backup og meta

Hyperemesis gravidarum คือ อาการแพ้ท้องรุนแรง สามารถรักษาได้อย่างไร

Hyperemesis gravidarum คือ อาการแพ้ท้องรุนแรง สามารถรักษาได้อย่างไร

Hyperemesis gravidarum คือ ภาวะแพ้ท้องรุนแรง พบมากในหญิงตั้งครรภ์ระยะแรก สาเหตุของภาวะนี้ยังไม่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย หรือการเข้าใกล้สิ่งกระตุ้นบางอย่างที่ทำให้แพ้ท้อง โดยทั่วไป อาจรักษาด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร รวมไปถึงการใช้ยาแก้อาเจียน ยาลดกรด เป็นต้น แต่หากดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ทุเลาและกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

Hyperemesis gravidarum คือ อะไร

โดยปกติแล้ว หญิงตั้งครรภ์ในระยะแรกมักมีอาการแพ้ท้องที่อาจเกิดจากระดับฮอร์โมนเอชซีจีหรือฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (hCG หรือ Human Chorionic Gonadotropin) ในร่างกายเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วยให้ร่างกายปรับตัวเข้าสู่ภาวะตั้งครรภ์ได้ การเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลให้รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ไม่สบายตัวบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์

แต่หญิงตั้งครรภ์ระยะแรกบางรายอาจมีอาการแพ้ท้องรุนแรงและถี่กว่าปกติ เรียกว่า Hyperemesis gravidarum มักเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 9-13 ของการตั้งครรภ์ ภาวะนี้มักไม่ทุเลาเมื่อเวลาผ่านไปสักพักเหมือนอาการแพ้ท้องทั่วไป ทั้งยังอาจทำให้หญิงตั้งครรภ์ไม่สามารถรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มได้ตามปกติ จนเสี่ยงเกิดภาวะขาดสารอาหารและขาดน้ำที่อาจส่งผลให้ปัสสาวะออกน้อยและมีสีเข้ม ผิวแห้ง อ่อนแรง หน้ามืด เป็นลม หรือรุนแรงจนถึงขั้นช็อคหรืออาเจียนเป็นเลือดได้

อาการ Hyperemesis gravidarum เป็นอย่างไร

อาการของ Hyperemesis gravidarum อาจมีดังนี้

  • คลื่นไส้รุนแรง
  • อาเจียนหนัก
  • อาเจียนบ่อย หรืออาเจียนรุนแรงมีเลือดปน โดยมักจะเป็นมากในช่วงเช้าของวัน และหากอาการคลื่นไส้อาเจียนยังดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ อาจจะทำให้ส่งผลต่อเนื่องตามมา ได้แก่
    • ปวดศีรษะ
    • สับสน มึนงง
    • หมดสติหรือเป็นลม
    • น้ำหนักลดลงกว่า 5% หรือลดลงมากกว่าช่วงก่อนตั้งครรภ์
    • ถ่ายปัสสาวะน้อยลง
    • มีภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ผิวแห้ง
    • มีภาวะตัวเหลือง (Jaundice)
    • อ่อนเพลียรุนแรง
    • หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น
    • ความดันโลหิตต่ำ

วิธีรักษา Hyperemesis gravidarum

การรักษาอาการแพ้ท้องรุนแรง อาจทำได้ดังนี้

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร

  • รับประทานอาหารที่ย่อยได้ง่าย เช่น โจ๊กหมู ซุปมะเขือเทศ ปลากะพงนึ่งมะนาว มันฝรั่งต้ม กล้วยสุก น้ำเต้าหู้
  • รับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อ แทนการรับประทานมื้อใหญ่ทีเดียว
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ท้อง หากรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น ข้าวเหนียว กะทิ มะพร้าว แล้วอาการกำเริบหรือแย่ลง อาจเปลี่ยนไปรับประทานอาหารฤทธิ์เย็นแทน เช่น ข้าวยำธัญพืช แตงโม เมลอน แก้วมังกร น้ำใบเตยหอม
  • จิบน้ำบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำในแต่ละครั้งในปริมาณมากเกินไป

การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอาการแพ้ท้อง

การสัมผัส รับประทาน หรือเข้าใกล้สิ่งของบางอย่าง อาจกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ท้องรุนแรงและต่อเนื่องได้ จึงควรสังเกตว่าสิ่งของใดหรือพฤติกรรมใดที่ทำให้เกิดอาการ แล้วพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น ตัวอย่างสิ่งกระตุ้นอาการแพ้ท้อง เช่น

  • เสียงรบกวนบางอย่าง เช่น เสียงโทรทัศน์ เสียงวิทยุ
  • แสงสว่างหรือไฟกะพริบ
  • ยาสีฟัน
  • กลิ่น เช่น น้ำหอม ผลิตภัณฑ์อาบน้ำ
  • การสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป
  • การโดยสารรถสาธารณะ หรือนั่งรถนาน ๆ

การรักษาทางการแพทย์

  • การรับวิตามินเสริม เช่น
    • ไพริดอกซีน (Pyridoxine) หรือวิตามินบี 6 เพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน โดยรับประมาณครั้งละ 10-25 มิลลิกรัม อย่างน้อย 3 ครั้ง/วัน หากใช้เกินกว่านี้อาจทำให้เส้นประสาทเสียหายชั่วคราวได้
    • ไทอามีน (Thiamine) หรือวิตามินบี 1 เพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียนต่อเนื่อง และปวดท้อง โดยรับประทานในปริมาณ 1.5 มิลลิกรัม/วัน
  • ยาแก้อาเจียน ในรูปแบบเม็ด ยาเหน็บ หรือทางหลอดเลือดดำ
  • ยาลดกรด (Antacids) เพื่อช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนที่ทำให้อาการคลื่นไส้อาเจียนแย่ลง
  • การให้สารน้ำทดแทนทางหลอดเลือดดำ (IV fluid) ร่วมกับการแก้ไขภาวะเกลือแร่ในเลือดต่ำจากการอาเจียนเป็นปริมาณมาก
  • การให้อาหารทางสายยาง (Tube feeding) หากอาเจียนหนักจนไม่สามารถรับประทานอาหารได้ คุณหมออาจให้อาหารทางสายยางผ่านจมูกเพื่อให้ได้รับสารอาหารเพียงพอและป้องกันภาวะขาดสารอาหาร

การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ

  • การพักผ่อนบนเตียง (Bed rest) เป็นการใช้เวลาพักผ่อนบนเตียงเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้กระทบกระเทือนสุขภาพของทารกในครรภ์น้อยที่สุด แต่ก็ควรขยับตัวบ้าง และระวังการกดทับหรือน้ำหนักลดเนื่องจากการอยู่นิ่ง ๆ เป็นเวลานาน
  • การกดจุด (Acupressure) การใช้นิ้วโป้งกดบริเวณกลางข้อมือ ระหว่างเส้นเอ็นทั้ง 2 เส้น ห่างจากรอยพับของข้อมือประมาณ 3 นิ้ว ค้างไว้ประมาณ 3 นาที ที่ข้อมือทั้ง 2 ข้าง อาจช่วยลดอาการคลื่นไส้ได้ โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ Clinical Evidence เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 ศึกษาเกี่ยวกับอาการคลื่นไส้และอาเจียนในหญิงตั้งครรภ์ระยะแรก จากการรวบรวมและทบทวนงานวิจัยจำนวน 32 ชิ้น พบว่า การกดจุดอาจมีประสิทธิภาพในการลดอาการคลื่นไส้และอาเจียน ทั้งนี้ ยังต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นนี้เพิ่มเติมต่อไป

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

หากดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วภาวะแพ้ท้องรุนแรงหรือ Hyperemesis gravidarum ยังไม่ทุเลา และมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

  • มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น ปัสสาวะสีเข้ม ผิวแห้งกร้าน
  • มีอาการของภาวะขาดสารอาหาร เช่น อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลง
  • วิงเวียนศีรษะ
  • อาเจียนออกมาแล้วมีเลือดปน
  • ปวดท้อง
  • น้ำหนักลดมากกว่า 5%ของน้ำหนักตัวเดิม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Hyperemesis gravidarum. https://medlineplus.gov/ency/article/001499.htm. Accessed November 3, 2022

Hyperemesis Gravidarum. https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/pregnancy-complications/hyperemesis-gravidarum/. Accessed November 3, 2022

Morning Sickness. https://www.webmd.com/guide/morning-sickness-pregnant. Accessed November 3, 2022

What Is Hyperemesis Gravidarum?. https://www.webmd.com/baby/what-is-hyperemesis-gravidarum. Accessed November 3, 2022

Severe vomiting in pregnancy. https://www.nhs.uk/pregnancy/related-conditions/complications/severe-vomiting/. Accessed November 3, 2022

Nausea and vomiting in early pregnancy. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3959188/#BMJ_1405_I2.Accessed November 3, 2022

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/01/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีแก้อาการแพ้ท้อง มีอะไรบ้าง

อาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง รับมืออย่างไรดี


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 01/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา