backup og meta

รกเกาะต่ำ ภาวะต้องระวังในหญิงตั้งครรภ์กับวิธีรักษา

รกเกาะต่ำ ภาวะต้องระวังในหญิงตั้งครรภ์กับวิธีรักษา

รกเกาะต่ำ ถือว่าเป็นภาวะที่ค่อนข้างอันตรายสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ จำเป็นที่ต้องดูแลตนเองภายใต้คำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพราะหากเกิดข้อผิดพลาดอาจเกิดอันตรายต่อทั้งคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ได้ คุณแม่ควรศึกษาสัญญาณเตือนและอาการของรกเกาะต่ำ และควรหมั่นสังเกตร่างกายตนเองว่ามีความผิดปกติใด ๆ หรือไม่ หากพบอาการที่เข้าข่ายภาวะรกเกาะต่ำ จะได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อความปลอดภัยต่อตัวคุณแม่และทารกในครรภ์

[embed-health-tool-due-date]

รกเกาะต่ำ คืออะไร

รกเกาะต่ำ (Placenta Previa) เกิดจากการที่รกซึ่งเป็นอวัยวะที่ฝังตัวกับผนังมดลูกของหญิงตั้งครรภ์และเชื่อมต่อกับสายสะดือมีหน้าที่ช่วยลำเลียงสารอาหาร และออกซิเจนไปสู่ทารกในครรภ์มีการฝังตัวที่ตำแหน่งใกล้หรือคลุมบริเวณปากมดลูกของหญิงตั้งครรภ์ จนเกิดการปิดกั้นบริเวณปากมดลูกบางส่วนหรือทั้งหมดทำให้ไม่สามารถคลอดได้ตามธรรมชาติ เสี่ยงเสียเลือดมากระหว่างตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด เพิ่มความเสี่ยงการตกเลือดหลังคลอด หรือเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดได้

นอกจากนี้ ภาวะรกเกาะต่ำนี้อาจยังเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากพฤติกรรมของคุณแม่โดยไม่รู้ตัว หรือเกิดขึ้นเองตามภาวะทางสุขภาพของคุณแม่แต่ละบุคคล ดังต่อไปนี้

  • สูบบุหรี่ หรือสารเสพติดมาก่อน
  • มีประวัติการผ่าตัดเกี่ยวข้องกับมดลูกก่อนการตั้งครรภ์
  • มีประวัติการขูดมดลูก
  • ทารกในครรภ์อยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติ
  • ร่างกายผลิตรกขนาดใหญ่ผิดปกติ
  • ตั้งครรภ์ในช่วงอายุมาก
  • มดลูกมีลักษณะผิดปกติ

สัญญาณเตือนของภาวะรกเกาะต่ำ

คุณแม่ตั้งครรภ์อาจเริ่มสังเกตตนเองได้ง่าย ๆ ตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกว่ามีความเสี่ยงรกเกาะต่ำหรือไม่ โดยสามารถสังเกตสัญญาณเตือนบางอย่าง ดังต่อไปนี้

  • มีเลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่มีอาการเจ็บท้องนำมาก่อน ตั้งแต่ช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่สองเป็นต้นไป
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดในช่วงใกล้คลอด และระหว่างคลอดในปริมาณมาก

รกเกาะต่ำ รักษาได้อย่างไร

โดยปกติหากคุณแม่ตั้งครรภ์เข้ารับการฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ คุณหมอจะมีการอัลต้าซาวน์หรือประเมินตำแหน่งรกว่ามีภาวะรกเกาะต่ำหรือไม่อยู่แล้ว แต่หากคุณแม่รู้สึกว่าตนเองมีอาการที่อาจบ่งบอกถึงภาวะรกเกาะต่ำดังกล่าว ควรรีบเข้ารับการตรวจสอบจากคุณหมอในทันที โดยที่ไม่ต้องรอการนัดหมายในครั้งถัดไป คุณหมอมักวินิจฉัยเบื้องต้นด้วยการอัลตร้าซาวด์ เพื่อตรวจสอบภายในบริเวณช่องท้อง ช่องคลอด และปากมดลูก

จากนั้นหากพบว่าคุณแม่มีภาวะรกเกาะต่ำ คุณหมออาจประเมินความรุนแรงของรกเกาะต่ำอีกครั้ง เพื่อค้นหาวิธีรักษาที่เหมาะสม และปลอดภัย โดยแบ่งออกตามระดับความรุนแรงของภาวะรกเกาะต่ำ ดังนี้

1. สำหรับผู้ที่มีเลือดออกเล็กน้อยทางช่องคลอด

คุณหมออาจแนะนำให้นอนพักผ่อน และหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่หนักหน่วงจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่ต้องออกแรงมาก การออกกำลังกาย หรือการมีเพศสัมพันธ์

2. สำหรับกรณีที่เลือดออกหนักทางช่องคลอด

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่จัดอยู่ในเกณฑ์นี้ คุณหมออาจวางแผนเพื่อผ่าคลอดในทันที หากพิจารณาแล้วว่าการเจริญเติบโตของทารกเหมาะสมที่จะคลอดออกมาได้ โดยไม่รอให้ถึงวันนัดคลอด เพราะอาจล่าช้าจนส่งผลเสียต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ และตัวคุณแม่เอง

3. สำหรับอาการเลือดออกจากช่องคลอดไม่หยุด

คุณหมอมักประเมินให้ผ่าตัดฉุกเฉิน หรือคลอดก่อนกำหนด เพื่อนำทารกออกจากครรภ์ทันที

วิธีป้องกันภาวะรกเกาะต่ำ อาจทำได้ยาก แต่อาจจะสามารถช่วยลดความรุนแรงได้หากได้มีการตรวจวินิจฉัยได้ตั้งแต่ต้น เพื่อวางแผนการคลอดในช่วงอายุครรภ์ที่เหมาะสมและวิธีการคลอดที่ปลอดภัยที่สุด ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ควรไปเข้ารับการฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอและสังเกตอาการผิดปกติของตนเองที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์เพื่อไปพบคุณหมอได้ทันเวลา

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Placenta previa. https://www.webmd.com/baby/guide/what-is-placenta-previa#1.  Accessed June 16, 2022.

Placenta previa. https://medlineplus.gov/ency/article/000900.htm. Accessed June 16, 2022.

Placenta previa. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/placenta-previa/symptoms-causes/syc-20352768. Accessed June 16, 2022.

Placenta Previa. https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/pregnancy-complications/placenta-previa/. Accessed June 16, 2022.

Placenta previa. https://www.babycenter.com/pregnancy/health-and-safety/placenta-previa_830. Accessed June 16, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/03/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ท้อง 5 สัปดาห์ มีเลือดออกเหมือนประจําเดือน อันตรายไหม

ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ที่พบได้บ่อยมีอะไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 14/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา