ลูกไม่ดิ้น หรือดิ้นน้อยลง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ต่าง ๆ เช่น ทารกได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ การพัฒนาการของทารกมีปัญหา ภาวะตายคลอด หรืออาจจะเกิดจากการที่คุณแม่ไม่ทันได้สังเกตการเคลื่อนไหวของลูก หรือลูกน้อยในครรภ์กำลังนอนหลับอยู่ก็ได้เช่นกัน หากคุณแม่สังเกตพบว่าลูกไม่ดิ้น ควรรีบทำการตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อแม่และลูกน้อยในครรภ์
[embed-health-tool-due-date]
ลูกไม่ดิ้น เป็นอันตรายหรือเปล่า
การรับรู้ถึงอาการลูกดิ้นครั้งแรก อาจแตกต่างกันออกไป ตามปกติแล้ว คุณแม่ตั้งครรภ์มักจะสามารถสังเกตอาการลูกดิ้นครั้งแรกได้ เมื่อเข้าสู่ช่วงสัปดาห์ที่ 18-20 ของการตั้งครรภ์ แต่สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ครั้งแรก ก็อาจไม่ทันสังเกตอาการลูกดิ้นจนกว่าจะมีอายุครรภ์ 25 สัปดาห์ขึ้นไป
จำนวนครั้งและความถี่ในการดิ้นของลูกจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 ที่อาจสังเกตพบว่าลูกดิ้นมากถึงวันละประมาณ 30 ครั้ง การดิ้นของลูกเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่าเด็กมีสุขภาพแข็งแรง ดังนั้น คุณหมอจึงมักจะแนะนำให้คุณแม่คอยติดตามนับจำนวนครั้งที่ทารกดิ้น เพื่อสังเกตดูความผิดปกติ
การที่ลูกไม่ดิ้น หรือลูกมีการดิ้นน้อยลง อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติต่อทารก ดังต่อไปนี้
- ความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อของทารก
- ทารกได้รับออกซิเจนหรือสารอาหารไม่เพียงพอ
- น้ำหนักตัวของทารกในครรภ์น้อยเกินไป
- ภาวะตายคลอด (Still birth)
นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ เช่น การใช้ยาแก้ปวด ยากดประสาท การสูบบุหรี่ ก็อาจส่งผลกระทบต่อการดิ้นของลูกได้เช่นกัน คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรเข้ารับการตรวจกับคุณหมอให้เร็วที่สุด หากสังเกตพบว่าลูกมีอาการไม่ดิ้น หรือดิ้นน้อยลง เพื่อสาเหตุที่แน่ชัด
อย่างไรก็ตาม การที่คุณแม่เกิดความเครียด มีสิ่งอื่นมาดึงดูดความสนใจมากเกินไป หรือแผลเป็นภายในช่องท้องและมดลูก ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่ทันสังเกตว่าลูกดิ้น และทำให้เข้าใจว่าลูกไม่ดิ้นได้เช่นกัน
ลูกไม่ดิ้น ทำอย่างไรดี
หากคุณแม่สังเกตพบว่าลูกไม่ดิ้น อาจลองกระตุ้นลูกน้อยในครรภ์ ด้วยวิธี ดังต่อไปนี้
- เปลี่ยนท่านอน โดยนอนตะแคงด้านซ้าย พร้อมกับใช้หมอนหรือผ้านุ่ม ๆ หนุนท้องเอาไว้ อาจช่วยให้คุณแม่รับรู้ถึงการเคลื่อนไหวของลูกได้ง่ายขึ้น
- เปลี่ยนท่าทาง เปลี่ยนเป็นลุกขึ้นยืน หรือเดินเล่น เคลื่อนไหวร่างกายไปมา อาจทำให้ทารกในครรภ์ตื่น และดิ้นได้
- ดื่มน้ำเย็นมาก ๆ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอาจส่งผลให้ลูกพยายามเคลื่อนไหวเพื่อรับมือกับความเย็น
- ใช้เสียงกระตุ้น เช่น เปิดเพลงดัง ๆ ร้องเพลง อาจช่วยให้รู้สึกตัว และมีการตอบสนอง
หากลองทำตามวิธีเหล่านี้แล้วลูกมีการตอบสนอง ก็อาจหมายความว่าไม่มีปัญหาร้ายแรงใด ๆ แต่หากคุณแม่สังเกตพบว่าลูกมีอาการไม่ดิ้น ดิ้นน้อยลง หรือไม่มีการตอบสนองต่อการกระตุ้นเหล่านี้ ควรรีบพบคุณหมอเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอาการอย่างเร่งด่วน โดยคุณหมออาจตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ตรวจอัลตราซาวด์ วัดขนาดตัว ตรวจวัดปริมาณน้ำคร่ำ หากผลออกมาเป็นปกติก็อาจไม่มีปัญหาใด ๆ แต่หากพบความผิดปกติ คุณหมอก็จะได้ทำการรักษาอย่างทันท่วงที