backup og meta

ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะขณะตั้งครรภ์ อาการ ปัจจัยเสี่ยง และการป้องกัน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 29/10/2021

    ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะขณะตั้งครรภ์ อาการ ปัจจัยเสี่ยง และการป้องกัน

    ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะขณะตั้งครรภ์ หมายถึงการติดเชื้อที่อวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ ไต กรวยไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ อาจพบได้บ่อยในผู้หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงในช่วงตั้งครรภ์ อาจเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ อย่างไรก็ตาม การดูแลรักษาความสะอาดของอวัยวะเพศ การดื่มน้ำมาก ๆ และปัสสาวะให้บ่อยขึ้น อาจลดความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้

    อาการของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะขณะตั้งครรภ์

    หากมีอาการเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณว่ากำลังติดเชื้อทางเดินปัสสาวะช่วงตั้งครรภ์ 

    • ปัสสาวะบ่อย
    • กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
    • ปริมาณปัสสาวะเปลี่ยนไป ปัสสาวะมากขึ้น หรือปัสสาวะน้อยลง
    • รู้สึกแสบเวลาปัสสาวะ
    • ปัสสาวะสีขุ่น สีไม่ใส และมีกลิ่นแรง
    • ปัสสาวะมีเลือดหรือเมือกปน
    • รู้สึกแสบท้อง ปวดท้องน้อย หรือปวดหลังด้านล่าง
    • เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์
    • รู้สึกหนาว มีไข้ เหงื่อออก

    หากอาการเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แล้วเชื้อแพร่กระจายไปในไต อาจมีอาการปวดหลัง เป็นไข้ วิงเวียน และอาเจียน ร่วมด้วย ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการเหล่านี้ ควรไปพบคุณหมอ

    ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะขณะตั้งครรภ์

    ปัจจัยเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะขณะตั้งครรภ์

    • ความเปลี่ยนแปลงของสรีระในช่วงตั้งครรภ์ เช่น มดลูกขยายตัวเนื่องจากขนาดตัวของทารกที่เพิ่มขึ้น อาจกดทับกระเพาะปัสสาวะ และขัดขวางทางเดินปัสสาวะ ทำให้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น
    • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ในช่วงตั้งครรภ์ ฮอร์โมนอาจมีความเปลี่ยนแปลง และทำให้ในระดับน้ำตาลและโปรตีนในปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดีมากขึ้น
    • การมีเซ็กส์ขณะตั้งครรภ์ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้
    • การไม่รักษาความสะอาดของอวัยวะเพศ อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตมาก และเสี่ยงติดเชื้อได้

    การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะขณะตั้งครรภ์ อาจเป็นอันตรายทั้งกับแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ เนื่องจากการติดเชื้ออาจลุกลามไปยังช่องคลอดและส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด ดังนั้น จึงควรเร่งทำการรักษาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะก่อนที่จะเป็นอันตราย

    การป้องกันการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะขณะตั้งครรภ์

    คุณแม่สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะช่วงตั้งครรภ์ได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน โดยคุณแม่ตั้งครรภ์ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 2.4 ลิตรต่อวัน
    • หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารแปรรูป น้ำผลไม้ คาเฟอีน แอลกอฮอล์ และน้ำตาล
    • กินวิตามินซีประมาณ 200-500 มิลลิกรัม เบต้า-แคโรทีน (Beta-carotene) 25,00-50,000 IU ต่อวัน และกินสังกะสี 30-50 มิลลิกรัมต่อวัน
    • ปัสสาวะก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์
    • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ ในช่วงรักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
    • เวลาเช็ดทำความสะอาดอวัยวะเพศ ให้เช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง
    • ปัสสาวะให้สุด เพื่อลดการมีเชื้อแบคทีเรียในท่อปัสสาวะ
    • ถ้าต้องใช้เจลหล่อลื่นเวลามีเพศสัมพันธ์ ให้ใช้เจลหล่อลื่นสูตรน้ำ (water-based)
    • ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด และไม่ใช้สบู่ที่ออกฤทธิ์แรง แป้งฝุ่น หรือสเปรย์ดับกลิ่น ที่อวัยวะเพศ
    • สวมเสื้อผ้าสบาย ๆ ไม่ควรสวมชุดชั้นใน หรือเสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดการอับชื้น จนเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ

    ข้อควรระวังเกี่ยวกับยารักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

    การรักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในขณะตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่เมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Center of Disease Control and Prevention หรือ CDC) แห่งสหรัฐอเมริกา รายงานว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์บางกลุ่มยังคงได้รับยาปฏิชีวนะบางที่อาจเชื่อมโยงกับภาวะพิการแต่กำเนิดของทารก ซึ่งได้แก่ ยาไนโตรฟูแรนโทอิน (Nitrofurantoin) และยาไตรเมโทพริม ซัลฟาเมทอกซาโซน (Trimethoprim-sulfamethoxazole) ยาทั้งสองชนิดนี้ใช้ในการรักษาอาการติดเชื้อหลายชนิด รวมทั้งการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะด้วย

    อย่างไรก็ตาม รายงานของ CDC ชี้ว่า ยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดภาวะพิการแต่กำเนิดของทารกได้ เช่น ภาวะที่ทารกเกิดมาโดยไร้สมอง (anencephaly) หัวใจพิการ ปากแหว่งเพดานโหว่ แต่ในขณะเดียวกัน สมาคมสูตินรีแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (American College of Obstetricians and Gynecologists หรือ ACOG) ก็ให้ความเห็นไว้ว่า ผลการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ ยังมีความก้ำกึ่งในเรื่องผลกระทบของยาปฏิชีวนะเหล่านี้ในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะเมื่อกินในสามเดือนแรก

    เนื่องจากผลการวิจัย ยังไม่ชี้ชัดลงไปถึงอันตรายของการกินยาปฏิชีวนะเหล่านี้ในหญิงตั้งครรภ์ สมาคมสูตินรีแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาจึงแนะนำว่า โดยหลักๆ แล้ว ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ในช่วงสามเดือนแรกควรหลีกเลี่ยงการกินยาปฏิชีวนะชนิดนี้ แต่เมื่อพ้นช่วงสามเดือนแรกไปแล้วก็อาจใช้ยาเหล่านี้ได้

    อย่างไรก็ตาม คุณแม่ตั้งครรภ์ควรปรึกษาคุณหมอก่อนตัดสินใจใช้ยาเหล่านี้ และสิ่งที่ควรทำมากที่สุด ก็คือ การตรวจให้แน่ใจว่าหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะจริงๆก่อนที่จะตัดสินใจรักษา เพราะการปล่อยการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะทิ้งไว้โดยไม่ได้รักษา เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์มากกว่า

    ฉะนั้น ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ควรดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ และหากสงสัยว่า เป็นโรคที่อาจจะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะช่วงตั้งครรภ์ ควรปรึกษาคุณหมอทันที เพื่อจะได้ร่วมกันหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคุณแม่และลูกน้อย ช่วยให้การตั้งครรภ์มีคุณภาพ เกิดความปลอดภัยทั้งคุณต่อทารกน้อย รวมถึงการดูแลตัวเองทั้งก่อน-หลัง คลอดอย่างมีประสิทธิภาพ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 29/10/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา