backup og meta

อาการแพ้ท้องเริ่มเมื่อไหร่ และสามารถรับมือได้อย่างไรบ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

    อาการแพ้ท้องเริ่มเมื่อไหร่ และสามารถรับมือได้อย่างไรบ้าง

    อาการแพ้ท้องเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้บ่อยในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก สันนิษฐานว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ มักส่งผลให้คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ไม่สบายตัว การรับกลิ่นและรสเปลี่ยนไป จนบางครั้งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ว่า อาการแพ้ท้องเริ่มเมื่อไหร่ จึงอาจช่วยให้คนท้องระยะแรก โดยเฉพาะท้องแรก เตรียมพร้อมรับมือกับอาการแพ้ท้องได้ดีขึ้น โดยทั่วไป คนท้องสามารถบรรเทาอาการแพ้ท้องเองได้ด้วยการกินอาหารที่ย่อยง่าย พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงอาหารหรือกลิ่นที่ทำให้มีอาการแพ้ท้อง อย่างไรก็ตาม คนท้องบางรายก็อาจไม่มีอาการแพ้ท้องเลย ก็ไม่ถือว่าเป็นอาการผิดปกติแต่อย่างใด

    อาการแพ้ท้องเริ่มเมื่อไหร่

    อาการแพ้ท้องเป็นภาวะที่พบได้บ่อย มักเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 1 หรือในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ โดยอาจเริ่มต้นประมาณสัปดาห์ที่ 6 ของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งตั้งครรภ์ครั้งแรก อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้มีอาการคลื่นไส้ ผะอืดผะอม อ่อนเพลีย อึดอัดภายในท้อง ไม่สบายตัว ไวต่อกลิ่นหรือรสชาติมากขึ้น เป็นต้น โดยทั่วไป สามารถเกิดได้ตลอดวัน ส่วนใหญ่อาการจะทุเลาเมื่อร่างกายปรับตัวได้แล้ว ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้ท้อง เช่น

  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนเอชซีจี (hCG หรือ Human Chorionic Gonadotropin) ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) อาจกระตุ้นให้การทำงานของร่างกายเปลี่ยนแปลง และส่งผลให้เกิดอาการแพ้ท้องได้
  • ความแปรปรวนของระดับความดันโลหิต ร่างกายของคนท้องต้องลำเลียงเลือดไปหล่อเลี้ยงตัวอ่อนในครรภ์ จึงส่งผลให้คนท้องระยะแรกมีความดันโลหิตต่ำลง จนนำไปสู่อาการคลื่นไส้ อาเจียนได้
  • ความเปลี่ยนแปลงของระบบเผาผลาญ ร่างกายของคนท้องระยะแรกจะต้องปรับตัวเพื่อจะได้ส่งสารอาหารไปเลี้ยงตัวอ่อนในครรภ์ได้เพียงพอ จนอาจส่งผลต่อกระบวนการเผาผลาญไขมันและคาร์โบไฮเดรต และอาจทำให้เกิดอาการแพ้ท้องได้
  • อาการแพ้ท้องมีอะไรบ้าง

    อาการแพ้ท้องที่พบได้บ่อยในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรก เช่น

    • คลื่นไส้
    • อาเจียน
    • ไม่อยากอาหาร
    • มีผลกระทบทางจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล
    • ไวต่อกลิ่นและรสชาติมากขึ้น

    อาการแพ้ท้อง แก้ยังไง

    การเรียนรู้ว่า อาการแพ้ท้องเริ่มเมื่อไหร่ และศึกษาวิธีบรรเทาอาการแพ้ท้องเหล่านี้ อาจช่วยให้คนท้องสามารถรับมือกับอาการแพ้ท้องได้ดียิ่งขึ้น

    • เลือกกินอาหารให้เหมาะสม คนท้องระยะแรกควรเลือกกินอาหารที่มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่และหมูไม่ติดหนังและมัน โจ๊กกุ้ง เต้าหู้ หรือเลือกอาหารที่ย่อยได้ง่าย เช่น กล้วยหอม บรอกโคลีต้ม มันฝรั่งบด เพราะอาหารเหล่านี้จะค้างอยู่ในระบบทางเดินอาหารไม่นานนัก จึงช่วยลดอาการคลื่นไส้ได้ นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและไขมันสูงด้วย เพราะอาจทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อน ท้องอืด และย่อยได้ยาก
    • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการแพ้ท้อง ปัจจัยบางประการ เช่น กลิ่นอาหาร  กลิ่นน้ำหอม กลิ่นเหงื่อ อาหารรสเผ็ด อาจกระตุ้นให้อาการแพ้ท้องแย่ลงได้ จึงควรสังเกตว่ามีอะไรที่ทำให้อาการแพ้ท้องแย่ลงและหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งเหล่านั้นให้มากที่สุด
    • พักผ่อนอย่างเพียงพอ การขยับร่างกายมากเกินไปอาจทำให้อาการแพ้ท้องแย่ลงได้ คนท้องจึงควรงดออกกำลังกายหักโหม หรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงเยอะ ๆ พยายามนอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง/วัน เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนเต็มที่ และอาจช่วยลดอาการอ่อนเพลียได้
    • แบ่งอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ อาการแพ้ท้องอาจทำให้คนท้องไม่สามารถกินอาหารได้มากเท่าที่ควร และเมื่อท้องว่างก็อาจยิ่งทำให้มีอาการคลื่นไส้ได้ง่ายขึ้นด้วย คนท้องจึงควรรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ 4-5 มื้อ/วัน เพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารสามารถทำงานได้ดีขึ้น และอาจช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนได้
    • สวมเสื้อผ้าที่เหมาะสม คนท้องที่มีอาการแพ้ท้องควรเลือกสวมเสื้อผ้าหลวม ๆ ระบายอากาศได้ดี ไม่รัดแน่นจนเกินไป โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง เพื่อช่วยบรรเทาอาการอึดอัด มวนท้อง และอาการคลื่นไส้
    • ปรึกษาคุณหมอทุกครั้งก่อนใช้ยา คนท้องไม่ควรซื้อยาบรรเทาอาการคลื่นไส้และอาเจียนมาใช้เองโดยไม่ปรึกษาคุณหมอ ควรใช้ยาตามที่คุณหมอสั่งเท่านั้น

    อาการแพ้ท้องจะหายตอนไหน

    ส่วนใหญ่แล้ว อาการแพ้ท้องจะค่อย ๆ หายไปในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 12 สัปดาห์หรือปลายไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ และมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของคนท้องและเด็กในท้อง แต่หากมีอาการแพ้ท้องรุนแรงและต่อเนื่องจนไม่สามารถกินอาหารได้ตามปกติ น้ำหนักลดลง อ่อนเพลียรุนแรง ผิวแห้ง วิตกกังวล ตึงเครียด เป็นต้น อาจเป็นสัญญาณของอาการแพ้ท้องรุนแรง (Hyperemesis gravidarum) ที่ทำให้คนท้องเสี่ยงเกิดภาวะขาดน้ำและขาดสารอาหาร จนอาจส่งผลให้เด็กในท้องได้รับสารอาหารไม่เพียงพอและส่งผลต่อพัฒนาการได้ ดังนั้น หากอาการแพ้ท้องรุนแรง แพ้ท้องแม้จะเลยช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรกมาแล้ว หรือการแพ้ท้องกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมโดยเร็ว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา