดที่สุขภาพดีทั้งกายใจ ทั้งยังส่งผลให้ทารกในครรภ์ที่เตรียมจะลืมตาดูโลกแข็งแรงไปพร้อมกันอีกด้วย