backup og meta

อายุครรภ์ คืออะไร สำคัญอย่างไรต่อพัฒนาการทารก

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 16/05/2022

    อายุครรภ์ คืออะไร สำคัญอย่างไรต่อพัฒนาการทารก

    อายุครรภ์ (Gestational age หรือ GA) เป็นช่วงเวลาระหว่างเริ่มตั้งครรภ์จนถึงกำหนดคลอด โดยจะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย ซึ่งร่างกายของหญิงตั้งครรภ์และการพัฒนาของทารกในครรภ์จะแตกต่างกันไปในแต่ละสัปดาห์ สำหรับทารกในครรภ์ ระบบประสาทจะเริ่มพัฒนาอย่างรวดเร็วเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยอวัยวะส่วนอื่น ๆ เช่น ไขสันหลัง หัวใจ จมูก หู ดวงตา อวัยวะเพศ รวมถึงขนาดตัว อายุครรภ์นับว่ามีความสำคัญในการตรวจสอบการพัฒนาของทารกในครรภ์

    อายุครรภ์ คืออะไร

    อายุครรภ์ คือ ช่วงเวลาระหว่างตั้งครรภ์จนถึงเวลาคลอด ในช่วงนี้ ทารกจะมีขนาดตัวใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และมีพัฒนาการทั้งทางร่างกายและระบบประสาท โดยปกติอายุครรภ์จะอยู่ที่ 38-42 สัปดาห์ นับตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายจนถึงกำหนดคลอด หากทารกคลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ ถือว่าคลอดก่อนกำหนด และหากทารกคลอดหลังอายุครรภ์เลย 42 สัปดาห์ ถือว่าตั้งครรภ์เกินกำหนดหรือคลอดล่าช้า

    วิธีคำนวณกำหนดคลอด

    หญิงตั้งครรภ์ สามารถคำนวณกำหนดคลอดด้วยตัวเองคร่าว ๆ ได้ โดยเริ่มนับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย นับย้อนหลังไป 3 เดือน และบวกอีก 7 วัน

    ตัวอย่าง วันแรกที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายคือวันที่ 1 ธันวาคม นับย้อนหลัง 3 เดือน คือ วันที่ 1 กันยายน จากนั้นบวกอีก 7 วัน เท่ากับวันครบกำหนดคลอด คือ วันที่ 8 กันยายน

    การแบ่งอายุครรภ์

    อายุครรภ์แบ่งได้เป็น 3 ไตรมาส ดังนี้

    • ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1

    ไตรมาสที่ 1 เริ่มนับตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1-12 ในช่วงไตรมาสแรก สามารถวัดขนาดตัวอ่อนโดยวัดจากหัวถึงก้นด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ โดยมักจะมีความยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร

    นช่วงสัปดาห์ที่ 4 ของการตั้งครรภ์ หัวใจจะเริ่มพัฒนาแต่จะสามารถเห็นการเต้นของหัวใจจากการอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดได้ประมาณสัปดาห์ที่ 6 ในช่วงนี้เซลล์จะเริ่มพัฒนาแยกเป็นระบบอวัยวะต่าง ๆ และสร้างพื้นฐานของอวัยวะ ในช่วงท้ายของไตรมาสตัวอ่อนจะเริ่มมีตา ปาก มือ หู เห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้น 

    เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 8 ตัวอ่อนในครรภ์จะถูกเรียกว่า ทารก เนื่องจากร่างกายพัฒนาเป็นสัดส่วนมากขึ้น เริ่มเห็นเค้าโครงใบหน้าที่ชัดเจน ศีรษะและลำตัว แขน ขา มือ เท้า นิ้วมือ และนิ้วเท้า เริ่มแยกออกจากกันเป็นรูปร่างที่ชัดเจนขึ้น อวัยวะเพศเริ่มพัฒนา แต่ยังไม่สามารถระบุเพศได้ ปลายไตรมาส หรือประมาณสัปดาห์ที่ 12 ขนาดของตัวอ่อนจะยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร

    • ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2

    ไตรมาสที่ 2 เริ่มนับตั้งแต่สัปดาห์ที่ 13-27 ขนาดตัวของทารกในครรภ์จากหัวถึงก้นในสัปดาห์ที่ 13 จะยาวประมาณ 8.4 เซนติเมตร หลัง 13 สัปดาห์จะเปลี่ยนวิธีการวัดโดยการวัดความกว้างและความยาวรอบศีรษะ ความยาวรอบท้อง ความยาวต้นขา และนำมาประเมินร่วมกัน ในสัปดาห์ที่ 16 ทารกจะมีน้ำหนักประมาณ 150 กรัม และน้ำหนักโดยรวมในสัปดาห์สุดท้ายของไตรมาสที่ 2 จะอยู่ที่ประมาณ 875 กรัม

    เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 17 คุณแม่จะสัมผัสได้ถึงการเคลื่อนไหวของทารกในท้อง ตาของทารกเริ่มขยับได้ แต่ยังคงปิดอยู่ ทารกสามารถตอบสนองต่อเสียงดังได้ เล็บเริ่มยาวขึ้น และปากเปิดปิดได้ ฟันน้ำนมชุดแรกของทารกจะเริ่มพัฒนาอย่างสมบูรณ์ แต่ยังคงอยู่ภายใต้เหงือก ทารกเริ่มกระตือรือร้นมากขึ้น อาจพลิกตัว ต่อย ถีบ และดูดนิ้วหัวแม่มือ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองตามธรรมชาติของการดูดนมแม่ในอนาคต และปอดของทารกกำลังพัฒนาเพื่อให้ทารกฝึกหายใจในครรภ์

    ในไตรมาสนี้ รังไข่หรืออัณฑะของทารกจะพัฒนาอย่างเต็มที่ ทำให้สามารถอัลตราซาวด์เพื่อดูเพศของทารกได้ ช่วงสัปดาห์ที่ 18 ทารกเพศหญิงจะเริ่มมีการสร้างมดลูกและช่องคลอด ส่วนในทารกเพศชายจะมีการเคลื่อนของอัณฑะจากช่องท้องลงไปที่ถุงอัณฑะเมื่ออายุครรภ์ 20 สัปดาห์ และในช่วงนี้ศีรษะจะเริ่มกลมและได้สัดส่วนสมดุลกับส่วนอื่น ๆ มากขึ้น เริ่มมีผมและเส้นขนบาง ๆ (lanugo) งอกตามอวัยวะส่วนต่าง ๆ ระบบประสาทยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทารกเริ่มขยับแขนขา ควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าได้ เช่น ขมวดคิ้ว ยิ้ม

    ส่วนประสาทการได้ยินเสียงจะเริ่มพัฒนาในช่วงอายุครรภ์ 22-25 สัปดาห์ และจะพัฒนาต่อจนสมบูรณ์เมื่อหลังทารกคลอด 6 เดือน พอเข้าช่วงสัปดาห์ที่ 24 จะเริ่มมีการสร้างสารลดแรงตึงผิว (surfactant) ในปอด แต่ปอดของทารกจะยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่

    และเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 26 ทารกจะลืมตาครั้งแรกและเริ่มเรียนรู้วิธีกะพริบตา อวัยวะภายในร่างกายทุกส่วนเติบโตและทำงานได้สมบูรณ์มากขึ้น ทารกพร้อมออกสู่โลกภายนอก ซึ่งหากทารกคลอดก่อนกำหนดในช่วงนี้มีโอกาสที่จะรอดชีวิตได้

  • ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3
  • ไตรมาสที่ 3 เริ่มนับตั้งแต่สัปดาห์ที่ 28-40 ขนาดตัวของทารกวัดจากหัวถึงส้นเท้าประมาณ 37.6-57.2 เซนติเมตร น้ำหนักของทารกในช่วงสัปดาห์ที่ 28 จะอยู่ที่ประมาณ 1,100 กรัม และน้ำหนักเมื่อครบกำหนดคลอดโดยประมาณคือ 2.9-4 กิโลกรัม

    อัตราการเต้นหัวใจของทารกจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เนื่องจากหัวใจของทารกมีขนาดเล็กมากจึงไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้มากพอ หัวใจจึงเต้นเร็วขึ้นเพื่อเพิ่มการสูบฉีดเลือด ดวงตาของทารกจะพัฒนาต่อไปทั้งขณะอยู่ในครรภ์และภายนอกมดลูก โดยดวงตาของทารกจะเริ่มมองเห็นได้ชัดขึ้นเรื่อย ๆ ขนาดตัวของทารกจะเริ่มใหญ่ขึ้น และอาจเคลื่อนไหวมากขึ้นและแรงขึ้นด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ อวัยวะทุกส่วนทั้งภายในและภายนอกยังพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบด้วย

    เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 37-41 จะเป็นสัปดาห์ที่ทารกพร้อมคลอด โดยตำแหน่งของทารกจะเปลี่ยนไปคือ ศีรษะจะหันเข้าสู่อุ้งเชิงกรานมากขึ้น มดลูกบีบตัวมากขึ้น แต่ทารกยังคงเคลื่อนไหวช้า ๆ เพื่อเตรียมพร้อมคลอด หากทารกในครรภ์ไม่อยู่ในท่าพร้อมคลอดที่เหมาะสม คุณหมออาจพิจารณาให้ผ่าคลอด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสุขภาพของคุณแม่ และการวินิจฉัยของคุณหมอด้วย

    หากตั้งครรภ์เกินสัปดาห์ที่ 42 เป็นต้นไป จะถือว่าตั้งครรภ์เกินกำหนด เมื่อคลอดแล้ว ทารกมักจะมีผิวแดง แห้ง และลอก เนื่องจากร่างกายของทารกสูญเสียเวอร์นิกซ์ (Vernix) ที่ทำหน้าที่เคลือบผิวเพื่อปกป้องและให้ความชุ่มชื้นกับผิวทารก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 16/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา