backup og meta

คนท้องทาเล็บได้ไหม ควรดูแลเล็บอย่างไรให้เหมาะสม

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

    คนท้องทาเล็บได้ไหม ควรดูแลเล็บอย่างไรให้เหมาะสม

    หลายคนอาจมีความสงสัยว่า คนท้องทาเล็บได้ไหม เพราะยาทาเล็บมีสารเคมีหลายชนิดที่อาจเข้าสู่ร่างกายผ่านการสูดดมหรือซึมเข้าสู่ผิวหนัง ซึ่งยังไม่มีการยืนยันจากงานวิจัยและผู้เชี่ยวชาญว่า ยาทาเล็บเป็นอันตรายต่อการตั้งท้องหรือไม่ แต่เพื่อการป้องกันผลกระทบจากสารเคมี และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากอุปกรณ์ทำเล็บที่ไม่สะอาด จึงควรหลีกเลี่ยงการทำเล็บในระหว่างตั้งท้อง

    คนท้องทาเล็บได้ไหม

    คนท้องที่ต้องการทาเล็บมือและเล็บเท้าในระหว่างตั้งท้อง อาจสงสัยว่า คนท้องทาเล็บได้ไหม โดยทั่วไปแล้ว คนท้องสามารถทาเล็บได้แต่อาจยังไม่มีผลการวิจัยหรือคำยืนยันความปลอดภัยจากผู้เชี่ยวชาญว่า สารเคมีในน้ำยาทาเล็บจะส่งผลเสียต่อการตั้งท้องหรือไม่ แต่เป็นไปได้ว่าการทาเล็บอาจมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำต่อทารกในท้อง ส่วนกลิ่นที่รุนแรงของน้ำยาทาเล็บอาจทำให้คนท้องมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งเป็นอาการแพ้ท้องที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งท้อง

    สำหรับการทำเล็บเจลยังไม่มีผลการศึกษาที่ยืนยันว่า ยาทาเล็บเจลเป็นอันตรายต่อการตั้งท้อง แต่อะซิโตน (Acetone) ที่ใช้ในการลบสีเจล และเมทิลเมทาคริเลต (Methyl Methacrylate หรือ MMA) ที่ใช้ในการติดเล็บเจลอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการทำเล็บเจลในระหว่างตั้งท้อง

    นอกจากนี้ การทำเล็บในร้านทำเล็บที่อุปกรณ์การทำเล็บไม่ผ่านการฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสม อาจทำให้คนท้องเสี่ยงต่อการติดเชื้อราที่เล็บได้ง่าย หรืออาจมีอาการแพ้น้ำยาทาเล็บได้ ทางที่ดีคนท้องจึงควรหลีกเลี่ยงการทำเล็บเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างตั้งท้อง

    สารเคมีในยาทาเล็บที่อาจเป็นอันตรายต่อคนท้อง

    ในยาทาเล็บมีสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อคนท้อง ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงยาทาเล็บที่มีส่วนประกอบของสารเคมี ดังนี้

  • ไดบิวทิลฟทาเลต (Dibutyl Phthalate หรือ DBP)
  • โทลูอีน (Toluene)
  • ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde)
  • การบูร (Camphor)
  • พาราฟิน (Paraffin)
  • กรดเมทาคริลิค (Methacrylic Acid)
  • อะซิโตน
  • อะซิโตไนไตรล์ (Acetonitrile)
  • สารเคมีเหล่านี้เป็นส่วนประกอบของน้ำยาทาเล็บ ที่อาจเข้าสู่ร่างกายผ่านการซึมเข้าสู่ผิวหนังหรือการสูดดม ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อระบบประสาท ทำลายเซลล์สมอง ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ เป็นลม อาจทำให้เกิดอาการแพ้ ความระคายเคือง ผิวแดงและบวมในเนื้อเยื่อใต้เล็บได้

    วิธีหลีกเลี่ยงสารเคมีในยาทาเล็บสำหรับคนท้อง

    การเลือกใช้ยาทาเล็บที่ดีอาจช่วยป้องกันสารเคมีในน้ำยาทาเล็บที่ส่งผลเสียต่อคนท้องได้ ดังนี้

  • เลือกใช้ยาทาเล็บที่ปลอดภัยต่อคนท้อง โดยควรปราศจากสารเคมีรุนแรง สูตรน้ำ ไม่มีกลิ่น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถล้างออกได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้น้ำยาล้างเล็บที่มีสารเคมีรุนแรง
  • ควรระวังอย่าให้ยาทาเล็บโดนผิวหนังหรือหนังกำพร้า เพราะอาจทำให้สารเคมีซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น
  • หลีกการสูดดมหรืออยู่ในบริเวณที่มีสารเคมีจากยาทาเล็บ โดยเฉพาะหากคนท้องทำงานเป็นช่างทำเล็บ ควรพูดคุยกับนายจ้างเพื่อหาแนวทางในการหลีกเลี่ยงสารเคมีอันตรายให้มากที่สุด
  • ควรเปิดประตูและหน้าต่างก่อนทาเล็บ เพื่อให้สารเคมีระเหยออกข้างนอกได้มากขึ้น ซึ่งอาจช่วยลดการสูดดมสารเคมีอันตรายเข้าสู่ร่างกายได้
  • เป่ายาทาเล็บที่ทาบนเล็บให้แห้ง ด้วยการเหยียดแขนออกให้ไกลจากลำตัว จากนั้นเป่าเล็บให้แห้ง วิธีนี้อาจช่วยลดการสูดดมกลิ่นสารเคมีจากยาทาเล็บได้
  • วิธีดูแลเล็บในขณะตั้งท้อง

    การดูแลเล็บมือและเล็บเท้าในขณะตั้งท้อง เพื่อสุขภาพเล็บที่ดีอาจทำได้ ดังนี้

    • ตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ ด้วยการตัดเล็บตรงไม่โค้งเข้าข้างเล็บ และตะไบเล็บเพื่อลดความแหลมคมของเล็บ เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งสกปรกเข้าไปสะสมในซอกเล็บ และป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดจากการโดนเล็บขีดข่วนผิวหนัง
    • ทำความสะอาดมือและเล็บทุกครั้ง โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร เพื่อช่วยขจัดสิ่งสกปรกที่อยู่บนมือและตามซอกเล็บ
    • ทาครีมบำรุงมือ เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับมือ เล็บและหนังกำพร้าข้างเล็บ
    • หลีกเลี่ยงการตัดหนังกำพร้าข้างเล็บ เนื่องจากหนังกำพร้าอาจช่วยป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่เล็บได้
    • หลีกเลี่ยงการใช้กรรไกรตัดเล็บหรืออุปกรณ์ทำเล็บต่าง ๆ ร่วมกับผู้อื่น เพื่อลดโอกาสรับเชื้อที่อาจปนเปื้อนมากับอุปกรณ์เหล่านั้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา