backup og meta

Dehydration คือ ภาวะขาดน้ำ อันตรายที่หญิงตั้งครรภ์ต้องระวัง

Dehydration คือ ภาวะขาดน้ำ อันตรายที่หญิงตั้งครรภ์ต้องระวัง

Dehydration คือ ภาวะขาดน้ำที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงตั้งครรภ์ โดยปกติคุณแม่ควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เพราะน้ำถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ทารกในครรภ์มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง นอกจากนั้น ร่างกายแม่จำเป็นต้องใช้น้ำในการสร้างรกซึ่งทำหน้าที่ส่งสารอาหารและออกซิเจนจากแม่ไปสู่ลูก รวมไปถึงต้องใช้น้ำในการสร้างน้ำคร่ำอีกด้วย หากคุณแม่ตั้งครรภ์ดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อาจต้องประสบกับ Dehydration หรือภาวะขาดน้ำระหว่างตั้งครรภ์ที่เป็นอันตรายทั้งต่อแม่ละลูกในท้องได้

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

เหตุใดคุณแม่ตั้งครรภ์จึงเสี่ยงเกิด Dehydration

Dehydration คือ ภาวะขาดน้ำ หรือการที่ร่างกายมีน้ำหรือของเหลวน้อยกว่าปริมาณที่สูญเสียไป จึงส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติ เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ สาเหตุของภาวะ Dehydration มาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

  • ปริมาณเม็ดเลือดที่เพิ่มขึ้น

หนึ่งในสาเหตุหลักของ Dehydration ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์คือ ขณะตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีการสร้างเม็ดเลือดเพิ่มขึ้นอีกถึง 50% ร่างกายจึงต้องการน้ำมากกว่าปกติ

  • อาการแพ้ท้อง

กว่า 50% ของหญิงตั้งครรภ์ต้องประสบกับอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ปัสสาวะมากกว่าปกติ รวมไปถึงเหงื่อออก ร่างกายจึงสูญเสียน้ำมากขึ้น โดยปกติแล้ว อาการแพ้ท้องนี้จะเกิดขึ้นบ่อยในช่วงไตรมาสแรก และจะค่อย ๆ ลดลงในช่วงไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม หญิงตั้งครรภ์บางรายอาจมีอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง (Hyperemesis gravidarum) ที่นอกจากจะทำให้คลื่นไส้หนัก อาเจียนอย่างรุนแรง และขาดน้ำแล้ว ยังทำให้น้ำหนักตัวลดระหว่างตั้งครรภ์ได้อีกด้วย

  • การสร้างน้ำคร่ำ

ตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์จะเจริญเติบโตอยู่ในถุงน้ำคร่ำ น้ำคร่ำมีหน้าที่ช่วยให้ทารกสามารถเคลื่อนไหว และพัฒนาระบบโครงกระดูกและกล้ามเนื้อได้สะดวก ทั้งยังช่วยปกป้องทารกจากแรงกระแทกต่างๆ ซึ่งการสร้างน้ำคร่ำจำเป็นต้องใช้น้ำ จึงอาจเป็นสาเหตุให้หญิงตั้งครรภ์เกิดภาวะขาดน้ำได้

  • ดื่มน้ำไม่เพียงพอ

โดยปกติแล้ว หญิงตั้งครรภ์ควรดื่มน้ำเปล่าให้ได้อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว หรือบางคนอาจต้องดื่มน้ำอย่างน้อย 12 แก้ว ขึ้นอยู่กับความต้องการของร่างกายแต่ละคน ระบบต่าง ๆ ในร่างกายจึงจะทำงานได้เป็นปกติ หากดื่มน้ำไม่เพียงพอ ก็อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำระหว่างตั้งครรภ์ได้

  • เหงื่อออกมาก

เหงื่อออกหรือขี้ร้อน ถือเป็นอาการปกติของคุณแม่ตั้งครรภ์ แต่บางคนอาจมีเหงื่อออกมาก หรือขี้ร้อนกว่ากว่าปกติ จึงอาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากถึงขั้นขาดน้ำ

  • ท้องเสีย หรือ อุจจาระร่วง

ในช่วงไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์ ว่าที่คุณแม่อาจมีอาการท้องเสียบ่อย ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ประกอบกับอาหารที่กินเข้าไป หากไม่ดื่มน้ำชดเชยให้เพียงพอก็อาจเกิดภาวะขาดน้ำได้

  • สภาพอากาศ

อากาศร้อนและความชื้นทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้น จึงอาจเกิดภาวะขาดน้ำได้ นอกจากนี้การเปิดเครื่องปรับอากาศ ก็อาจทำให้อากาศในห้องแห้งเกินไป จนร่างกายสูญเสียน้ำ หรือความชุ่มชื้นได้เช่นกัน

  • อายุ

อาการขาดน้ำ เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป เนื่องจากร่างกายสามารถกักเก็บน้ำได้น้อยลง ว่าที่คุณแม่ในวัยนี้จึงควรดื่มน้ำเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายชุ่มชื้นอยู่เสมอ

  • การออกกำลังกาย

หากหญิงตั้งครรภ์ชอบออกกำลังกาย ทำกิจกรรม หรือเคลื่อนไหวร่างกายอยู่ตลอดเวลา ก็อาจทำให้เหงื่อออกมาก ร่างกายสูญเสียน้ำไปกับเหงื่อ จนขาดน้ำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่อากาศร้อนมาก ๆ

  • ปัญหาสุขภาพบางประการ

ไข้ หรืออาการตัวร้อน รวมไปถึงปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการเมตาบอลิซึม เช่น ไตวาย เบาหวาน และโรคระบบทางเดินอาหาร อย่าง โรคเซลิแอค (โรคแพ้กลูเตน) หรือโรคโครห์น (Crohn’s disease) ก็สามารถทำให้เกิดภาวะขาดน้ำระหว่างตั้งครรภ์ได้เช่นกัน

สัญญาณและอาการ Dehydration คือ

หากอยู่ในภาวะขาดน้ำระหว่างตั้งครรภ์ ร่างกายจะเริ่มส่งสัญญาณ หรือมีอาการบางอย่าง เช่น กระหายน้ำ ขี้ร้อนกว่าปกติ ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มขึ้น รวมถึงอาการต่างๆ เหล่านี้

  • รู้สึกปากแห้ง คอแห้ง
  • ง่วงนอน
  • ริมฝีปากและผิวหนังแห้ง
  • ไม่ค่อยปวดปัสสาวะ หรือปัสสาวะออกน้อย
  • ปวดศีรษะ
  • ท้องผูก หรืออุจจาระเป็นก้อนแข็ง
  • วิงเวียนศีรษะ
  • มีการหดรัดตัวของมดลูก หรือเจ็บครรภ์หลอก (Braxton Hicks contractions)

อาการข้างต้นสามารถบรรเทาได้ด้วยการดื่มน้ำให้มาก ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ แต่หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการดังต่อไปนี้ ถือว่าอยู่ในภาวะขาดน้ำขั้นรุนแรง ควรรีบไปพบคุณหมอทันที

  • กระหายน้ำอย่างหนัก
  • ปาก ผิวหนัง และโพรงจมูกแห้งผาก
  • หงุดหงิดฉุนเฉียว และสับสนมึนงง
  • ไม่ปัสสาวะ หรือปัสสาวะน้อยมาก
  • ปัสสาวะมีสีเข้มมาก
  • ตาโหล
  • หัวใจเต้นรัว และหายใจถี่
  • ความดันโลหิตต่ำ

อันตรายจากภาวะ Dehydration ระหว่างตั้งครรภ์

อันตรายจากภาวะ Dehydration สามารถส่งผลกระทบร้ายแรงต่อคุณแม่และทารกได้ทั้งระหว่างอยู่ในครรภ์และหลังคลอด ดังนี้

ผลกระทบต่อทารก

  • ทำให้มีภาวะหลอดประสาทไม่ปิด (Neural tube defect / NTDs)
  • เด็กคลอดก่อนกำหนด
  • เด็กพิการแต่กำเนิด

ผลกระทบต่อคุณแม่

  • ทำให้ผลิตน้ำคร่ำได้น้อย
  • แพ้ท้องรุนแรงขึ้น
  • ทำให้เป็นตะคริวและอ่อนเพลียง่าย
  • ผลิตน้ำนมได้น้อย
  • ทำให้เป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

Dehydration ป้องกันได้อย่างไรบ้าง

ภาวะขาดน้ำ สามารถป้องกันได้ อาจปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย สังเกตได้จากปัสสาวะออกมาเป็นน้ำใส ๆ หรือมีสีเหลืองอ่อน ๆ โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมนอกบ้านบ่อย ๆ ทำให้เสียเหงื่อมากขึ้น
  • งดอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ น้ำอัดลม ชอกโกแลต ไอศกรีม หรือหากงดไม่ได้ หลังรับประทานอาหารควรดื่มน้ำตามให้มาก ๆ เพราะอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำระหว่างตั้งครรภ์ได้
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายร้อนเกินไป เช่น การเคลื่อนไหวร่างกายหรือทำกิจกรรมในอากาศร้อน การออกกำลังกายอย่างหนัก เพราะถึงแม้การขยับร่างกายจะดีต่อว่าที่คุณแม่ แต่หากมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้เช่นกัน

เมื่อใดที่ควรไปหาคุณหมอ

หญิงตั้งครรภ์อาจไม่แน่ใจว่า ตัวเองเป็น Dehydration ภาวะขาดน้ำรุนแรงแค่ไหน แต่หากดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มเกลือแร่แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วยควรรีบไปโรงพยาบาลทันที

  • รู้สึกว่ารูปแบบการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์เปลี่ยนไป
  • มีเลือดหรือของเหลวไหลออกมาจากช่องคลอด
  • มดลูกหดรัดตัว ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด
  • เคยตรวจพบว่ามีปัญหาสุขภาพร้ายแรง เช่น ไตวาย
  • อาเจียน หรือท้องเสียนานเกิน 12 ชั่วโมง
  • เหงื่อไม่ออกทั้งที่ดื่มน้ำเป็นประจำ
  • ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ปัสสาวะเลย
  • เป็นลมหมดสติ มีอาการชัก หรือมึนงง

Dehydration คือ ภาวะขาดน้ำ ซึ่งระหว่างตั้งครรภ์หากเกิดภาวะนี้สามารถรักษาได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ และสภาพร่างกายผู้ป่วย เช่น การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ การให้อิเล็กโทรไลต์ (electrolyte) หรือเกลือแร่ เช่น โซเดียม แมกนีเซียม ที่ช่วยให้ร่างกายดูดซืมของเหลวได้ดีขึ้น หากมีภาวะขาดน้ำระหว่างตั้งครรภ์ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อรอดูอาการด้วย

 

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Can dehydration affect pregnancy. https://www.medicalnewstoday.com/articles/322230.php. Accessed June 19, 2022.

What to Know About Staying Hydrated While Pregnant and Breastfeeding. https://www.webmd.com/baby/what-to-know-staying-hydrated-while-pregnant-breastfeeding. Accessed June 19, 2022.

12 Signs Of Dehydration During Pregnancy And Ways To Avoid It.

https://www.momjunction.com/articles/serious-signs-symptoms-of-dehydration-during-pregnancy_0087995/#gref. Accessed June 19, 2022.

Dehydration During Pregnancy. https://americanpregnancy.org/womens-health/dehydration-pregnancy/. Accessed June 19, 2022.

Pregnancy & Dehydration. https://www.gardenobgyn.com/blog/pregnancy-dehydration. Accessed October 22, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

19/06/2022

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

หญิงตั้งครรภ์ควรเลี่ยง อาหารและเครื่องดื่มประเภทใดบ้าง

ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 19/06/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา