backup og meta

คนท้องเป็นกรดไหลย้อน เกิดจากอะไร และควรดูแลสุขภาพอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/10/2022

    คนท้องเป็นกรดไหลย้อน เกิดจากอะไร และควรดูแลสุขภาพอย่างไร

    คนท้องเป็นกรดไหลย้อน อาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สรีระของคุณแม่และทารกในท้อง รวมถึงฮอร์โมนที่สูงขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ทำให้ลดการบีบตัวของทางเดินอาหาร ทำให้อาหารและกรดค้างในกระเพาะนาน หรือกระเพาะได้รับอาหารมากเกินไปจนเกิดการไหลย้อนกลับของอาหารและน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ดังนั้น การดูแลตัวเองในขณะตั้งท้องอย่างเหมาะสมจึงอาจช่วยป้องกันการเกิดกรดไหลย้อนในคนท้องได้

    คนท้องเป็นกรดไหลย้อน เกิดจากสาเหตุใด

    คนท้องเป็นกรดไหลย้อนได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งท้อง ที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างตั้งท้อง ที่ส่งผลต่อการควบคุมกล้ามเนื้อของระบบทางเดินอาหาร เวลารับประทานอาหาร กล้ามเนื้อในหลอดอาหารจะดันอาหารเข้าไปในหลอดอาหารช้าลง ทำให้ท้องว่างเป็นเวลานาน และยังอาจทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารคลายตัวจนกรดในกระเพาะอาหารไหลกลับเข้าสู่หลอดอาหาร ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการเสียดท้องได้ นอกจากนี้ ในการตั้งท้องในช่วงไตรมาสที่ 3 การเจริญเติบโตของทารกในท้องอาจดันท้องของคุณแม่ให้ขยายออกจากตำแหน่งปกติ ซึ่งก็อาจนำไปสู่อาการเสียดท้องได้เช่นกัน

    อย่างไรก็ตาม คนท้องอาจเสี่ยงมีอาการเสียดท้องที่ลุกลามไปเป็นกรดไหลย้อนได้มากขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สรีระของคุณแม่และทารกในท้อง อาหารและกิจวัตรประจำวัน

    คนท้องเป็นกรดไหลย้อน มีอาการอย่างไร

    คนท้องเป็นกรดไหลย้อนอาจมีอาการที่พบได้บ่อย ดังนี้

  • แสบร้อน หรือเจ็บหน้าอก
  • แน่นท้อง ท้องอืด หรือท้องป่อง
  • เรอ ไอ เจ็บคอ
  • ในปากมีรสเปรี้ยวหรือขม
  • ไม่สบาย คลื่นไส้ อาเจียน
  • อาการคนท้องเป็นกรดไหลย้อนอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยส่วนใหญ่มักมีอาการมากขึ้นในสัปดาห์ที่ 27 ของการตั้งท้อง และมักเกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่ม หรืออาจเกิดขึ้นทันทีในระหว่างรับประทานอาหาร

    คนท้องเป็นกรดไหลย้อนควรรักษาอย่างไร

    สำหรับคนท้องเป็นกรดไหลย้อนอาจต้องระมัดระวังในการรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการเสียดท้อง โดยคุณแม่อาจซื้อยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) หรือแมกนีเซียม ตามร้านขายยาทั่วไป และควรหลีกเลี่ยงยาลดกรดที่มีส่วนผสมบางชนิดที่อาจเป็นอันตรายต่อการตั้งท้อง ดังนี้

    • ยาลดกรดที่มีโซเดียมสูง เพราะอาจนำไปสู่การสะสมของของเหลวในเนื้อเยื่อ
    • ยาลดกรดที่มีอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ (Aluminum Hydroxide) หรืออะลูมิเนียมคาร์บอเนต (Aluminum Carbonate) อาจทำให้เกิดอาการท้องผูก

    อย่างไรก็ตาม ไม่ควรกินยาลดกรดต่อเนื่องเป็นเวลานาน และควรปรึกษาคุณหมอหากมีอาการเสียดท้องมาก

    การป้องกันคนท้องเป็นกรดไหลย้อน

    การป้องกันคนท้องเป็นกรดไหลย้อน อาจทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

    • ควรรับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อ และพยายามรับประทานช้า ๆ เพื่อป้องกันการได้รับอาหารมากเกินไปในครั้งเดียวจนทำให้เกิดกรดไหลย้อน
    • ควรหลีกเลี่ยงอาหารทอด เผ็ด หรือมันมาก เพราะอาหารเหล่านี้อาจทำให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัวและทำให้เกิดอาการเสียดท้อง
    • ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารก่อนนอนประมาณ 2 ชั่วโมง
    • ไม่ควรนอนราบทันทีหลังรับประทานอาหาร เพราะอาจทำให้อาหารและกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาทางหลอดอาหารได้
    • ควรนอนในท่าที่ยกหัวสูงขึ้น โดยใช้หมอนสูงรองศีรษะหรือใต้บ่าไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาทางหลอดอาหาร
    • งดการสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาจส่งผลให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามากขึ้น จนอาจทำให้อาการเสียดท้องแย่ลงได้
    • ควรสวมใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ และหลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้ารัดรูป เนื่องจากอาจเพิ่มแรงกดที่ท้องจนทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา