Ectopic Pregnancy คือ การตั้งครรภ์นอกมดลูก เป็นภาวะร้ายแรงที่เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์ โดยเกิดขึ้นเมื่อไข่ปฏิสนธิและฝังตัวบริเวณอื่นนอกมดลูก เช่น ท่อนำไข่ รังไข่ ช่องท้อง ซึ่งภาวะนี้อาจทำให้คุณแม่มีเลือดออกมาก และยังเป็นภาวะที่สามารถคุกคามชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาในกรณีฉุกเฉินอย่างเร่งด่วน
[embed-health-tool-due-date]
Ectopic Pregnancy คือ อะไร
Ectopic Pregnancy หรือ การตั้งครรภ์นอกมดลูก เป็นการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไข่ที่ปฏิสนธิฝังตัวในตำแหน่งที่ไม่สามารถรองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณท่อนำไข่ และอาจเกิดขึ้นในบริเวณอื่น ๆ เช่น รังไข่ ช่องท้อง ส่งผลให้การตั้งครรภ์ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ เนื่องจากในบริเวณดังกล่าวไม่ได้มีหน้าที่รองรับการเจริญเติบโตของทารกเหมือนกับมดลูก หากปล่อยไว้อาจทำให้ท่อนำไข่แตก มีเลือดออกรุนแรง ติดเชื้อ และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
อาการของ Ectopic Pregnancy
หากมีอาการต่อไปนี้ควรเข้าพบคุณหมอ เพราะอาจเป็นสัญญาณของการท้องนอกมดลูก
- เลือดออกทางช่องคลอด
- ปวดช่องท้องส่วนล่าง กระดูกเชิงกรานและหลังส่วนล่าง
- วิงเวียนศีรษะและอ่อนแรง
- เจ็บปวดท้องมากอย่างกะทันหัน และเลือดออกรุนแรงหากท่อนำไข่แตก
- ความดันโลหิตต่ำ เป็นลม
- ปวดไหล่
- มีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้หรือมีความดันมากทางทวารหนัก
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด Ectopic Pregnancy
ปัจจัยที่อาจทำให้เกิดภาวะท้องนอกมดลูก มีดังนี้
- เคยมีประวัติท้องนอกมดลูกมาก่อน อาจมีแนวโน้มที่การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปจะท้องนอกมดลูกอีกครั้ง
- การอักเสบหรือการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ อาจทำให้เกิดการอักเสบในช่องคลอดหรืออวัยวะใกล้เคียง ทำให้เกิดพังผืดที่อาจเพิ่มความเสี่ยงท้องนอกมดลูก
- การรักษาภาวะมีบุตรยาก เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว อาจมีแนวโน้มที่จะตั้งครรภ์นอกมดลูก
- การผ่าตัดท่อนำไข่ อาจทำให้เกิดความผิดปกติหรือการอักเสบของท่อนำไข่ ที่ส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก
- วิธีการคุมกำเนิด เช่น การใช้ห่วงอนามัย การผูกท่อนำไข่ ก็อาจมีแนวโน้มที่จะเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
- การสูบบุหรี่ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายในทุกส่วน เช่น ความดันโลหิต การหดตัวของหลอดเลือด ซึ่งอาจมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ง่ายขึ้น
วิธีป้องกัน Ectopic Pregnancy
ไม่มีวิธีป้องกันการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้อย่างถาวร แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพอาจช่วยลดความเสี่ยงได้ ดังนี้
- ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนหลายคน เพราะอาจมีความเสี่ยงในการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้มากขึ้น
- ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะหากมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน ซิฟิลิส เริม
- งดการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะหากวางแผนตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากสารเคมีในบุหรี่ ที่อาจทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมและอักเสบ ซึ่งอาจส่งผลเกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์นอกมดลูก
- เข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งอาจช่วยตรวจความพร้อมของร่างกาย มดลูก ช่องคลอด โรคเรื้อรัง และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ ยังอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูก รวมทั้งปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์