backup og meta

การตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้อย่างไร และวิธีป้องกันการตั้งครรภ์หากไม่พร้อมมีบุตร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 04/03/2023

    การตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้อย่างไร และวิธีป้องกันการตั้งครรภ์หากไม่พร้อมมีบุตร

    หลายคนอาจสงสัยว่า การตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งที่หลั่งนอกหรือป้องกันด้วยการสวมถุงยางในระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งการตั้งครรภ์นั้นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ หากยังไม่พร้อมมีบุตรจึงควรศึกษาการป้องกันการตั้งครรภ์ให้ถูกวิธีหรือขอคำปรึกษาจากคุณหมอเพื่อเลือกวิธีการคุมกำเนิดได้อย่างเหมาะสม

    การตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้อย่างไร

    การตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นต่อเมื่อร่างกายของผู้หญิงผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เพื่อกระตุ้นการปล่อยไข่และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้นเพื่อเตรียมให้ตัวอ่อนฝังตัว ซึ่งกระบวนการตกไข่นี้จะเกิดขึ้นทุกรอบเดือน ประมาณ 28-35 วัน เดือนละ 1 ครั้ง โดยเริ่มนับวันแรกที่มีประจำเดือนมา และปล่อยไข่ไปยังท่อนำไข่เพื่อรอการปฏิสนธิกับอสุจิ 

    สำหรับผู้ชายภายในอัณฑะจะมีท่อเซมินิเฟอรัส (Seminiferous tubule) ที่มีหน้าที่สำคัญในการสร้างอสุจิ เมื่อผู้ชายมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงที่ทำให้ไปถึงจุดสุดยอดจึงอาจเกิดการหลั่งอสุจิออกมาผ่านทางท่อนำส่งที่อยู่ภายในอวัยวะเพศหลังอัณฑะของแต่ละข้างเข้าสู่หลอดนำอสุจิไปยังท่อปัสสาวะและเข้าสู่ช่องคลอดเพื่อปฏิสนธิกับไข่ของผู้หญิง

    เมื่ออสุจิและไข่เกิดการปฏิสนธิขึ้นจึงเริ่มพัฒนากลายเป็นตัวอ่อนที่จะเข้าไปฝังตัวในโพรงมดลูกผู้หญิงภายใน 6-10 วันหลังจากปฏิสนธิและก่อให้เกิดการตั้งครรภ์ซึ่งอาจรู้ผลชัดเจนประมาณ 14 วัน หลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันที่มีการหลั่งใน

    จะรู้ได้อย่างไรว่าตั้งครรภ์

    หลังจากมีเพศสัมพันธ์แบบไม่สวมถุงยางอนามัยหรือมีการหลั่งใน หากสังเกตว่าประจำเดือนไม่มานานกว่า 1 เดือน เต้านมคัด เต้านมขยาย มีเลือดออกจากช่องคลอดเล็กน้อยที่เกิดจากการฝังตัวของตัวอ่อนในมดลูก เหนื่อยล้าง่าย อารมณ์แปรปรวนและรู้สึกแพ้ท้อง ควรตรวจครรภ์ด้วยที่ตรวจครรภ์ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปหรือเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจครรภ์โดยตรง 

    วิธีป้องกันการตั้งครรภ์หากไม่พร้อมมีบุตร

    วิธีป้องกันการตั้งครรภ์หากไม่พร้อมมีบุตร อาจทำได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่ โดยใช้วิธีอื่นแทน เช่น การช่วยตัวเอง การใช้เซ็กส์ทอย หรือการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก เพื่อลดความเสี่ยงการหลั่งในช่องคลอดที่นำไปสู่การตั้งครรภ์
  • ถุงยางอนามัย เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ใช้งานง่ายและสะดวก ที่มีในรูปแบบทั้งผู้ชายและผู้มีหญิงโดยควรเลือกขนาดให้เหมาะสมและศึกษาวิธีใช้ให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันถุงยางแตก ถุงยางรั่ว ถุงยางหลุดที่ทำให้อสุจิเข้าไปในช่องคลอดนำไปสู่การตั้งครรภ์ได้
  • ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน หรือมีเพียงฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียว ซึ่งมีทั้งรูปแบบ 21 เม็ด หรือ 28 เม็ด และยาคุมฉุกเฉินแบบ 1-2 เม็ด ใช้เพื่อช่วยสร้างเมือกบริเวณปากมดลูกให้หนาขึ้นทำให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่ได้ยาก หรือทำให้ผนังมดลูกบางลงจนตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวในผนังมดลูกได้ โดยควรศึกษาวิธีรับประทานอย่างถูกต้อง
  • ยาคุมกำเนิดแบบฉีด คือการฉีดฮอร์โมนโปรเจสตินบริเวณก้น เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างเมือกบริเวณปากมดลูกให้หนาขึ้น ทำให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่ได้ยาก ที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการตั้งครรภ์และจำเป็นต้องกลับมาฉีดซ้ำทุก ๆ 3 เดือน หรือก่อนยาจะหมดฤทธิ์ นอกจากนี้ ในปัจจุบันมียาคุมกำเนิดแบบฉีดทุกเดือนซึ่งประกอบไปด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินซึ่งมีข้อดีคือทำให้ประจำเดือนมาปกติคล้ายกับกินยาคุมกำเนิด
  • แผ่นแปะคุมกำเนิด คือแผ่นที่ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน โดยจะปล่อยฮอร์โมนผ่านทางผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ มักใช้แปะบริเวณหน้าท้อง หลังแขน ก้น และควรเปลี่ยนแผ่นใหม่ทุกสัปดาห์และยกเว้นการแปะในช่วงสัปดาห์ที่ 4 เพื่อให้ประจำเดือนมาตามปกติ
  • ฝังยาคุม เป็นการฝังแท่งพลาสติกทขนาดเล็กที่ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินไว้ใต้ผิวหนังบริเวณแขน เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างเมือกปากมดลูกให้หนาขึ้นและป้องกันการตั้งครรภ์ อีกทั้งยังจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่เมื่อครบกำหนดการใช้งาน เพื่อให้คุมกำเนิดอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
  • ห่วงอนามัยคุมกำเนิด มีลักษณะเป็นพลาสติกหรือทองแดงรูปตัว T ซึ่งมีทั้งแบบที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินและไม่มีฮอร์โมน โดยใส่เข้าไปบริเวณปากมดลูกเพื่อช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจมีประสิทธิภาพการคุมกำเนิดได้นานกว่า 3-5 ปี ขึ้นกับชนิดของห่วงคุมกำเนิดนั้น ๆ และจำเป็นต้องถอดเปลี่ยนใหม่โดยคุณหมอเท่านั้นตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อลดการติดเชื้อ
  • วงแหวนคุมกำเนิด มีลักษณะเป็นวงแหวนพลาสติกขนาดเล็กที่ประกอบไปด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน ใช้สอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อปล่อยฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือดที่ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ โดยควรใส่เป็นเวลา 3 สัปดาห์ และถอดออกในสัปดาห์ที่ 4 เพื่อให้ประจำเดือนมาตามปกติ
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 04/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา