backup og meta

อาหารคนท้อง ที่จำเป็นต่อสุขภาพคุณแม่และทารกในครรภ์

อาหารคนท้อง ที่จำเป็นต่อสุขภาพคุณแม่และทารกในครรภ์

อาการคนท้อง และโภชนาการสำหรับคนท้อง มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ คนท้องควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และมีสารอาหารที่จำเป็นครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นกรดโฟลิก แคลเซียม ธาตุเหล็ก ไอโอดีน วิตามินดี และแร่ธาตุอื่น ๆ เพื่อช่วยให้เสริมสร้างให้ทารกมีพัฒนาการที่ดี และช่วยลดโอกาสในการเกิดปัญหาสุขภาพตั้งครรภ์ ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์หรือขณะคลอด

[embed-health-tool-due-date]

สารอาหารที่จำเป็นสำหรับคนท้อง

สารอาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับจากอาหารต่าง ๆ  มีดังนี้

กรดโฟลิก 

กรดโฟลิก (Folic acid) เป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นทั้งก่อนและขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นสารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเซลล์ในร่างกาย หญิงตั้งครรภ์ ควรได้รับกรดโฟลิกอย่างเพียงพอ เพื่อช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของภาวะบกพร่องที่ระบบประสาทและกระดูกสันหลัง หรือที่รู้จักกันในชื่อภาวะหลอดประสาทไม่ปิด (Neural tube defect หรือ NTDs) รวมถึงลดความเสี่ยงของโรคปากแหว่งเพดานโหว่ในทารกด้วย

แคลเซียม

ขณะตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์จะใช้แคลเซียมในการเสริมสร้างการเจริญเติบโตกระดูก ฟัน หัวใจ กล้ามเนื้อ และเส้นประสาท คนท้องจึงจำเป็นต้องได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ เพื่อไม่ให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกสูญเสียไปขณะตั้งครรภ์ และป้องกันความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนหลังคลอดด้วย

ธาตุเหล็ก

ร่างกายจำเป็นต้องใช้ธาตุเหล็กในการสร้างฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของโปรตีนที่อยู่ในเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์สำคัญที่ทำหน้าที่ในการช่วยลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ขณะตั้งท้อง ร่างกายของคุณแม่จำเป็นต้องได้รับธาตุเหล็กมากกว่าก่อนตั้งท้องถึง 2 เท่า เพื่อให้มีธาตุเหล็กเพียงพอสำหรับทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปยังทารกในครรภ์ และเพื่อให้เพียงพอที่ทารกในครรภ์จะดึงเอาธาตุเหล็กไปใช้ในการสร้างเลือดของตนเองด้วย

ไอโอดีน

ไอโอดีนเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายใช้เพื่อสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ จึงเป็นอีกหนึ่งสารอาหารที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรจะได้รับไอโอดีนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายมีฮอร์โมนไทรอยด์ที่สมดุล และสามารถกักเก็บพลังงานจากอาหารที่รับประทานเข้าไปได้ นอกจากนั้น ไอโอดีนยังมีส่วนช่วยพัฒนาระบบประสาทของทารกในครรภ์ และเสริมพัฒนาการด้านความคิด และความรู้สึกอีกด้วย หากร่างกายของคนท้องได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอ อาจทำให้พบกับความเสี่ยงหลายประการ เช่น

  • การแท้งบุตร
  • ภาวะตายคลอด (Stillbirth)
  • เด็กเกิดมามีภาวะแคระแกร็น
  • ความบกพร่องทางอารมณ์

วิตามินดี

ร่างกายคนท้องจำเป็นต้องได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอ เพื่อช่วยเสริมสร้างมวลกระดูกของตนเองและเพื่อการเจริญเติบโตของกระดูก ฟัน กล้ามเนื้อ หัวใจ และเส้นประสาทของทารก อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมเอาแคลเซียมได้อย่างเต็มที่ ร่างกายจำเป็นที่จะต้องได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอด้วย เพราะวิตามินดีทำหน้าที่สำคัญช่วยในการดูดซึมแคลเซียม ทั้งยังเสริมความแข็งแรงของเส้นประสาท กล้ามเนื้อ และระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย

ดีเอชเอ

กรดโดโคซะเฮกซะอีโนอิก (Docosahexaenoic acid) หรือดีเอชเอ (DHA) เป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิดหนึ่ง ที่มีส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตและพัฒนาการของแม่และเด็กในขณะตั้งครรภ์ โดยดีเอชเอจะมีส่วนช่วยพัฒนาดวงตาและสมองของทารกในครรภ์ ลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด และลดความเสี่ยงของทารกที่มีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์

อาหารคนท้อง ที่ควรรับประทานมีอะไรบ้าง

คนท้องควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของตนเองและทารกในครรภ์ ได้แก่

อาหารที่มีกรดโฟลิก

คนท้องควรได้รับกรดโฟลิกประมาณ 4,000 ไมโครกรัมเป็นประจำทุกวันเริ่มตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์จนกระทั่งตั้งครรภ์และคลอดบุตร อาหารที่อุดมไปด้วยกรดโฟลิก มีดังนี้

  • ผักใบเขียว
  • ถั่วต่าง ๆ 
  • ธัญพืชต่าง ๆ
  • ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว
  • ซีเรียล
  • ขนมปัง
  • ข้าว
  • พาสต้า
  • อาหารเสริมที่อุดมไปด้วยกรดโฟลิก

อาหารที่มีแคลเซียม

คนท้องควรได้รับแคลเซียมประมาณ 1,000 มิลลิกรัมเป็นประจำทุกวัน ตัวอย่างอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม มีดังนี้

  • นม
  • ชีส
  • โยเกิร์ต
  • บร็อคโคลี่
  • คะน้า
  • น้ำส้ม

อาหารที่มีธาตุเหล็ก

คนท้องควรได้รับธาตุเหล็กประมาณ 27 มิลลิกรัมเป็นประจำทุกวัน ตัวอย่างอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก มีดังนี้

  • เนื้อสัตว์
  • เนื้อสัตว์ปีก
  • อาหารทะเล
  • ซีเรียล
  • ขนมปัง
  • พาสต้า
  • ผักใบเขียว
  • ถั่วต่าง ๆ
  • ผลไม้อบแห้ง เช่น ลูกเกด

อาหารที่มีไอโอดีน

คนท้องควรได้รับไอโอดีนประมาณ 220 ไมโครกรัมเป็นประจำทุกวัน ตัวอย่างอาหารที่อุดมไปด้วยไอโอดีน มีดังนี้

  • ปลา
  • นม
  • ชีส
  • โยเกิร์ต
  • ซีเรียล
  • ขนมปัง
  • เกลือเสริมไอโอดีน

อาหารที่มีวิตามินดี

คนท้องควรได้รับวิตามินดีประมาณ 600 IU (international units) เป็นประจำทุกวัน ตัวอย่างอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดี มีดังนี้

  • ปลาที่มีไขมัน เช่น แซลมอน
  • นมต่าง ๆ
  • ซีเรียล
  • ไข่
  • เนื้อสัตว์

อาหารที่มีดีเอชเอ

คนท้องควรได้รับดีเอชเอประมาณ 8-10 ออนซ์ในแต่ละสัปดาห์ โดยอาหารที่อุดมไปด้วยดีเอชเอ เช่น

  • ปลาแฮร์ริ่ง
  • ปลาแซลมอน
  • ปลาเทราต์
  • ปลากะตัก
  • ปลานิล
  • ปลาดุก
  • กุ้ง
  • น้ำส้ม
  • นม
  • ไข่

เคล็ดลับการรับประทานอาหารของคนท้อง

คนท้องควรใส่ใจเรื่องอาหารมากกว่าปกติ เพราะร่างกายอาจไม่สามารถรับประทานทุกอย่างที่ต้องการได้ ควรคำนึงถึงสุขภาพของตนเองและทารกในครรภ์เป็นสำคัญ และเพื่อให้สุขภาพของแม่และเด็กสมบูรณ์แข็งแรง ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ดังนี้

  • รับประทานอาหารให้หลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่หลากหลายและครบถ้วน
  • เน้นรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืช ที่ให้โปรตีน และผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันต่ำ
  • เลือกกิรับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อย ไขมันต่ำ และโซเดียมน้อย
  • จำกัดการรับประทานอาหารจำพวกแป้งหรือธัญพืชที่ผ่านการขัดสีแล้ว เน้นรับประทานโฮลเกรนหรือธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด 
  • ลดปริมาณเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

VITAMINS AND OTHER NUTRIENTS DURING PREGNANCY. https://www.marchofdimes.org/pregnancy/vitamins-and-other-nutrients-during-pregnancy.aspx. Accessed June 20, 2022.

Vitamins, supplements and nutrition in pregnancy. https://www.nhs.uk/pregnancy/keeping-well/vitamins-supplements-and-nutrition/. Accessed June 20, 2022.

Prenatal Vitamins. https://www.webmd.com/baby/guide/prenatal-vitamins#1. Accessed June 20, 2022.

Eat Healthy During Pregnancy: Quick tips. https://health.gov/myhealthfinder/topics/pregnancy/nutrition-and-physical-activity/eat-healthy-during-pregnancy-quick-tips. Accessed June 20, 2022.

Prenatal vitamins: Why they matter, how to choose. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/in-depth/prenatal-vitamins/art-20046945. Accessed June 20, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/07/2022

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารบำรุงคนท้องอ่อนๆ ที่ดีต่อสุขภาพแม่และลูกน้อย

การควบคุมอาหารสำหรับผู้เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 29/07/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา