backup og meta

คนท้องกินเบียร์ได้ไหม อันตรายหรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี · โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 17/08/2023

    คนท้องกินเบียร์ได้ไหม อันตรายหรือไม่

    หลายคนอาจมีคำถามว่า คนท้องกินเบียร์ได้ไหม คนท้องกินเหล้าได้ไหม และจะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่ คำตอบคือ คนท้องรวมไปถึงผู้หญิงที่กำลังวางแผนมีบุตรไม่ควรกินเบียร์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องจากอาจส่งผลเสียระยะยาวต่อสุขภาพของทารกทั้งในขณะตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด และหลังคลอด ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด และอาจทำให้ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำเกินไป

    ดังนั้น จึงควรงดกินเบียร์รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปจนกว่าจะพ้นช่วงให้นมบุตร เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีของทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์

    คนท้องกินเบียร์ได้ไหม

    คนท้องไม่ควรกินเบียร์ เนื่องจากแอลกอฮอล์จากเบียร์สามารถเข้าสู่กระแสเลือดของคุณแม่และถูกลำเลียงไปยังทารกในครรภ์ผ่านสายสะดือได้โดยตรง ตับของทารกในครรภ์ยังไม่สามารถกรองสารพิษในแอลกอฮอล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พิษของแอลกอฮอล์ในเบียร์จึงอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง 10-50 วันแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเกิดกระบวนการสร้างกระดูก หัวใจ และสมองของทารก สารพิษในแอลกอฮอล์จากเบียร์ไม่เพียงแต่จะส่งผลเสียต่อทารกในช่วงที่อยู่ในครรภ์ แต่ยังกระทบต่อความแข็งแรงและความสามารถในการทนต่อภาวะเจ็บป่วยเมื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต และอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ที่รุนแรงอย่างการสูญเสียทารกในครรภ์ได้ด้วย

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Obstetrics and Gynecology เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 ศึกษาทบทวนเกี่ยวกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรกและความเสี่ยงในการแท้งบุตร โดยศึกษาข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 5,353 คน พบว่า มีผู้หญิงประมาณ 49.7% ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในขณะตั้งครรภ์ระยะแรก และมีผู้หญิงประมาณ 12% ที่แท้งบุตรหลังดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งการดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันยังเพิ่มความเสี่ยงในการภาวะแท้งมากถึง 8% เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ได้ดื่ม

    การกินเบียร์ส่งผลต่อคนท้องอย่างไร

    ผู้หญิงที่กินเบียร์ขณะตั้งครรภ์ อาจเสี่ยงเกิดภาวะต่อไปนี้

    • อาการคลื่นไส้ อาเจียน การรับแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกายมากเกินไปอาจทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารระคายเคือง และทำให้มีกรดปริมาณมากสะสมอยู่ในกระเพาะอาหาร จนส่งผลให้คนท้องรู้สึกคลื่นไส้และอาเจียนได้
    • ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ร่างกายของคนท้องต้องใช้น้ำมากขึ้น หากคุณแม่ดื่มน้ำน้อยเกินไป อาจทำให้ร่างกายมีน้ำไม่พอใช้ลำเลียงสารอาหารไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของคุณแม่และไม่สามารถดูแลทารกในครรภ์ให้เติบโตอย่างแข็งแรงได้ตามปกติ และอาจนำไปสู่ภาวะขาดน้ำ ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายสูญเสียของเหลวในปริมาณมากกว่าที่ได้รับเข้าไป ยิ่งหากคนท้องกินเบียร์อาจทำให้ร่างกายขับของเหลวออกจากเลือดผ่านทางระบบกรองของเสียได้เร็วกว่าการบริโภคของเหลวอื่น ๆ จึงทำให้คนท้องถ่ายปัสสาวะบ่อย และเสี่ยงเกิดภาวะขาดน้ำง่ายขึ้นไปอีก ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทั้งแม่และทารกในครรภ์ได้
    • ภาวะขาดสารอาหาร การกินเบียร์อาจทำให้คนท้องเกิดภาวะขาดสารอาหารได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์จะยับยั้งการหลั่งเอนไซม์ย่อยอาหารของตับอ่อน และทำลายเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ขัดขวางการดูดซึมสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 3 โฟเลต เข้าสู่กระแสเลือด ทั้งยังทำให้ร่างกายใช้ประโยชน์จากสารอาหารที่ดูดซึมเข้าไปได้ไม่เต็มที่ จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพคุณแม่และการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
    • โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes) เป็นภาวะที่เกิดจากคนท้องมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ มักพบในช่วงสัปดาห์ที่ 24-28 ของการตั้งครรภ์ หากคนท้องกินเบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้

    แอลกอฮอล์ส่งผลต่อทารกในครรภ์อย่างไรบ้าง

    ผลกระทบของการดื่มแอลกอฮอล์ที่เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด อาจมีดังนี้

    • ภาวะแท้งบุตร เป็นภาวะผิดปกติที่มักเกิดขึ้นในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ หากคนท้องกินเบียร์อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ได้
    • ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้าลง ทารกในครรภ์อาจมีพัฒนาการและการเจริญเติบโตผิดปกติหรือช้ากว่าที่ควร
    • ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าปกติ อาจน้อยกว่า 2.5 กิโลกรัม (2,500 กรัม) ซึ่งน้อยกว่าเกณฑ์น้ำหนักตัวปกติของทารกแรกเกิดซึ่งอยู่ที่ 2.5-4 กิโลกรัม
    • ทารกคลอดก่อนกำหนด การกินเบียร์อาจทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพระยะยาวให้กับเด็ก เช่น อวัยวะทำงานทำงานได้ไม่ดี และอาจเสี่ยงเป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง
    • ภาวะตายคลอดหรือทารกตายคลอด (Stillbirth) เป็นภาวะที่ทารกที่คลอดออกมาแล้วเสียชีวิตทันที หรือเสียชีวิตภายใน 24 สัปดาห์หลังคลอด
    • กลุ่มอาการทารกในครรภ์ได้รับแอลกอฮอล์ (Fetal alcohol spectrum disorder หรือ FASD) เป็นความผิดปกติของทารกในครรภ์ที่เกิดจากคนท้องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ทารกที่เกิดมามีภาวะบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญาและพฤติกรรม เช่น
  • ใบหน้าบิดเบี้ยวผิดปกติ
  • เจริญเติบโตช้าทั้งขณะอยู่ในครรภ์และหลังคลอด
  • มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ (Heart defects) เช่น กลุ่มโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดหัวใจเกิน โรคผนังกั้นหัวใจส่วนล่างรั่ว
  • เรียนรู้ได้ช้า
  • มีปัญหาด้านการพูด
  • มีปัญหาเกี่ยวกับสายตา
  • มีปัญหาด้านการได้ยิน
  • มีระดับไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์
  • มีปัญหาในการเคลื่อนไหวและทรงตัว
  • ทั้งนี้ ภาวะนี้เหล่านี้สามารถป้องกันได้ด้วยการงดกินเบียร์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ๆ เช่น สุรา ไวน์ วิสกี้ บรั่นดี ขณะตั้งครรภ์ และดูแลตัวเองด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ทารกในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรง เติบโตได้อย่างเป็นปกติ และมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ในทุกด้าน

    เครื่องดื่มที่เหมาะสำหรับคนท้อง

    เครื่องดื่มที่เหมาะสำหรับคนท้อง ได้แก่ น้ำเปล่า เพราะช่วยในการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย อีกทั้งน้ำยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของถุงน้ำคร่ำที่ช่วยห่อหุ้มและป้องกันแรงกระแทกให้กับทารกในครรภ์ คุณแม่ควรดื่มน้ำวันละประมาณ 2 ลิตรหรือประมาณ 10 แก้ว ๆ ละ 200 มิลลิลิตร)

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

    โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 17/08/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา