ก้อน เลือด 1 เดือน เป็นสัญญาณการแท้งบุตรที่อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติในขณะปฏิสนธิ ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัญหาสุขภาพของคุณแม่ โดยก้อน เลือด 1 เดือน อาจเป็นเพียงลิ่มเลือดที่ออกมาจากช่องคลอดพร้อมกับเนื้อเยื่อขนาดเล็ก ซึ่งอาจทำให้มีอาการปวดหลังรุนแรง มดลูกหดตัว มีเมือกขาวออกจากช่องคลอด และสัญญาณการตั้งท้องหายไป ดังนั้น หากพบความผิดปกติเหล่านี้ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจการตั้งท้องทันที
[embed-health-tool-due-date]
ก้อน เลือด 1 เดือน เกิดจากสาเหตุอะไร
ก้อนเลือด 1 เดือน คือ การสูญเสียการตั้งครรภ์ หรือการแท้งบุตร ที่อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติของโครโมโซมที่เกิดขึ้นขณะปฏิสนธิ ทำงานหนัก ออกกำลังกายหนัก ยกของหนัก มีเพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์ ติดเชื้อ อายุของคุณแม่ สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครียด พักผ่อนน้อย ปัญหาสุขภาพของคุณแม่
โดยก้อนเลือด 1 เดือนที่เกิดขึ้นอาจไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน เนื่องจากเป็นช่วงที่ตัวอ่อนกำลังพัฒนา จึงอาจมีขนาดเล็กมากเทียบเท่าได้กับเม็ดข้าว ทำให้อาจมองเห็นเป็นเพียงแค่ลิ่มเลือดก้อนเล็ก ๆ ผสมกับเนื้อเยื่อสีขาวหรือสีเทา อาจมีลักษณะคล้ายถุงไหลออกมาจากช่องคลอด
ประเภทของการแท้งบุตร
การแท้งบุตรอาจแบ่งได้หลายประเภท ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของคุณหมอ ดังนี้
- การแท้งค้าง (Missed Miscarriage) เป็นการแท้งบุตรที่ไม่แสดงอาการ เมื่อทำการอัลตราซาวด์จะไม่ตรวจพบการเต้นของหัวใจทารก
- การแท้งโดยสมบูรณ์ (Complete Miscarriage) เป็นการแท้งบุตรที่เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ โดยร่างกายมีการขับเลือดและเนื้อเยื่อในมดลูกออกมาจนมดลูกว่างเปล่า
- ภาวะแท้งซ้ำ (Recurrent Miscarriage) เป็นการแท้งบุตรที่เกิดขึ้นติดต่อกัน 3 ครั้ง ซึ่งอาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก
- ภาวะแท้งคุกคาม (Threatened Miscarriage) เป็นภาวะผิดปกติของการตั้งครรภ์ที่ทำให้มีอาการเลือดออกทางช่องคลอดในขณะที่ปากมดลูกยังปิดอยู่ และอาจทำให้มีอาการปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งโดยปกติการตั้งครรภ์ยังคงดำเนินต่อไปได้โดยไม่ก่อให้เกิดความผิดดปกติของทารกในครรภ์ แต่มีโอกาสเกิดการแท้งจริงได้ 50%
- การแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (Inevitable Miscarriage) เป็นภาวะที่ทำให้มีอาการเลือดออก มดลูกบีบตัวและปากมดลูกเริ่มเปิด บางคนอาจมีน้ำคร่ำไหลออกมา ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งบุตรอย่างสมบูรณ์
วิธีป้องกันการแท้งบุตร
โดยปกติ การแท้งบุตรอาจไม่มีวิธีที่จะสามารถป้องกันได้ ดังนั้น การดูแลสุขภาพร่างกายให้พร้อมก่อนการตั้งครรภ์ และการดูแลตัวเองในระหว่างตั้งครรภ์ จึงอาจช่วยป้องกันการแท้งบุตรได้ ดังนี้
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและออกกำลังกายอยู่เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำทั้งก่อนตั้งครรภ์และในระหว่างตั้งครรภ์ โดยการรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ใยอาหาร ไขมันดี วิตามินและแร่ธาตุ รวมถึงการออกกำลังกายความเข้มข้นปานกลาง เช่น เดินเร็ว เต้นแอโรบิก โยคะ อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือวันละ 30 นาที 5 วัน/สัปดาห์ เพื่อสุขภาพที่ดีและช่วยควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป
- รับประทานวิตามินเสริมทั้งก่อนและในระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะกรดโฟลิก (Folic Acid) ซึ่งร่างกายควรได้รับประมาณ 400 ไมโครกรัม/วัน โดยควรรับประทานตั้งแต่ 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์ และรับประทานต่อเนื่องไปตลอดการตั้งครรภ์
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดการแท้งบุตร เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำงานหนัก ยกของหนัก ถูกกระแทกอย่างรุนแรง
- ฝากครรภ์และเข้าพบคุณหมอตามนัดหมายอยู่เสมอ เพื่อตรวจสุขภาพการตั้งครรภ์ สุขภาพของคุณแม่ และสุขภาพของทารกในครรภ์ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์และอาจก่อให้เกิดการแท้งบุตร