คนท้องควรได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนตลอดทั้งวัน เพื่อใช้เป็นพลังงานให้กับร่างกายของคุณแม่ และใช้สำหรับเสริมสร้างพัฒนาการทางร่างกายและสมองของทารกในครรภ์ ซึ่งนอกจากการรับประทานอาหารมื้อหลักแล้ว ควรรับประทาน อาหารว่าง คนท้อง เสริมในระหว่างวันด้วย เพื่อช่วยเสริมสร้างสารอาหารที่มีประโยชน์ เพิ่มพลังงาน ช่วยให้อิ่มท้อง รวมถึงยังอาจช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องได้ด้วย
[embed-health-tool-due-date]
อาหารว่าง คนท้อง มีอะไรบ้าง
อาหารว่างคนท้องเป็นอาหารที่อาจช่วยเสริมสารอาหารที่เป็นประโยชน์ให้กับร่างกายของคุณแม่และทารกในครรภ์ คนท้องจึงควรเลือกรับประทานอาหารว่างที่มาจากธรรมชาติ มีการปรุงแต่งน้อยที่สุด รับประทานง่าย ช่วยลดอาการคลื่นไส้ และบรรเทาอาการแสบร้อนกลางอกที่เป็นอาการแพ้ท้อง นอกจากนี้ อาหารว่างคนท้องควรเป็นอาหารที่มีน้ำตาลต่ำ เนื่องจากคนท้องจำเป็นต้องรักษาสุขภาพ ต้องได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอเพื่อใช้เป็นพลังงานให้กับคุณแม่และทารกในครรภ์ รวมถึงจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อป้องกันภาวะเบาหวานในขณะตั้งครรภ์
สำหรับตัวอย่างเมนูอาหารว่างคนท้องที่ควรรับประทาน อาจมีดังนี้
- ผลไม้ เช่น ลูกแพร์ แอปเปิ้ล องุ่น แตงโม กล้วย สับปะรด เบอร์รี่ต่าง ๆ โดยอาจรับประทานคู่กับขนมปังกรอบ ชีส เนยถั่ว
- ผัก เช่น แตงกวา หัวไชเท้า แครอท ขึ้นฉ่าย หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือเทศ ถั่ว พริกหยวก บร็อคโคลี่ ผักโขม ผักปวยเล้ง อาจรับประทานคู่กับน้ำสลัด
- โยเกิร์ต ผลไม้สด และกราโนล่าบาร์
- พาร์เฟ่ต์ผลไม้และโยเกิร์ต
- ไข่ต้มสุก อกไก่หั่นเต๋า
- ขนมปังปิ้ง อะโวคาโด และทูน่า
- เมล็ดพืช เช่น เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง มะม่วงหิมพานต์ ถั่วลันเตาต้ม อัลมอนด์
- มัฟฟินธัญพืช มัฟฟินผลไม้รวม
อาหารว่างคนท้องที่ควรหลีกเลี่ยง
อาหารว่างคนท้องที่ควรหลีกเลี่ยง เพื่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ อาจมีดังนี้
- เนื้อสัตว์แปรรูป แฮม ไส้กรอก อาจเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อลิสเทอเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria Monocytogenes) ที่สามารถซึมเข้าไปในรก ซึ่งอาจทำให้ทารกติดเชื้อหรือเลือดเป็นพิษ จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
- ปลาและหอยที่ปนเปื้อนสารปรอท เช่น หอยนางรม หอยแมลงภู่ ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า อาจเสี่ยงปนเปื้อนสารปรอทในปริมาณมาก ซึ่งการได้รับสารปรอทในขณะตั้งครรภ์อาจเสี่ยงที่จะทำให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการล่าช้า สมองเสียหาย และพิการแต่กำเนิด ควรรับประทานปลาสัปดาห์ละไม่เกิน 2 ครั้ง
- อาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุกและไข่ดิบ อาจปนเปื้อนเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ปรสิต หรือเชื้อไวรัส ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์
- นมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ เนื่องจากอาจเสี่ยงที่นมจะปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษได้
- คาเฟอีน การรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในปริมาณที่พอเหมาะอาจปลอดภัย แต่การได้รับคาเฟอีนในปริมาณที่มากเกินไปอาจเสี่ยงทำให้เกิดการแท้งบุตรได้เช่นกัน เพื่อความปลอดภัยจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในขณะตั้งครรภ์ หรือควรจำกัดปริมาณคาเฟอีน คือ ไม่เกิน 200 มิลลิกรัม/วัน
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงที่จะพิการแต่กำเนิด หรือมีพัฒนาการล่าช้า