backup og meta

คนท้อง ท้องผูก สาเหตุ การรักษาและการป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/12/2022

    คนท้อง ท้องผูก สาเหตุ การรักษาและการป้องกัน

    คนท้อง ท้องผูก เป็นอาการที่พบบ่อย โดยคนท้องอาจขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อุจจาระเป็นก้อนแข็ง ทำให้ขับถ่ายยากและอาจมีอาการเจ็บปวด รู้สึกเหมือนถ่ายอุจจาระไม่สุด หรืออยากถ่ายอุจจาระอีก อย่างไรก็ตาม อาการท้องผูกในคนท้องมักหายไปเองเมื่ออายุครรภ์มากขึ้นหรือหลังคลอดบุตร แต่หากท้องผูกรุนแรงขึ้น ควรเข้าพบคุณหมอทันทีเพื่อรับยารักษาตามอาการ ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ลำไส้อุดตัน ริดสีดวงทวาร

    สาเหตุที่ทำให้ คนท้อง ท้องผูก

    สาเหตุโดยทั่วไปของอาการท้องผูก คือ การรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์หรือกากใยน้อย และดื่มน้ำน้อย ทำให้อุจจาระเป็นก้อนแข็ง และเคลื่อนที่จากลำไส้ใหญ่ไปสู่ทวารหนักได้ลำบากขึ้น จนทำให้เกิดอาการท้องผูกตามมา แต่อาการท้องผูกในคนท้องอาจมาจากสาเหตุอื่นดังต่อไปนี้ได้ด้วย

  • ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงตั้งครรภ์อาจทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เคลื่อนไหวได้น้อยลง อาหารเคลื่อนผ่านลำไส้ช้าลง จนอาจส่งผลให้คนท้องท้องผูกได้
  • ยาและอาหารเสริม ยาหรืออาหารเสริมบางชนิดที่อาจกระตุ้นให้คนท้องท้องผูกได้ เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินรวมบางชนิด ยาลดอาการคลื่นไส้อาเจียน ยาลดกรด ยาแก้ปวดบางชนิด
  • คนท้อง ท้องผูก อันตรายหรือไม่

    ผู้หญิงที่มีอาการท้องผูกเป็นประจำตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์มักท้องผูกมากขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ แม้อาการท้องผูกส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่หากเป็นเรื้อรัง หรือไม่ได้รักษาอย่างถูกต้อง ก็อาจเสี่ยงเกิดอาการแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ริดสีดวงทวาร ลำไส้อุดตัน  หรืออาการท้องผูกบางกรณีอาจเป็นสัญญาณของเนื้องอกได้ อย่างไรก็ตาม หากท้องผูกเรื้อรังและรุนแรงร่วมกับมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรืออุจจาระมีเลือดปน ควรรีบเข้าพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยอาการและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

    การรักษาอาการคนท้องท้องผูก

    การรักษาอาการคนท้องท้องผูกในเบื้องต้น คุณหมออาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น รับประทานอาหารที่มีกากใยสูงและดื่มน้ำให้มากขึ้น และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะอาจช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ช่วยลดอาการท้องผูกได้ แต่หากคนท้องท้องผูกรุนแรง คุณหมออาจสั่งจ่ายยาดังต่อไปนี้ด้วย

    • ยาเพิ่มกากในอุจจาระ (Bulk-forming laxatives) ซึ่งช่วยสร้างเนื้อและเพิ่มน้ำในอุจจาระ เพื่อให้อุจจาระสามารถเคลื่อนผ่านลำไส้ได้ง่ายขึ้น ยาชนิดนี้อาจไม่ได้ผลเสมอไปและอาจมีผลข้างเคียง เช่น มีแก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องอืด เป็นตะคริว
    • ยาที่ทำให้อุจจาระนิ่มหรืออ่อนตัว (Stool softener) เป็นยาที่มีส่วนประกอบของน้ำมันซึ่งช่วยให้อุจจาระนิ่ม ลื่น และเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม หากคนท้องใช้ยาชนิดนี้เป็นเวลานานอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น ทารกแรกเกิดมีภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ (Hypomagnesemia)
    • ยาช่วยหล่อลื่นอุจจาระ (Lubricant laxatives) เป็นยาเคลือบอุจจาระและลำไส้เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำและทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวง่ายขึ้น การใช้ยาชนิดนี้เป็นเวลานานอาจลดการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค
    • ยาที่ช่วยดูดซึมน้ำกลับเข้ามาในลำไส้ (Osmotic laxatives) ช่วยให้อุจจาระนิ่มและขับถ่ายง่ายขึ้น อาจมีผลข้างเคียง เช่น ท้องอืด ปวดท้อง
    • ยากระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ (stimulant laxatives) ช่วยกระตุ้นเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหาร เพื่อให้ลำไส้เคลื่อนไหวเร็วขึ้น อาจมีผลข้างเคียง เช่น ปวดท้อง ท้องอืด

    อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทานยารักษาอาการท้องผูกทุกชนิด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงที่อาจกระทบกับตนเองและทารกในครรภ์

    วิธีป้องกันคนท้องท้องผูก

    วิธีเหล่านี้อาจช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะคนท้องท้องผูกได้

    • รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ขนมปังโฮลเกรน ลูกพรุน ธัญพืช เพื่อให้ได้รับกากใยตามปริมาณที่แนะนำ คือ ประมาณ 25-30 กรัม/วัน
    • เพิ่มอาหารที่มีโพรไบโอติก จะช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้และทำให้การทำงานของลำไส้และการขับถ่ายดีขึ้น รวมทั้งลดอาการท้องอืด ท้องผูก ได้อีกด้วย
    • ดื่มน้ำให้มาก ๆ คนท้องควรดื่มน้ำ 10-12 แก้ว/วัน เพื่อช่วยให้อุจจาระนิ่มขึ้น ทั้งยังช่วยให้กำจัดของเสียออกจากร่างกายได้ดีขึ้น และอาจช่วยลดอาการบวมระหว่างตั้งครรภ์ได้ด้วย และหลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ และน้ำอัดลม
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ โดยควรออกกำลังกายในระดับปานกลาง เช่น เดิน ว่ายน้ำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 20-30 นาที
    • ฝึกการขับถ่าย พยายามฝึกให้ถูกวิธีและขับถ่ายให้เป็นเวลา
    • ไม่รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กมากเกินไป เช่น เนื้อแดง ตับ ปลาทูน่า ถั่วแดง เต้าหู้ ไข่ ผักใบเขียว เพื่อสุขภาพครรภ์ที่ดี คนท้องควรได้รับธาตุเหล็ก 27 มิลลิกรัม/วัน หรือตามที่คุณหมอแนะนำ และควรแบ่งการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กเป็นมื้อเล็ก ๆ ตลอดทั้งวัน เพราะอาจช่วยป้องกันและบรรเทาอาการท้องผูกได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา