ท่านอนคนท้อง ควรเป็นท่านอนที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์ต่อร่างกายคุณแม่และทารกในครรภ์ โดยเลือกท่าที่ทำให้นอนหลับสบายมากที่สุด ซึ่งมักเป็นท่านอนตะแคง โดยเฉพาะการนอนตะแคงข้างซ้าย เพราะทำให้การหมุนเวียนเลือดสะดวกและไม่กดทับท้องและหลัง และควรหลีกเลี่ยงท่านอนบางท่าที่อาจทำให้เกิดความเจ็บปวดโดยเฉพาะท่านอนคว่ำ คุณแม่อาจทดลองนอนหาท่าที่สบายที่สุดและหาอุปกรณ์อื่นๆ เช่น หมอนข้าง ผ้าห่ม ที่จะช่วยให้หลับสบายมากขึ้นด้วย
[embed-health-tool-due-date]
ท่านอนคนท้อง ที่เหมาะสม
นอนตะแคง
ท่านอนที่ดีที่สุดสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ คือ ท่านอนตะแคง เนื่องจากการนอนตะแคงมักช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น และลดแรงกดทับบริเวณมดลูกแม้ว่าในช่วงไตรมาสแรก คุณแม่ยังคงนอนหลับในท่านอนหงายหรือนอนคว่ำได้ แต่หากเป็นได้ควรเริ่มนอนตะแคงตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ เนื่องจากจะช่วยให้คุ้นเคยกับท่านอนตะแคงเมื่ออายุครรภ์เพิ่มขึ้น
นอนตะแคงซ้าย
นับว่าเป็นท่านอนคนท้องที่เหมาะสมและดีต่อสุขภาพคุณแม่และทารกในครรภ์ เนื่องจากจะช่วยลดการกดทับหลอดเลือดใหญ่ ทำให้เลือดสูบฉีดและนำสารอาหารไปสู่รกและทารกได้ง่าย อีกทั้งยังช่วยให้มดลูกไม่กดทับตับที่อยู่ค่อนไปทางด้านขวาของร่างกาย และควรงอขาและเข่าเวลานอน เพื่อไม่ให้หัวใจทำงานหนักเกินไป
ท่านอนคนท้อง ที่ควรหลีกเลี่ยง
นอนคว่ำ
นอนคว่ำอาจทำได้ในช่วงแรกที่ท้องยังไม่ใหญ่มากนัก แต่เป็นท่านอนคนท้องที่ควรหลีกเลี่ยงโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 เนื่องจากท้องจะกดดันช่องคลอดที่ขยายใหญ่ขึ้น รวมถึงหน้าอกซึ่งมีความนุ่มมากขึ้นจนอาจสร้างความเจ็บปวดให้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้
นอนหงาย
คุณแม่ตั้งครรภ์อาจคุ้นเคยกับท่านอนหงายเพราะเป็นท่าที่นอนประจำก่อนตั้งครรภ์ และแม้ว่าท่านอนหงายถือว่าปลอดภัยต่อผู้หญิงตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรก แต่อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ โดยเฉพาะช่วงไตรมาสสองและสาม
ในกรณีที่ตื่นขึ้นมาแล้วอยู่ในท่านอนหงาย คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ต้องกังวลจนเกินไปเพราะการนอนหงายโดยไม่ตั้งใจ ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อทารกในครรภ์ เพียงเปลี่ยนท่านอน และนอนหลับต่อ
เหตุผลที่ควรหลีกเลี่ยงท่านอนหงาย
เนื่องจากการนอนหงายในขณะตั้งครรภ์ทำให้ท้องไปอยู่ในตำแหน่งด้านบนลำไส้และหลอดเลือดใหญ่ ซึ่งไปเพิ่มแรงกดดันบริเวณช่องท้อง จนอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพดังนี้
- ปวดหลัง
- ปัญหาการหายใจ
- ปัญหาการย่อยอาหาร
- ความดันโลหิตต่ำ
- ริดสีดวงทวาร
เทคนิคที่ช่วยให้หลับสบายมากขึ้น
นอกเหนือไปจากท่านอนคนท้องที่จะช่วยให้คุณแม่ตั้งครรภ์หลับสบายและไม่มีปัญหาสุขภาพ การรู้จักใช้เทคนิคหรืออุปกรณ์เสริมที่เหมาะสมก็จะช่วยให้คุณภาพการนอนหลับดีขึ้น และยังปลอดภัยต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ด้วย
- ใช้หมอนเป็นตัวช่วย ควรรองหมอนไว้ใต้ท้อง และสอดไว้ระหว่างเข่า โดยอาจซื้อหมอนเฉพาะสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากการนำหมอนมารองไว้ใต้ลำตัว ช่วยให้นอนหลับในท่าตะแคงได้ยาวนานขึ้น และช่วยป้องกันการพลิกตัวไปสู่ท่านอนหงายหรือการนอนคว่ำด้วย
- กรณีที่หายใจสั้น ควรนำหมอนมาวางไว้ข้างใต้ตัวเพื่อยกหน้าอกให้สูงขึ้น หายใจได้สะดวกขึ้น
- กรณีที่มีอาการกรดไหลย้อน ควรปรับที่นอนด้านบนให้สูงขึ้นประมาณ 1-2 นิ้วด้วยการนำหนังสือหรือไม้ไปวางไว้ใต้ที่นอน เพื่อช่วยให้กรดในกระเพาะอาหารไหลลง แทนการไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหาร
- หากตื่นขึ้นมาพบว่าอยู่ในท่านอนหงาย ให้เปลี่ยนท่านอน ควรปล่อยให้ร่างกายขยับไปในท่านอนที่สะดวกสบาย ดีกว่าการพยายามบังคับให้นอนตะแคงตลอดเวลา เพราะอาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์นอนไม่หลับและพักผ่อนไม่เพียงพอซึ่งส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์มากกว่า